ส่งออกไปจีนเดือนพฤศจิกายน 2551 : ลดลง 36% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี

การส่งออกของไทยไปจีนเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวร้อยละ 36 เทียบกับเดือนเดียวกันปี 2550 (yoy) ถือเป็นการปรับลดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 ชะลอลงอย่างมาก โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 14.5 (yoy) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 26.2 ถือเป็นครั้งแรกที่อัตราขยายตัวของการส่งออกไปจีนต่ำกว่าร้อยละ 20 และต่ำสุดในรอบ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2544 ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ (สิงหาคม-กันยายน 2551) การส่งออกรายเดือนไปจีนเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดโดยเติบโตเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 1.4 ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนนี้หดตัวลงมากกว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอื่นๆ ที่หดตัวเช่นกัน อย่างตลาดอาเซียน ซึ่งหดตัวร้อยละ 26.6 ญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 8.4) สหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 14.5) และสหภาพยุโรป (หดตัวร้อยละ 16.6) ส่งผลให้การส่งออกโดยรวมของไทยในเดือนพฤศจิกายน หดตัวร้อยละ 18.6 (yoy) ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี สะท้อนถึงเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่ชะลอตัวรุนแรงมากขึ้นจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการบริโภคอ่อนแรงลงมาก นับว่าเป็นปัญหาท้าทายสำคัญของการส่งออกของไทยในปี 2552 ที่คาดว่าอาจต้องเผชิญกับภาวะหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2552 และท้าทายต่อเป้าหมายของทางการไทยที่คาดการณ์ให้การส่งออกของไทยขยายตัวระหว่างร้อยละ 0-5 ในปี 2552

สินค้าส่งออกไทยไปจีนที่หดตัวลงต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายนล้วนเป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าทุนที่ใช้สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในจีน โดยสินค้าส่งออกของไทยไปจีน 10 อันดับแรกต่างหดตัวในเดือนพฤศจิกายนทั้งสิ้น ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

หากพิจารณาการส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมในช่วง 11 เดือนแรกนี้ พบว่าสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าส่งออกไปจีนลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง วงจรพิมพ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และทองแดง/ของที่ทำด้วยทองแดง ที่มีอัตราหดตัวร้อยละ 5.55 ร้อยละ 37.8 ร้อยละ 29.3 ร้อยละ 0.7 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 49.6 ตามลำดับ เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2550 ที่สินค้าส่งออกเหล่านี้ยังคงขยายตัวได้ดี ยกเว้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่การส่งออกไปจีนหดตัวในอัตราเพิ่มขึ้นในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับการหดตัวของการส่งออกไปจีนตั้งแต่ปี 2550 แต่มีอัตราน้อยกว่า

การส่งออกของไทยไปจีนที่หดตัวรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนพฤศจิกายน 2551 ล้วนปรับลดลง โดยภาคการส่งออกและเศรษฐกิจภายในจีนทั้งการบริโภคและการลงทุนอ่อนแรงมากขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนน่าจะเห็นผลในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การส่งออกและการนำเข้าของจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาหดตัวลงร้อยละ 2.2 (yoy) และร้อยละ 17.9 (yoy) ตามลำดับ โดยเป็นการส่งออกรายเดือนที่ปรับลดมากที่สุดในรอบ 7 ปี ขณะที่การนำเข้าหดตัวรุนแรงตามความต้องการภายในจีนที่ชะลอลงทั้งจากภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมที่ ซบเซา โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ชะลอเหลือร้อยละ 5.4 (yoy) ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2542 อุตสาหกรรมสำคัญๆ ของจีนต่างหดตัวลงในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางเคมี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และยานยนต์ ยอดค้าปลีกเติบโตร้อยละ 20.8 ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 22 เดือน ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรชะลอตัวตามภาคอสังหาริมทรัพย์และโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ปรับลดลงร้อยละ 36.5 (yoy)

ทางการจีนใช้มาตรการทางการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงอีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยนักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ทั้งนี้ ทางการจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.27 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 5.3 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือร้อยละ 2.25 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ธันวาคม 2551 นี้ ถือว่าเป็นการปรับลดมากที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นต่างก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอรุนแรงมากขึ้น โดยสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงสู่ระดับร้อยละ 0-0.25 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ต่ำสุดในรอบ 54 ปี ส่วนญี่ปุ่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 0.3 เหลือร้อยละ 0.1 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2551

นอกจากนี้ ทางการจีนยังปรับลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 15.5 สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และร้อยละ 13.5 สำหรับธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 25 ธันวาคม 2551 นี้ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของทางการจีนอย่างต่อเนื่องและการตั้งเป้าหมายให้ปริมาณเงินในระบบขยายตัวร้อยละ 17 ในปี 2552 เพื่อเป็นการกระตุ้นการกู้ยืมและการบริโภคภายในจีน สำหรับนโยบายการคลังที่ทางการจีนอัดฉีดเงินราว 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลา 2 ปี จนถึงปี 2553 ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คาดว่าจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่ชัดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จากปัจจัยหนุนทั้งมาตรการของทางการจีนเองและจากภาคส่งออกที่ฟื้นตามเศรษฐกิจโลก น่าจะส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าของจีนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่น่าจะฟื้นตัว ที่สำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

หากทางการจีนใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังในเชิงรุกและมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจภายในจีนกลับมาฟื้นตัวก็น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในจีนที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายในให้ปรับตัวดีขึ้น เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ และในกรณีที่เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกของจีนขยายตัวได้มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนประเภทวัตถุดิบขั้นต้น และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับอุตสาหกรรมจีนขยายตัวไปจีนได้ดีขึ้นตามไปด้วย กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปจีนกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แต่สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 การส่งออกของไทยไปจีนอาจต้องเผชิญกับภาวะการชะลอลงอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การพิจารณาขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่เศรษฐกิจชะลอตัวไม่มากเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกที่ไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัวได้บ้าง โดยตลาดส่งออกที่น่าสนใจดังกล่าว ได้แก่ อินเดีย ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง โดยการส่งออกของไทยไปประเทศ/ภูมิภาคเหล่านี้ยังคงขยายตัวเป็นบวกในเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่การส่งออกของไทยยังคงเติบโตในอัตราสูงถึง ร้อยละ 35.2 และที่สำคัญไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ทวิภาคีกับอินเดีย ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียได้รับผลดีจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดอินเดีย อีกทั้งสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอินเดียในปัจจุบันยังไม่มากนักจึงคาดว่าการส่งออกของไทยไปอินเดียยังน่าจะขยายตัวได้อีก