มูลนิธิซิเมนต์ไทย (SCG Foundation) ประกาศผลเยาวชนผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลดีเด่น “รางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2551 ครั้งที่ 5” (Young Thai Artist Award 2008) ทั้ง 6 สาขา และจัดแสดงผลงานเพื่อเป็นเกียรติประวัติและเผยแพร่ความสามารถเด็กไทยให้ประชาชนได้ร่วมชื่นชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2552
นางสาวสุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า โครงการศิลปะเพื่อเยาวชนไทย หรือ Young Thai Artist Award เวทีประกวดความสามารถด้านศิลปะของเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ได้คัดเลือกรางวัลยอดเยี่ยมทั้ง 6 สาขา จากเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 34 คน แล้วดังนี้
ศิลปะ 2 มิติ (2-Dimensional Art) ได้แก่ “Acid Rain” โดยนายตระกูล คำมงคุณ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลปะ 3 มิติ (3-Dimension Art) ได้แก่ “จังหวะรักในจินตนาการ” โดยนายมงคล ฤาชัยราม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพถ่าย (Photography) ได้แก่ “หน้าที่ไม่เปิดเผย” โดยนางสาววิจิตรา อุทัยภาณุมาศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
ภาพยนตร์ (Film) ได้แก่ “ไตแลง” โดยนายณัฐชัย ใจธิตา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
วรรณกรรม (Literature) ได้แก่ “โลกหมุนเร็วขึ้กว่าเดิม” โดยนายกฤตย์ดิศร กรเกศกมล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และการประพันธ์ดนตรี (Music Composition) ได้แก่ “ปฏิจจสมุปบาท” โดยนายสุระศักดิ์ อุตสาห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในแต่ละสาขาจะได้รับเงินรางวัลคนละ 300,000 บาท พร้อมทุนการศึกษาจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
“Young Thai Artist Award เป็นเวทีประกวดซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานการคัดเลือกผลงานที่เข้มงวด คณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ กว่า 20 ท่าน อาทิ เท็ตสึยะ โนดะ ศิลปินภาพพิมพ์ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก นิวัติ กอง-เพียร เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นนทรีย์ นิมิบุตร ไมเคิล เชาวนาศัย อ.สังคม ทองมี อ.ปัญญา วิจินธนสาร อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน รศ.อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ รศ.เข็มรัตน์ กองสุข รศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม ประวิทย์ แต่งอักษร ผศ.สมพร รอดบุญ รศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร รศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ร้อยเอกประทีป สุพรรณโรจน์ ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ อ.บฤงคพ วรอุไร เป็นต้น” นางสาวสุรนุชกล่าว
อ.ปัญญา วิจินธนสาร กรรมการสาขาศิลปะ 2 มิติได้ให้ความเห็นผลงานของเยาวชนที่ร่วมประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2551 ว่า “ผลงานของเยาวชนที่ส่งเข้าประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทยดีขึ้นกว่าในปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัดในแง่คุณภาพเชิงคุณค่า ผลงานโดยรวมไม่ได้เน้นเนื้อหาที่เคร่งเครียดต่อสภาวะสังคมเหมือนที่ผ่านมา แต่มีความหลากหลาย ใช้สัญลักษณ์สื่อถึงเนื้อหา เช่น Acid Rain ที่เรียบ ง่าย แต่สื่อถึงแนวคิดชัดเจน”
รศ.อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ กรรมการสาขาศิลปะ 3 มิติ กล่าวถึงกระบวนการตัดสินว่า “การตัดสินจะดูจากทั้งกระบวนการทำงานของศิลปิน โดยขั้นแรกจะเลือกผลงานที่โดดเด่น จากนั้นจะวิเคราะห์ตามเกณฑ์ว่าครบถ้วนหรือไม่ ทั้งการตั้งชื่อผลงาน แนวคิด และเทคนิค ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบจะต้องสอดคล้องกัน เพราะเป็นสาระสำคัญที่ศิลปินต้องเข้าใจชัดเจน ไม่เบี่ยงเบน ซึ่งผลงานที่ชนะเลิศ ได้แก่ จังหวะรักในจินตนาการ ทำได้ดีด้านความมีเอกภาพทั้งด้านเทคนิคและความคิด”
