เศรษฐกิจของสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอย….จับตาผลกระทบธุรกิจส่งออกไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการเงินของสหรัฐ ฯ กำลังส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันอันดับต้น ๆ ของโลก จากการรายงานของ World Economic Forum ในปี 2550 เรื่องดัชนีวัดขีดความสามารถทางการแข่งขันของโลกพบว่า ระดับ Growth Competitiveness Index (GCI) และ Business Competitive Index (BCI) ของสิงคโปร์จัดอยู่ในอันดับ 7 และ 9 ของโลกซึ่งสูงที่สุดในเอเชีย แซงหน้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม จากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้สิงคโปร์ต้องประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสสองของปีนี้ ปัจจุบันสิงคโปร์กำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค กล่าวคือ การที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้ชะลอตัวลงสองไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ส่งผลให้สิงคโปร์ต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี และเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้สิงคโปร์เคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้วในปี 2545

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ปัญหาความท้าทายจากวิกฤตการเงินสหรัฐ ฯ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสิงคโปร์อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยไปสิงคโปร์โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในสิงคโปร์ โดยปัจจุบันมีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำหลายรายของโลกตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ/ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศโดยมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงเกือบร้อยละ 53 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ซึ่งการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์เป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อและการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตในประเทศเพื่อการส่งออกซึ่งไทยเป็นหนึ่งประเทศที่สิงคโปร์นำเข้าสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์จึงอาจทำให้ธุรกิจภาคการส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสิงคโปร์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด ได้ประเมินถึงเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกสินค้าของไทยไปสิงคโปร์โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2551

สิงคโปร์กำลังประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้ชะลอตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 7.0 (YOY) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (YOY) ในช่วงไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน การเติบโตของภาคการผลิตซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ได้ชะลอลงในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยภาคการผลิตภายในประเทศของสิงคโปร์เติบโตลดลงเหลือเกือบร้อยละ 5 (YOY) เทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2550 ซึ่งขยายตัวในระดับเลข 2 หลักในอัตราร้อยละ 13.1 ส่วนภาคการก่อสร้างและบริการขยายตัวร้อยละ 19.8 และ 7.0 ตามลำดับ

ส่วนด้านการบริโภคภายในประเทศยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งฉุดอำนาจการซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศให้ลดลง โดยในเดือนสิงหาคมของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่เติบโตร้อย 6.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 6.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YOY) ด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น ข้อมูลล่าสุดจากกรมสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า ในเดือนสิงหาคมของปี 2551 การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 63 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ชะลอตัวเหลือร้อยละ 7.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 (YOY) จากที่เติบโตร้อยละ 15.2 ในเดือนก่อนหน้านี้ (YOY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าประมาณ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เติบโตร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YOY) จากที่เติบโตร้อยละ 26.8

กล่าวได้ว่าวิกฤติการเงินในสหรัฐ ฯ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิงคโปร์ที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจัยเชิงลบที่ทำให้สิงคโปร์ประสบกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจคือ การที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดส่งออกหลักในอันดับ 5 ของสิงคโปร์รองจาก มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และ จีน โดยสหรัฐ ฯ มีสัดส่วนในตลาดส่งออกของสิงคโปร์เกือบร้อยละ 9 ของสินค้าส่งออกของสิงคโปร์ทั้งหมด โดยเมื่อสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทำให้ภาคเศรษฐกิจภายในของสหรัฐ ฯ อ่อนแรงลง อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและอำนาจการซื้อของผู้บริโภคปรับลดลงส่งผลให้ผู้บริโภคเพิ่มการระวังในการใช้จ่ายส่งผลบั่นทอนให้อุปสงค์ในตลาดชะลอตัวลง ภาคการส่งออกสินค้าของสิงคโปร์จึงน่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหลักอย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยาของสิงคโปร์ที่กำลังชะลอตัวอันเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยข้อมูลล่าสุดจากทางการสิงคโปร์รายงานว่า ยอดส่งออกสินค้าของสิงคโปร์ได้ปรับลดลง 5 เดือนติดต่อกันในรอบ 6 ปี เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเวชภัณฑ์ไปสหรัฐฯ และ ยุโรป ชะลอตัว โดยยอดส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันในเดือนกันยายน ลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากในเดือนสิงหาคมลดลงเกือบร้อยละ 14 ซึ่งมูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ในเดือนกันยายนลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 10.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนสินค้าเวชภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลงร้อยละ 28.7 ทั้งนี้สัดส่วนภาคส่งออกของสิงคโปร์ต่อจีดีพีมากกว่าร้อยละ 100 ทำให้ภาคส่งออกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ค่อนข้างมาก โดยล่าสุดทางกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2551 เศรษฐกิจของสิงคโปร์น่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551 ปรับลดมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ขณะที่คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงคือร้อยละ 6.0-7.0 ในปี 2551

