สายการบินเอมิเรตส์สร้างผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิประมาณ 2,700 ล้านบาท (77 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 โดยลดลงร้อยละ 88 จากกำไรสุทธิประมาณ 22,400 ล้านบาท (643 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่ได้รับในช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ชี้ค อาเหม็ด บิน ซาอิด อัล มัคตุม ประธานและผู้อำนวยการ สายการบินเอมิเรตส์และบริษัทในเครือ กล่าวว่า “ช่วงครึ่งปีแรกเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมากสำหรับอุตสาหกรรมการบิน เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์ ที่บีบให้สายการบินหลายรายต้องปิดตัวลง หรือต้องควบรวมกิจการ สายการบินเอมิเรตส์จึงจำเป็นต้องควบคุมการจัดบริหารงานให้ดี เพื่อรับมือกับสถานการณ์ผลกระทบด้านต้นทุนต่อหน่วยจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตขี้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้บริการที่มีคุณภาพแก่ผู้โดยสารอีกด้วย
“เราได้ทุ่มทุนอย่างมหาศาลเพื่อซื้อเครื่องบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปิดตัวช่องทางผู้โดยสารที่ได้มาตรฐานในระดับโลกเพื่อรองรับการปฏิบัติการของสายการบินเอมิเรตส์ เพื่อให้บริการในเครือข่ายที่กว้างขึ้นทั่วโลก รวมทั้งด้านการสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคของธุรกิจที่กำลังเติบโตของเรา สถานการณ์ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจที่มีศักยภาพจริงๆ เท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติการณ์ในครั้งนี้และประสบความสำเร็จได้ และการลงทุนในครั้งนี้ได้ผลักดันให้ธุรกิจของเรามีความแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติในปัจจุบันและความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต”
ชีค อัลเหม็ด ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “เรามีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ที่ส่งผลให้เรายังคงยืนอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านการเงินทั่วโลกในปัจจุบัน และเราคาดหวังว่าเราจะมีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณนี้”
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,260 บาท (122 เหรียญสหรัฐ) ต่อบาร์เรล ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณล่าสุด ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วประมาณ 2,340 บาท (67 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ราคาที่แตกต่างกันของน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมการบินเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 560-980 บาท (16-28 เหรียญสหรัฐ) ต่อบาร์เรล โดยสรุป ต้นทุนราคาน้ำมันของสายการบินเอมิเรตส์สูงกว่าต้นทุนที่กำหนดไว้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท (469 ล้านเหรียญสหรัฐ)
กำไรที่ลดลงสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ต่อตัน-กิโลเมตร และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็นประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท (2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อเทียบกับประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีที่ผ่านมา
ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2551-2552 สายการบินเอมิเรตส์ยังคงความเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 หรือประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท (6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จำนวนผู้โดยสารบนเครื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ความจุสำหรับสินค้าขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
จำนวนผู้โดยสารคิดเป็นร้อยละ 78.3 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 79.7 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ของความจุของผู้โดยสาร
ตัวเลขบัญชีของสายการบินเอมิเรตส์ ณ วันที่ 30 กันยายนอยู่ที่ประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท (2.3 พันล้านบาท) เมื่อเทียบกับประมาณกว่า 118,000 ล้านบาท (3.4 พันล้านบาท) เมื่อหกเดือนก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดหลังจากการจ่ายปันผลให้แก่รัฐบาลในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเงินในปีก่อนหน้า รวมทั้งยอดเงินที่จ่ายไปสำหรับการจัดซื้อเครื่องบินที่จะได้รับการส่งมอบในอนาคต และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องบิน
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 สายการบินเอมิเรตส์ได้เปิดให้บริการสู่ 3 จุดหมายปลายทางใหม่ คือ คาลิคัต กวางโจว และลอสแองเจลิส ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายของเอมิเรตส์ครอบคลุมไปทั่ว 100 เมืองใน 6 ทวีป นอกจากนั้น สายการบินเอมิเรตส์จะเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงจากดูไบไปซานฟราสซิสโกในวันที่ 15 ธันวาคมนี้
ปัจจุบัน สายการบินเอมิเรตส์มีฝูงบินที่ประกอบไปด้วยเครื่องบิน 121 ลำ ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณล่าสุด เอมิเรตส์ได้รับการส่งมอบเครื่องบินลำตัวกว้างไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขนาดยักษ์แอร์บัส A380 จำนวน 2 ลำ
เกี่ยวกับสายการบินเอมิเรตส์
สายการบินเอมิเรตส์ให้บริการเที่ยวบินสู่ประเทศไทยมานานกว่า 17 ปี ปัจจุบันจากกรุงเทพฯ เอมิเรตส์ให้บริการ 19 เที่ยวบินไป-กลับต่อสัปดาห์สู่ดูไบ, 7 เที่ยวบินไป-กลับต่อสัปดาห์สู่ฮ่องกง และ 7 เที่ยวบินไป-กลับต่อสัปดาห์สู่ซิดนีย์และโอ๊คแลนด์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเวปไซต์ที่ www.emirates.com/th หรือติดต่อสำนักงานที่กรุงเทพฯ หมายเลข 02-664-1040-4