ตัวเลขล่าสุดบ่งชี้ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกได้เริ่มขึ้นแล้ว

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2551 ของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ทยอยรายงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศได้เข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” แล้วก่อนสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้จุดชนวนของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกในรอบนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัว/ถดถอยของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลกกำลังกลายมาเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ (ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง) ในหลายๆ ประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดและประเมินแนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นแกนหลักของโลก ดังนี้ :-

 เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค
หลายๆ ประเทศทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงของการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2551 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในภาพรวมของตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2551 ที่ถูกประกาศออกมานั้น เป็นไปในทิศทางที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้แล้ว คือ เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศจะประสบกับภาวะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งก็จะทำให้ประเทศเหล่านั้นถูกจัดให้เข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” ไปโดยปริยาย

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่น ประจำไตรมาส 3/2551 หดตัวลงร้อยละ 0.1 (QoQ) หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาส 2/2551 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจยูโรโซน และนับเป็นภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 7 ปีทีผ่านมา โดยภาคส่งออกของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมากจากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ส่อเค้าว่า อาจยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น

เศรษฐกิจยูโรโซน ตัวเลข GDP ของยูโรโซน ประจำไตรมาส 3/2551 หดตัวลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 0.2 เช่นกันในไตรมาส 2/2551 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของยูโรโซนต้องประสบกับภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศหลักในยูโรโซน อาทิ เยอรมนี และอิตาลี ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมเพรียงกัน โดยเศรษฐกิจเยอรมนีและอิตาลีหดตัวลงร้อยละ 0.5 ในไตรมาส 3/2551 หลังจากหดตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 2/2551 อย่างไรก็ดี ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2551 ของฝรั่งเศส ค่อนข้างจะผิดความคาดหมายของตลาด เนื่องจากข้อมูลที่ประกาศออกมาสะท้อนว่า เศรษฐกิจของฝรั่งเศสสามารถหลุดพ้นจากนิยาม “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” ได้ โดยเศรษฐกิจของฝรั่งเศสขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาส 3/2551 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวขึ้นของการบริโภคและการส่งออก หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาส 2/2551

เศรษฐกิจเอเชียบางประเทศ เอเชียบางประเทศเริ่มทยอยรายงานตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 3/2551 บ้างแล้ว โดยล่าสุดข้อมูลจากทางการสะท้อนว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ และฮ่องกง ต่างก็เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศเป็นเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินในต่างประเทศค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่ทั้ง 2 ประเทศต้องเผชิญกับภาวะถดถอยท่ามกลางภาวะซบเซาของอุปสงค์ในต่างประเทศ และความผันผวนของตลาดการเงินนั้น จึงเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ในขณะที่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2551 ของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ จีน ก็สะท้อนแนวโน้มของการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน

 ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก
ต้องยอมรับว่า วิกฤตซับไพร์ม ซึ่ง ณ ขณะนี้ ได้ลุกลามออกไปมากกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ และเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความผันผวนอย่างมากในตลาดการเงิน ซึ่งอาจรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี และในท้ายที่สุด ก็กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การประชุม G-20 การประชุมล่าสุดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2551 ของผู้นำกลุ่ม G-20 จากประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนานั้น ปิดฉากลงด้วยแถลงการณ์ที่เรียกร้องให้มีการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว อาทิ การปรับลดภาษี และ/หรือ เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะส่งผลอย่างรวดเร็วในการสนับสนุนเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับเรียกร้องให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก อย่างไรก็ตาม กลุ่ม G-20 ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงซึ่งนำไปสู่การประกาศมาตรการใหม่ๆ หรือมาตรการด้านกฎระเบียบที่สำคัญ โดยกรอบความร่วมมือกันหลังการประชุมในรอบนี้ เป็นเพียงกรอบความร่วมมือกว้างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก เท่านั้น

นโยบายการเงิน ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็กำลังเผชิญโจทย์หนักในการรับมือกับภาวะการชะลอตัว/ถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางหลายๆ แห่งก็ได้ตอบรับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงิน อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศนั้นมีไม่เท่ากัน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เฟดได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds มาอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3/2550) จากระดับร้อยละ 5.25 มาสู่ระดับร้อยละ 1.00 ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.00 นี้ จะไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็นับว่าเป็นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำมาก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เฟดจะมีพื้นที่อีกไม่มากนักในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก โดยประเมินว่า เฟดอาจยุติวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ที่ระดับประมาณร้อยละ 0.5-0.75 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับต่ำสุดของวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบก่อนหน้า (ช่วงเดือน ม.ค. 2544 – มิ.ย. 2546) ที่มีนายอลัน กรีนสแปนเป็นประธานเฟด

ธนาคารกลางญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เครื่องมือด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีจำกัดในทำนองเดียวกันกับเฟด แต่อาจจะมีความยืดหยุ่นที่น้อยกว่ามาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ร้อยละ 0.30 ซึ่งก็นับว่า เป็นระดับที่ต่ำมากแล้ว และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกก็อาจไม่สามารถส่งผลอย่างมีนัยสำคัญมากนักต่อเศรษฐกิจได้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เมื่อพิจารณาจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้ง 2 แห่ง จะพบว่า ECB และ BoE ยังคงมีความยืดหยุ่นของเครื่องมือด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ECB และ BoE มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง และอาจจำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่รุนแรงมากขึ้นตามความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในยูโรโซนและอังกฤษ

นโยบายการคลัง ตามทฤษฎี การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมักจะสามารถส่งผลลงไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกจึงเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายระลอก

 โดยเมื่อเปรียบเทียบความยืดหยุ่นของการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นแกนหลักของโลกนั้น จะพบว่า จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายการคลังมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแบกรับภาระหนี้เป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 198.60 ต่อ GDP ขณะที่ รัฐบาลของ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ในยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ก็ต้องแบกรับภาระหนี้ภาครัฐในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับกรณีญี่ปุ่นแต่เป็นไปในขนาดที่น้อยกว่า เนื่องจากรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศนั้นได้ดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาล เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ต้องแบกรับภาระหนี้เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 76.379 ร้อยละ 65.191 และร้อยละ 104.27 ต่อ GDP ตามลำดับ

สำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ขณะนี้ ตัวเลขเบื้องต้น มีการประเมินว่า สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณที่อาจจะพุ่งสูงเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 7.2 ของ GDP ซึ่งนั่นก็อาจส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องแบกรับภาระหนี้สูงกว่าในระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 61.51 ต่อ GDP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในขณะนี้ ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศต่างก็เผชิญกับโจทย์ที่ยากลำบากในการประคับประคองเศรษฐกิจในแต่ละประเทศให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งได้ทวีความรุนแรงและแพร่กระจายออกไปยังทั่วทุกภูมิภาคของโลกแล้วในปัจจุบัน โดยเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักของโลก 3 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ต่างก็มีแนวโน้มต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ซึ่งตัวเลข GDP ล่าสุดในไตรมาส 3/2551 ได้สะท้อนว่า เศรษฐกิจของทั้ง 2 ภูมิภาค ได้เข้าสู่ช่วงของ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” แล้วก่อนสหรัฐฯ เนื่องจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกของรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ในช่วงไตรมาส 2/2551 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในท้ายที่สุด แม้ภาวะถดถอยดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นช้ากว่าภาวะถดถอยในยูโรโซน และญี่ปุ่น ประมาณ 1 ไตรมาสก็ตาม

แม้ว่าเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังโน้มเอียงไปในเชิงผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางหลายแห่งได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วหลังมีสัญญาณว่า ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ธนาคารกลางเหล่านั้นแสดงท่าทีในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เนื่องจากแรงกดดันของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เครื่องมือด้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแต่ละประเทศในระยะถัดไปนั้น มีความยืดหยุ่นไม่เท่าเทียมกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่มากกว่าธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ตลอดจนธนาคารกลางของประเทศในแถบเอเชียหลายๆ แห่ง ดังนั้น ความหวังต่อการกอบกู้เศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอาจจะต้องตกไปอยู่ที่นโยบายการคลังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ต้องเร่งพิจารณาในหลายๆ ประเทศ แต่ก็ใช่ว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจะสามารถกำหนดกรอบการขาดดุลงบประมาณในขนาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ เนื่องจากภาระหนี้ภาครัฐที่กำลังแบกรับอยู่นั้น กำลังกลายเป็นเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย และหากพิจารณาลงไปในประเทศที่เป็นแกนหลักของโลก ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขหนี้ภาครัฐในระดับที่รุนแรงมากกว่า สหรัฐฯ และยูโรโซน ดังนั้น จึงเป็นที่จับตามองว่า ท่ามกลางพื้นที่ที่จำกัดของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ขณะที่ ภาคส่งออกของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับโจทย์การแข็งค่าของเงินเยนท่ามกลางการระบายธุรกรรม Carry Trade และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน รัฐบาลญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการทางการคลังออกมาในลักษณะที่ผ่อนคลายได้มากน้อยเพียงใด สำหรับในยูโรโซนซึ่งประเทศสมาชิกยูโรโซนส่วนใหญ่ต่างก็ได้ดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วนั้น เป็นที่จับตาเช่นกันว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่บีบบังคับให้จำต้องเร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินในอัตราที่รุนแรงกว่านี้หรือไม่ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนมาเป็นเวลากว่า 1 ปีจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็เป็นที่จับตาเช่นกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังช่วงของการเปลี่ยนผ่านผู้นำของทำเนียบขาวในช่วงต้นปี 2552 มาเป็นนาย บารัค โอบามานั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำโดยรัฐบาลของนายโอบามา จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้กลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ได้หรือไม่

สำหรับทางการไทยนั้น ด้วยผลของการเชื่อมโยงทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2551 และต่อเนื่องไปยังปี 2552 อาจได้รับผลกระทบอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงจากภาวะถดถอย/ชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งในรอบนี้อาจมีความรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ประกอบด้วย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ อาจมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบ (เศรษฐกิจหดตัว) พร้อมเพรียงกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ เศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชียและตลาดเกิดใหม่ อาจต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของทางการไทย ทั้งในด้านนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง น่าที่จะมีความโน้มเอียงไปในเชิงผ่อนคลายมากขึ้นในระยะถัดไป