จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 ตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคม 2551 ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกของไทย อาจจะยังคงมีความรุนแรงต่อไปตลอดระยะครึ่งแรกของปี 2552 นี้เป็นอย่างน้อย โดยประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ มีดังนี้
การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2551 มีมูลค่า 11,604.9 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 14.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราติดลบที่ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวถึงร้อยละ 20.5 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 11,254.8 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 6.5 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้พลิกกลับมาเกินดุล 350.1 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ภาพรวมตลอดทั้งปี 2551 การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 177,841.3 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 15.6 เทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 178,653.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 27.6 และดุลการค้าขาดดุล 811.9 ล้านดอลลาร์ฯ
สินค้าส่งออกสำคัญรายการสำคัญหดตัวสูงอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งค้าสำคัญอันดับแรก คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 32.8 ส่วนสินค้าสำคัญอันดับที่สอง คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 24.3 ส่วนสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่หดตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (ลดลงร้อยละ 20.7) แผงวงจรไฟฟ้า (ลดลงร้อยละ 43.5) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 50.4) ข้าว (ลดลงร้อยละ 22.0) เม็ดพลาสติก (ลดลงร้อยละ 34.0) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 10.1) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 30.5) เป็นต้น
เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ลดลงต่อเนื่องทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.3 สหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 16.3 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 15.1 อาเซียน 5 ประเทศ ลดลงถึงร้อยละ 25.9 สำหรับตลาดใหม่ ส่วนใหญ่ลดลงยกเว้นอินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5) ฮ่องกง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1) และออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2) ขณะที่ตลาดจีนลดลงถึงร้อยละ 40.1
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากสภาวการณ์เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่การส่งออกหดตัวลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยถ้าพิจารณาจากตัวเลขเฉลี่ยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 พบว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เป็นกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศที่มีการส่งออกลดลงรุนแรงที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน รองลงมาคือสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย และญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มประเทศที่ค่อนข้างพึ่งพาสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบน้อยกว่า นอกจากนี้ หากมองในแง่ที่ว่า การลดลงของการส่งออกของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานด้วยแล้ว อาจกล่าวได้ว่าไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง ขณะที่โครงสร้างการส่งออกของไทยมีการกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าที่หลากหลายกว่า
ท่ามกลางแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญภาวะถดถอยต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะยังคงหดตัวเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลัก อยู่ระหว่างร้อยละ 11.0 ถึงร้อยละ 14.0 และกว่าที่จะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวในแดนบวกอีกครั้ง อาจเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับภาพรวมในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยอาจจะหดตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 3.0 ถึงร้อยละ 7.0
ประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้ อยู่ที่ผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันออกมาใช้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขวิกฤติในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ภายหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอมาบา เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ในด้านปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีแนวทางผลักดันการขยายตลาดสินค้า โดยมีมาตรการเร่งด่วน อาทิ มาตรการด้านตัวสินค้า มาตรการด้านราคา ต้นทุน และสภาพคล่อง มาตรการด้านการตลาด มาตรการด้านการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย และมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ประสบปัญหา ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ แต่หากหลายฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็คาดว่าจะมีส่วนช่วยขยายโอกาสการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยได้ ที่สำคัญคือการเผยแพร่ข้อมูลความต้องการสินค้าในตลาดประเทศต่างๆ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในต่างประเทศจะเป็นหน้าต่างเปิดรับข้อมูลได้เป็นอย่างดี หากมีเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้มากขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้มาก