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กรรมการตัดสินสาขาวรรณกรรม ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม “โลกหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม” โดยนายกฤตย์ดิศร กรเกศกมลว่า “นานๆ ทีจะได้อ่านบทกวีนิพนธ์ที่ดีอย่างนี้ ไม่คาดคิดว่าเยาวชนจะสามารถเขียนกวีที่ดีขนาดนี้ โดยผู้เขียนใช้เวลาแต่งกว่า 5 ปี แต่เป็นเรื่องราวของชีวิตคนคนหนึ่งใน 1 วัน ซึ่งงานเขียนชิ้นนี้สามารถปลุกสำนึกคนในเมือง แสดงถึงมุมมองชีวิตอย่างละเอียด ผมเขียนกวีนิพนธ์อย่างนี้ได้ แต่ผมเขียนไม่ได้อย่างนี้ ต้องชื่นชม กฤษย์ดิศร”
ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ กรรมการสาขาการประพันธ์ดนตรี กล่าวถึงผลงานยอดเยี่ยม “ปฏิจจสมุปบาท” ว่ามีคอนเซ็ปต์ชัดเจน เป็นนามธรรม นักดนตรีสามารถนำไปเล่นได้จริง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการประพันธ์ดนตรี และอยากให้ประเทศไทยส่งเสริมสาขาการประพันธ์ดนตรี เพราะปัจจุบันยังมีเยาวชนไทยเรียนด้านนี้น้อยมาก แต่หากได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสามารถสร้างนักประพันธ์ดนตรีฝีมือดีให้กับประเทศ
นายไมเคิล เชาวนาศัย กรรมการสาขาภาพถ่ายให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยม “หน้าที่ไม่เปิดเผย” ว่าชื่นชมเจ้าของผลงานที่ใช้กล้องฟิล์ม ซึ่งต้องใช้เทคนิคและการฝึกฝน โดยผลงานสื่อสารเข้าใจง่าย มีความสมบูรณ์ในทุกกระบวนการตั้งแต่เทคนิคการถ่ายไปจนถึงการอัดภาพ ส่วน ผศ.สมพร รอดบุญ ประทับใจในส่วนของเรื่องราวที่มีความกินใจ ความสามารถในการวางรูปที่ทำให้สามารถสื่อความหมายได้ดี ด้าน รศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ กล่าวว่าในปีนี้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดมีวิธีการนำเสนอหลากหลาย อย่างภาพถ่ายมีการนำเสนอเป็นชุด ไม่ได้จบในภาพเดียว และอยากฝากถึงเยาวชนที่จะประกวดในปีต่อๆ ไปว่าการประกวดศิลปะภาพถ่าย ต้องสามารถถ่ายทอดสาระผ่านเทคนิคของการถ่ายภาพด้วย นอกเหนือจากความสวยงาม
สาขาสุดท้ายภาพยนตร์ ทั้งนายนนทรีย์ นิมิบุตร นายก้อง ฤทธิ์ดี และรศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม ต่างชื่นชมผลงาน “ไตแลง” ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมว่า “กล้าหาญ ทะเยอทะยาน หยิบประเด็นที่แม้แต่คนทำหนังยังไม่กล้ามาทำ เพราะโดยทั่วไปหนังสั้นในระดับเยาวชนมักจะเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เช่น ความรัก การเรียน เพื่อน แต่เรื่องไตแลง เกี่ยวกับการเมือง เป็นความขัดแย้งระหว่างพม่ากับรัฐฉาน ในเรื่องโปรดักชั่นก็เกินมืออาชีพ แสดงให้เห็นว่านายณัฐชัยเจ้าของผลงานรู้ทันหนัง
เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเผยแพร่ความสามารถของเยาวชนไทยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมชื่นชม มูลนิธิ ซิเมนต์ไทยจะจัดแสดงนิทรรศการผลงานยอดเยี่ยมและผลงานดีเด่นรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2551 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2552
“มูลนิธิฯ จะยังคงให้การสนับสนุนวงการศิลปะอย่างเต็มที่ต่อไป นอกจากจะมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนและศิลปินไทยได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความสามารถทางศิลปะแล้ว ยังสนับสนุนกิจกรรมอื่นอันจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้ทั้งยุวศิลปินและศิลปินต่างๆ อย่างหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อวงการศิลปกรรมไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ได้รับการยอมรับในระดับโลก และรองรับเวทีการประกวด “รางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย” ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2553 ต่อไป” นางสาวสุรนุชกล่าวทิ้งท้าย
มูลนิธิซิเมนต์ไทย ตระหนักถึงความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม จึงมุ่งมั่นส่งเสริมโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ จึงมุ่งเน้นการดำเนินโครงการและสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ระดับปฐมวัย การพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน รวมไปถึงการปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กัน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยการให้ความช่วยเหลือสังคมในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ ด้วยเช่นกัน