เคทีซีปลื้มโครงการช่วยเด็กหญิงบ้านธัญญพรได้ผล ประกาศเดินหน้าสร้างงานสร้างอาชีพสู่ฝันน้องอย่างยั่งยืน

เคทีซี จัดกิจกรรมฉลองความสำเร็จก้าวแรกของโครงการ “สานฝันปันรักเพื่อน้องบ้าน ธัญญพร” จับมือมูลนิธิรักษ์ไทย เดินหน้าต่อโครงการฝึกทักษะวิชาชีพเบื้องต้น เพื่อลดช่องว่างทางสังคม ด้วยการสร้างงานสร้างโอกาสให้เด็กๆ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว ขยายผลต่อจากการดูแลและมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสติปัญญา และปรับปรุงอาคารภูมิทัศน์

นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การจัดกิจกรรม “บ้านเรา บ้านธัญญพร” ครั้งนี้ ถือเป็นการฉลองความสำเร็จก้าวแรกของการจัดโครงการ “สานฝันปันรักเพื่อน้องบ้านธัญญพร” ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยเหลือเด็กหญิงที่ถูกทารุณกรรม และประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตอย่างเร่งด่วน โดยเคทีซีได้จัดสรรงบกว่า 7.5 ล้านบาท และประสานงานให้มูลนิธิรักษ์ไทย เข้ามาช่วยบริหารจัดการและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ โดยมุ่งผลักดันให้เด็กหญิงบ้านธัญญพรมีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพจิตใจที่ดีขึ้น รวมทั้งสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาเราได้เข้าไปช่วยปรับปรุงซ่อมแซมอาคารและอาณาบริเวณทั้งภายในและภายนอกของบ้านธัญญพร ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งจัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ จิตใจ ตลอดจนให้ความรู้ความบันเทิง ซึ่งสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจ และสามารถลดความตึงเครียดของเด็กๆ ลงได้จนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ”

“สำหรับนโยบายการดำเนินโครงการ “สานฝันปันรักเพื่อน้องบ้านธัญญพร” ในปี 2552 จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ เป็นสำคัญ เพราะจากการได้เข้าไปทำความคุ้นเคยและคลุกคลีกับเด็กๆ ในบ้านธัญญพรตลอด 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า น้องๆ ส่วนใหญ่มีศักยภาพและมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว แต่อาจจะขาดโอกาสและการสนับสนุน เราจึงต้องการส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพเบื้องต้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้เด็กๆ ค้นพบและตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง ตลอดจนสามารถดำรงชีวิตและสามารถสร้างรายได้ ด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นการช่วยผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีความรู้ด้านวิชาชีพป้อนกลับสู่สังคมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้จะสานต่อภารกิจที่ค้างอยู่ให้เสร็จสมบูรณ์ ได้แก่ การปรับปรุงทัศนียภาพนอกบ้านให้สวยงาม เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้เด็กๆ ในบ้านธัญญพร คลายความ ตึงเครียดจากเรื่องราวความทรงจำที่เคยถูกทำร้ายในอดีต และอยู่อาศัยในบ้านหลังใหม่นี้อย่างมีความสุข”

นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพรได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ตามแผนงานที่มูลนิธิรักษ์ไทยและเคทีซีเข้ามาร่วมวางแนวทางดำเนินความช่วยเหลือเด็กๆ ในบ้านแห่งนี้ โดยเราได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านสันทนาการและแทรกเสริมความรู้ด้านวิชาการที่ไม่เครียดจนเกินไป แต่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ บ้านธัญญพรสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษา อีกทั้งจัดกิจกรรมด้านการเกษตรให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิทัศน์ภายในบ้านธัญญพรให้ร่มรื่น รวมทั้งสามารถนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

“จากการจัดกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในรูปแบบต่างๆ ทำให้เราได้เห็นพรสวรรค์และความสามารถของเด็กหญิงบ้านธัญญพรในหลายด้าน ทั้งการวาดภาพศิลปะ การเพ้นท์เล็บ การร้องเพลง เล่นดนตรี จึงเป็นที่มาของการสานต่อเจตนารมย์ในการสร้างความทัดเทียมคืนแก่เด็กน้อยผู้ด้อยโอกาส โดยแผนการจัดกิจกรรมในปี 2552 จะเน้นไปที่การพัฒนาทักษะอาชีพเบื้องต้น โดยจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาอบรมเป็นพิเศษ อาทิ การเพ้นท์เล็บ การตัดเล็บ ทำผม ทำอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาทักษะเฉพาะตัว เช่น การร้องเพลง เล่นดนตรี การวาดภาพศิลปะ และการประดิษฐ์สิ่งของสวยงาม พร้อมทั้งจะช่วยจัดหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งสนับสนุนการจ้างนักจิตวิทยา 1 คน และนักสังคมสงเคราะห์ 3 คน เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนเด็กที่มีอยู่กว่า 100 คนในขณะนี้ และคาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเด็กบ้านธัญญพร ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างทัดเทียมและมีความสุข”

สถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพร สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสถานแรกรับเด็กหญิงอายุ 5 – 18 ปี ซึ่งประสบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจโดยตรง ทั้งนี้ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ส่วนใหญ่เป็นการถูกกระทำจากคนในสังคมและคนใกล้ชิด เช่น การถูกทารุณกรรม หรือถูกบังคับให้กระทำการใดๆ ที่เสี่ยงต่อชีวิตและผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้เกิดภาวะความเปราะบางทางด้านจิตใจ เด็กหญิงหลายคนตัดสินใจหาทางออกในรูปแบบที่ต่างกันด้วยความรู้เท่าไม่ถึง การณ์ และนำไปสู่เส้นทางเดินที่ผิดพลาดของชีวิต เช่น ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร บ้าน ธัญญพรจึงเปรียบเสมือน “ครอบครัว” สถานที่พักพิงอันอบอุ่นที่ช่วยให้เด็กมีความเท่าเทียมด้านสิทธิและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแลประมาณ 100 คน