ตลาดหุ้นไทยขาลงในไตรมาส 3/2551 … อาจบ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ในปัจจุบัน สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นโลกต่างได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (วิกฤตซับไพร์ม) ที่เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2550 และได้ลุกลามไปสู่สถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ Bear Stearns, Merrill Lynch, AIG, และ Lehman Brothers รวมถึง Fannie Mae และ Freddie Mac ที่ต่างประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง และมีเงินทุนไม่พอจนบางแห่งต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือต้องหาผู้ร่วมทุน หรือขอรับความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ได้สร้างความกังวลในภาคการเงินทั่วโลก และกระตุ้นให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ตลอดจนกดดันให้สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาทางการเงินต้องเร่งระบายทรัพย์สินในตลาดอื่นๆ เพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ทั้งหมดนี้นำมาสู่การเทขายหุ้นอย่างหนักในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 25 ก.ย. 2551 ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ทรุดตัวลงแล้วกว่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับระดับปิดที่ 13,264.82 จุด ณ.สิ้นปี 2550 และส่งผลกระทบต่อไปยังตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ ดัชนี NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงร้อยละ 21.5 ดัชนี HSKI ของตลาดหุ้นฮ่องกงก็ปรับลดลงกว่าร้อยละ 31 เช่นเดียวกับดัชนี SET ของไทยที่ร่วงลงกว่าร้อยละ 27 จากสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมา ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1-25 กันยายน 2551 นักลงทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิในหุ้นไทยไปแล้วกว่า 25,303.02 ล้านบาท ในเดือนนี้เพียงเดือนเดียว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของดัชนีหุ้นไทย แนวโน้ม ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องมายังการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยสรุปดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นในต่างประเทศค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากค่าความสัมพันธ์ทางสถิติ (Correlation) ของการเคลื่อนไหวระหว่างดัชนี SET กับดัชนีตลาดหุ้นในต่างประเทศในช่วงวันที่ 2 ม.ค. 2541 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2551 มีเครื่องหมายเป็นบวกและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนไหวระหว่างดัชนีหุ้นไทยกับดัชนีหุ้นในต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันค่อนข้างมาก โดยดัชนี SET มีความสัมพันธ์กับดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงสูงถึงร้อยละ 78 กับดัชนีตลาดหุ้นสิงคโปร์ร้อยละ 69 และกับดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร้อยละ 65 ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นในตลาดต่างประเทศย่อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปรับตัวของดัชนีหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในช่วงขาลงอาจทำให้ดัชนี SET มีแนวโน้มยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยแม้ว่า ล่าสุดสภาคองเกรสกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการให้ความช่วยเหลือภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการรับซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ รวมไปถึงการที่วาณิชธนกิจอันดับหนึ่งอย่างบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ได้รับเงินสนับสนุนแผนเพิ่มทุนมูลค่าราว 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจากนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งนับเป็นข่าวในเชิงบวกสำหรับตลาดการเงิน แต่นักลงทุนก็ยังคงมีความกังวลว่าแผนการกอบกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของทางการดังกล่าว (หากได้รับการอนุมัติ) จะมีผลสัมฤทธิ์ในการเยียวยาปัญหาครอบคลุมทั้งภาคการเงินของสหรัฐฯ ได้มากน้อยเพียงไร โดยคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนกว่าที่ปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ จะถึงจุดต่ำสุด และเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ผลพวงของปัญหาในภาคการเงินยังอาจทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นอย่างน้อยด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าแผนการให้ความช่วยเหลือ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะผ่านสภาคองเกรส แต่ปัญหาความปั่นป่วนของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงยืดเยื้อ นอกจากจะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้วก็ย่อมจะส่งผลกระทบลุกลามไปสู่ภาวะตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงตลาดการเงินและตลาดหุ้นของไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากการขายทรัพย์สินเพื่อที่จะบรรเทาภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดการเงินสหรัฐฯ ตลอดจนการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ตามแผนการช่วยเหลือดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ค่าความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมายังไม่ถึงระดับร้อยละ 100 แม้จะค่อนข้างสูง นั่นก็หมายความว่ายังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้น อาทิ ปัจจัยพื้นฐานของประเทศ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ อาจยังมีแนวโน้มผันผวนต่อไปอีกระยะ แต่ดัชนี SET ก็ยังมีโอกาสจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้าหากนักลงทุนมองว่าปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังคงมีความน่าดึงดูดให้เข้ามาลงทุน รวมทั้งหากปัญหาการเมืองในประเทศสามารถจะคลี่คลายได้ เพราะราคาหุ้นของไทยก็นับว่ายังมีระดับที่ค่อนข้างถูก และอัตราผลตอบแทนก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ดัชนี SET เป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) การขยายตัวของจีดีพีประมาณ 2 ไตรมาส ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสามารถในการคาดการณ์เศรษฐกิจของดัชนี SET ตามวิธีทางเศรษฐมิติ (Granger Causality Test) จากข้อมูลในอดีต (ในช่วงไตรมาส 1/2541- ไตรมาส 2/2551) แล้วพบว่า ดัชนี SET มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของจีดีพีในระยะ 2 ไตรมาสข้างหน้าที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 แต่การขยายตัวของจีดีพีไม่มีอิทธิพลต่อดัชนี SET เลยไม่ว่าเวลาจะห่างออกไปกี่ไตรมาสก็ตาม ซึ่งผลการศึกษานี้ อาจบ่งชี้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มักมีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับข่าวหรือตัวแปรต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อภาวะเศรษฐกิจไปล่วงหน้า ในขณะที่บรรยากาศหรือความเชื่อมั่นที่สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นอาจนำมาสู่การใช้จ่าย และการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากนั้นระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าความสามารถของดัชนี SET ในการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจบางไตรมาสอยู่ในภาวะชะลอตัวและดัชนี SET อยู่ในภาวะหมี (ไตรมาส 1/2541-ไตรมาส 4/2546) โดยดัชนี SET สามารถชี้นำเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ระดับความเชื่อมั่นประมาณร้อยละ 90 และดัชนี SET มีอิทธิพลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในระยะ 2 ไตรมาสถัดไปที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95

การร่วงลงของดัชนี SET ในไตรมาส 3/2551 และแนวโน้มที่ยังไม่แน่นอน อาจชี้ถึงความเสี่ยงที่จีดีพีจะชะลอตัวจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนำมาผนวกเข้ากับการที่ในไตรมาส 3/2551 ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงจนเข้าสู่ภาวะหมีตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และอาจยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนในไตรมาส 4 ของปีนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ นั่นหมายความว่าจีดีพีของไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าไปจนถึงประมาณช่วงไตรมาสแรกของปี 2552

อีกทั้ง เมื่อพิจารณาแนวโน้มภาพรวมปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากการคาดการณ์ของ IMF ล่าสุดในเดือน ส.ค. 2551 ระบุว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจขยายตัวร้อยละ 3.9 และชะลอลงในปี 2552 มาที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกันจากร้อยละ 1.3 ในปี 2551 เหลือเพียงร้อยละ 0.7 ในปีถัดไป โดยการชะลอตัวของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดังกล่าว อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้แล้ว ปัญหาทางการเมืองในประเทศหากยืดเยื้อก็ยังเป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย และการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ ภาพรวมปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวได้บ่งชี้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันกับข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยข้างต้นว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2-4.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ รวมทั้งอาจจะชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2551 นี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยหากในระหว่างนี้ ปัจจัยลบต่างๆ มีทิศทางการปรับตัวไปในเชิงที่เป็นบวกมากขึ้น หรือมีข่าวดีออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาทิ แผนการกอบกู้วิกฤตทางการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถมีประสิทธิภาพในการยับยั้งความเสียหายในภาคการเงินสหรัฐฯ และลดความจำเป็นของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในการเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยได้บ้าง ประกอบกับหากสถานการณ์การเมืองในประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว รวมทั้งหากรัฐบาลสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มกลับมาสดใส และในท้ายที่สุดย่อมมีส่วนช่วยลดหรือบรรเทาระดับของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ลงไปได้ไม่มากก็น้อย