แนวโน้มเศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัวรุนแรง…….กระทบส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกสำคัญในอันดับที่ 5 ของไทย รองจาก สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีนและมาเลเซีย ปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยไปสิงคโปร์มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 6 ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปสิงคโปร์รวม 7,869.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ขยายตัวร้อยละ 23.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1

สินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกของไทยไปสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร แผงวรจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกเฉพาะในแต่ละรายการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 พบว่า น้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของไทยในสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนการส่งออกเกือบร้อยละ 22 คิดเป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการของไทยไปสิงคโปร์มีมูลค่าส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 4.6 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร หดตัวร้อยละ 8.3 แผงวรจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 15.3 และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน หดตัวร้อยละ 22.1 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดีคือ เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ โดยขยายตัวร้อยละ 50.0, 64.3, 49.4 และ 14.5 ตามลำดับ ในส่วนของสินค้าเกษตรสำคัญของไทยที่ส่งออกไปสิงคโปร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้คือ ข้าว ซึ่งมีอัตราการขยายตัวพุ่งสูงเป็นร้อยละ 92.41 จากอัตราเติบโตร้อยละ 33 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 นอกจากนี้ยังมี ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์ยาง ที่เติบโตเป็นอัตราเลขสองหลักอยู่ที่ร้อยละ 37.9 และ 29.2 ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากอานิสงส์ของราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอย่าง ข้าว ยางพารา อยู่ในระดับสูงตามไปด้วย

ถึงแม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์มีการเติบโตที่ดีในอัตราร้อยละ 23.58 แต่เมื่อพิจารณาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ที่กำลังประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี 2551 ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์ชะลอลงตามไปด้วยซึ่งเห็นได้ชัดจากยอดนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์ที่ชะลอตัวลงในเดือนสิงหาคมโดยขยายตัวร้อยละ 13.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้านี้ซึ่งเติบโตร้อยละ 26.8 ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด มีความเห็นว่า แนวโน้มดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกสินค้าของไทยไปสิงคโปร์ซึ่งสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคือ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร แผงวรจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น อีกทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ของไทยไปสิงคโปร์ชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกอีกประการหนึ่งที่น่าส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์คือ แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่กำลังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทหลังจากรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินโดยกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออกของสิงคโปร์เนื่องจากอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดสหรัฐ ฯ และ ยุโรปชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคการส่งออกของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงกลางปี 2551 ที่ 24.6 กับปัจจุบันที่ 23.16 พบว่าอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 6 ทั้งนี้การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยไปสิงคโปร์ กล่าวคือการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สิงคโปร์ทำให้มูลค่าสินค้าส่งออกของไทยไปสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจเป็นปัจจัยซ้ำเติมการส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ให้ชะลอตัวลง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวจากแรงกดดันของอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสิงคโปร์อันเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไปสิงคโปร์ในช่วงที่เหลือของปี 2551 จนถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ให้ชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร แผงวรจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น เนื่องจาก สินค้าเหล่านี้ เป็นสินค้านำเข้าของสิงคโปร์ที่ใช้สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐ ฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.7 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของสิงคโปร์ ดังนั้นผลจากภาคส่งออกที่อ่อนแรงลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ที่ผลิตเพื่อส่งออกชะลอตัวลง ความต้องการนำเข้าสินค้าที่ใช้สำหรับผลิตจึงชะลอตัวตามไปด้วย

สรุป
ผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสิงคโปร์ซึ่งคาดว่าในปี 2551 แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์น่าจะชะลอตัวเหลือร้อยละ 3 เทียบกับร้อยละ 7.7 ในปี 2550 ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกสินค้าไทยไปสิงคโปร์ให้ชะลอตัวลงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร แผงวรจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เป็นต้น โดยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2551 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 การส่งออกสินค้าของไทยไปสิงคโปร์โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมน่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะอยู่ในภาวะซบเซาจนถึงกลางปี 2552 จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของสิงคโปร์ให้ชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์จากไทยในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในภาคผลิตอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ชะลอตามไปด้วย โดยไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักไปสิงคโปร์ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร แผงวรจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปสิงคโปร์

ทั้งนี้ นอกจากการปรับนโยบายบริหารประเทศอย่างเร่งด่วนของรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกของไทยแล้วนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรติดตามวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสิงคโปร์อย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกไทยอาจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจส่งออก โดยอาจหันมาพึ่งพาตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในประเทศที่มีการขยายตัวของอำนาจการซื้อและภาคเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความแข็งแกร่งอาทิ จีน อินเดีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศในแถบลาตินอเมริกา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนการบุกตลาดเป้าหมายใหม่ ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดอย่างละเอียดถี่ถ้วน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรพัฒนารูปแบบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน