รางวัลสารคดีข่าววิทยุ และโทรทัศน์ “สายฟ้าน้อย ครั้งที่ 4”

สีหน้าที่บ่งบอกถึงความดีใจและตื่นเต้นของบรรดาน้องๆ ที่มาร่วมลุ้นผลของตนเอง และเพื่อนร่วมสถาบันกับงานประกาศผลรางวัลสารคดีเชิงข่าววิทยุและโทรทัศน์ “สายฟ้าน้อย” ครั้งที่ 4 ประจำปี 2551 และเสียงเฮที่ดังขึ้นเป็นระยะยามที่ได้ยินผลประกาศรางวัล ทำให้บรรยากาศสนุกสนานอย่างยิ่ง ซึ่งภายในงานคราคร่ำไปด้วยเหล่าเยาวชนจากสาขานิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศมารวมตัวกันเพื่อลุ้นผลรางวัล “สายฟ้าน้อย” ที่จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน

ตลอดช่วงบ่ายของงาน น้องๆ นิสิต นักศึกษาต่างเดินทางมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น แทบทุกพื้นที่ต่างเต็มไปด้วยผู้คนจนทำให้ห้องดูแคบไปถนัดตา โดยในช่วงต้น มีการจัดแบ่งห้องสำหรับคณะกรรมการชี้แจงผลการตัดสิน เป็นห้องสารคดีเชิงข่าววิทยุ นำโดย บรรยงค์ สุวรรณผ่อง, อรนุช อนุศักดิ์เสถียร และเพ็ญสิน สงเนียม และ ห้องสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ นำโดย สุริยนต์ จองลีพันธ์ และปฏิวัติ วสิกชาติ เหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนมาอย่างยาวนาน ต่างให้ข้อมูลความรู้ คำแนะนำ และข้อปรับปรุง ในแต่ละชิ้นงานให้น้องๆ เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์สำหรับการทำงานในอนาคต จนมาถึงช่วงที่ทุกคนต่างจับจ้องลุ้นผลการประกาศรางวัล “สายฟ้าน้อย” ที่ในปีนี้มีนิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศส่งชิ้นงานเข้ามามากถึง 97 เรื่อง แบ่งเป็นผลงานสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง จำนวน 34 เรื่อง จาก 8 สถาบันการศึกษา ผลงานสารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ จำนวน 63 เรื่อง จาก 13 สถาบันการศึกษา

ผลงานที่โดดเด่น ยอดเยี่ยมที่สุดในประเภทวิทยุกระจายเสียงก็เป็นไปตามความคาดหมาย กับเรื่อง “พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทย” จากทีมพิราบขาวเชิงดอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้แชมป์ เป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามติดมาด้วยรางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “ถนนสายชีวิต…ลิเกโคราช” จากทีม CommArts NRRU มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา “หมู่บ้านนี้…ไม่มีเมา” จากทีม BUCA 51 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอีกหนึ่งรางวัลที่ยังคงเป็นของมหาวิทยาลัยกรุงเทพเช่นกัน คือเรื่อง “เด็กขายพวงมาลัย” จากทีม PRBUCA 36 สำหรับรางวัลดีเด่นประเภทวิทยุโทรทัศน์ ยิ่งได้ยินเสียงเฮที่ดังขึ้น เมื่อผลรางวัลออกมา เป็นของทีม Brave Do จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในเรื่อง “ปลูกแผ่นดิน” และอีก 3 รางวัลชมเชย ได้แก่ “โรงสีข้าวชุมชน…ความหวังใหม่ของชาวนาไทย” จากทีม Raisom 51 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, “โลกหมุนได้ด้วยมือฉัน” จากทีม แคฝรั่ง 1 มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และ “นายฮ้อยน้อย” จากทีมตะกาย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า “ขอแสดงความดีใจกับทีมที่ได้รับรางวัลการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าววิทยุ-โทรทัศน์ “สายฟ้าน้อย” ครั้งที่ 4 ในปีนี้ ผมอยากให้น้องๆ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้จดจำข้อแนะนำต่างๆ ที่คณะกรรมการได้แนะแนวให้ฟัง ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญ ที่หาไม่ได้ในหนังสือ หรือตำราเรียน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประสบการณ์ที่น้องๆ จะได้รับจากการเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า เวลาลงพื้นที่จริง ทุกสิ่งที่ได้เห็นเบื้องหน้าว่าสำเร็จเรียบร้อย หากเบื้องหลังที่กว่าจะได้มาซึ่งข้อมูล และแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทำให้เกิดการฝึกฝน รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งการทำงานจริงกับการเรียนรู้ ในห้องเรียนจะแตกต่างกันตรงนี้ นับเป็นข้อดีที่ทำให้สามารถรับมือ และจัดการกับปัญหาที่มาในรูปแบบต่างๆ ได้ไม่ยาก เมื่อเริ่มเข้าสู่โลกการทำงานหลังสำเร็จการศึกษา ขอให้วันนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับน้องๆ เยาวชนอนาคตคนข่าวทุกคน”

นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและสื่อสารการตลาด กลุ่มทรู รับผิดชอบงานซีเอสอาร์ [CSR] บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ปัจจุบันข่าวสารมีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมาก ทรู องค์กรที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ จึงมุ่งหวัง ที่จะส่งเสริมกิจกรรม โดยเฉพาะด้านงานข่าวที่เป็นแหล่งสำคัญของการขยายข้อมูลข่าวสารสู่ผู้คนในสังคม จึงร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดกิจกรรมการประกวดสารคดีเชิงข่าววิทยุและโทรทัศน์ โครงการ “สายฟ้าน้อย” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งผลงานที่เข้ารอบมานี้ต่างมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่ท้ายที่สุดของการแข่งขันไม่ว่าทีมใดจะสมหวัง หรือพลาดหวังรางวัลใดๆ สิ่งหนึ่งที่น้องๆ ทุกคนได้กลับไปคือประสบการณ์ของการทำงานจริงที่ยิ่งใหญ่ และหาไม่ได้จากในห้องเรียน”

น้องอรรคพล มงคลไทย หัวหน้าทีม Brave Do เจ้าของผลงานรางวัลดีเด่น สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ จากเรื่อง “ปลูกแผ่นดิน” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งได้นำเสนอปัญหาของการกัดเซาะพื้นที่ซายฝั่งทะเลแถบอ่าวไทย อันเป็นปัญหาในท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่ กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า “นี่เป็นรางวัลแรกของพวกเราครับ รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่สามารถผ่านการคัดเลือก เข้ารอบ และผ่านมาจนได้รับรางวัลดีเด่นครั้งนี้ ที่เลือกทำประเด็นเกี่ยวกับการกัดเซาะ และการยุบตัวของพื้นดิน เนื่องจากเป็นปัญหาใกล้ตัว เป็นปัญหาที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนของผม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายมาก การนำเสนอข่าวที่ผ่านมามักจะออกมาในรูปแบบของการนำเสนอปัญหา มากกว่าการแก้ปัญหา ถึงแม้จะมีนักวิชาการเข้ามาดูพื้นที่จริง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าต่อจากนั้น ชาวบ้านที่ประสบปัญหาจึงต้องแก้ไขเอง ด้วยการลองผิดลองถูกด้วยวิธีของชาวบ้านเอง เพราะพวกเรารอไม่ได้ พวกผม จึงลงพื้นที่ไปหาข้อมูล พูดคุย พร้อมกับเรียนรู้วิธีคิดของคนในชุมชน และนำเสนอวิธีแก้ปัญหาในแบบฉบับ ที่แตกต่างจากนักวิชาการ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่วิธีที่ดีทีสุด แต่เพื่อที่จะเป็นการต่อยอดให้นักวิชาการได้ลองเข้ามาคุย กับชาวบ้าน และช่วยกันแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ผสมผสาน น่าจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง พวกผมต้องขอขอบคุณสมาคมนักข่าวฯ และทรู ที่ให้โอกาสดี ๆ ให้นักศึกษาได้โชว์ศักยภาพ ความคิด ซึ่งโครงการสายฟ้าน้อยนี้ จะเป็นประสบการณ์ที่พวกเราจะจำไปตลอดชีวิตครับ ส่วนรางวัลนี้ก็น่าจะเป็นใบเบิกทางที่ดีให้กับพวกเราได้ก้าวไปสู่การเป็นคนข่าวที่ดีในวงการวิทยุและโทรทัศน์ต่อไปครับ”

น้องธนากร ถนอมนันทกุล จากทีมพิราบน้อย เชิงดอย กับผลงานรางวัลดีเด่น สารคดีเชิงข่าววิทยุ เรื่อง “พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทย” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นในสาขาดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “โครงการนี้ฝึกให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และรางวัลนี้ทำให้พวกเรามีกำลังใจ ที่จะก้าวสู่เส้นทางของการเป็นนักข่าวมืออาชีพครับ เพราะจากความท้าทาย และประสบการณ์ที่เราได้ลงมือปฏิบัติจริง และได้รับฟังข้อแนะนำ และคำวิจารณ์ดีๆ จากคณะกรรมการทำให้สิ่งที่ผมได้นั้นมีค่ามากกว่ารางวัลที่ได้รับมาก ผมมั่นใจว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะถือเป็นเวที และใบเบิกทางให้ผมก้าวไปสู่การเป็นนักข่าวที่ดีในอนาคต”

นางสาวสายป่าน ตันสมบูรณ์ ทีม PRBUCA 36 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รับรางวัลชมเชย สารคดีเชิงข่าววิทยุจากเรื่อง เด็กขายพวงมาลัย กล่าวว่า “รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะทีมของตนไม่ได้เรียนสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์โดยตรง แต่เรียนสาขาประชาสัมพันธ์ เมื่อได้ทราบข่าวการประกวด จากทางมหาวิทยาลัยประกอบกับกำลังเรียนเกี่ยวกับการผลิตรายการวิทยุ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมประกวด โดยเลือกที่จะนำเสนอเรื่อง เด็กขายพวงมาลัย เพราะเป็นประเด็นปัญหาใกล้ตัว” น้องสายป่าน พูดถึงโครงการ “สายฟ้าน้อย” ว่า เป็นโครงการที่ดีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริงๆ มีการให้ความรู้ ทำให้เราได้พัฒนาฝีมือและพบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกับตนเอง อย่างประเด็นเด็กขายพวงมาลัยที่นำเสนอนี้ ทำให้พวกเรามีทัศนะคติที่เปลี่ยนไป มีเหตุผลมากขึ้น ไม่มองคนแต่เพียงภายนอก หลายคนมองว่าเด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยกนั้นเป็นปัญหาสังคม แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาทำนั้นมีความจำเป็น และสะท้อนถึงปัญหาของสังคมในองค์รวม”

อาจารย์พรสุรีย์ วิภาศรีนิมิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต อาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาทีม BRAVE DO ซึ่งคว้ารางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ดีเด่น เป็นตัวแทนของเหล่าคณาจารย์ที่มาร่วมเป็นกำลังใจ และเบื้องหลังความสำเร็จของน้องๆ กล่าวถึงโครงการสายฟ้าน้อยว่า เป็นโครงการที่ดี สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นิสิต นักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน สร้างทรรศนะคติที่ดีต่อวิชาชีพ ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกท้าทายและมีกำลังใจที่จะสร้างผลงานดีๆ ให้แก่สังคม และถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันสร้างสังคม และประชากรให้มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป”

แน่นอนว่าทุกการแข่งขัน ทุกการประกวดจะต้องมีรางวัลชนะเลิศเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หากแก่นแท้สำคัญ ที่เยาวชนนิสิต นักศึกษาที่มาเข้าร่วมโครงการสายฟ้าน้อยในครั้งนี้จะได้รับกลับไป คงไม่ใช่เพียงรางวัลและชื่อเสียง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะได้รับ นั่นคือ ประสบการณ์ ที่ดูจะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้น้อง ๆ ได้จดจำ และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของความเป็นคนข่าวมืออาชีพ บทเรียนจริงๆ ที่ทุกคนจะได้ซึมซับนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพในชีวิตจริง