ทองคำแพง-เศรษฐกิจซบ … คนกรุงฯหั่นงบแจกอั่งเปาลดลงร้อยละ 5-7

เป็นที่สังเกตว่า เมื่อคนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินจากการที่รายได้ของกิจการหดตัวลง และกิจการบางแห่งมีแนวโน้มจะปรับลดพนักงาน ปรับลดเงินเดือน รวมถึงปรับลดโบนัส ทำให้คนกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อยต่างมีพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปถึงการจับจ่ายในช่วงวาระหรือเทศกาลสำคัญๆอีกหลายเทศกาลด้วยกัน อันหมายรวมถึงวันปีใหม่จีน หรือวันตรุษจีนที่ในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 มกราคม 2552 ด้วย และเม็ดเงินที่คาดว่าจะมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงเช่นปัจจุบันอย่างชัดเจนก็น่าจะเป็นเม็ดเงินในการแจกอั่งเปาให้แก่กัน ที่เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเทศกาลนี้ และเป็นประเพณีนิยมที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดสู่ชาวจีนรุ่นต่อรุ่นนอกเหนือจากการไหว้เจ้าหรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยเด็กน้อยหรือลูกจ้างจำนวนไม่น้อยต่างตั้งความหวังที่จะได้รับอั่งเปาในวันตรุษจีนของทุกปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 ของคนกรุงเทพฯ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 458 รายในระหว่างอายุ 15-65 ปี ในระหว่างวันที่ 9-16 มกราคม 2552 พบว่า ปีนี้คนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ยังคงมีการเตรียมงบประมาณในการแจกอั่งเปาให้แก่ลูกหลาน ญาติผู้ใหญ่และลูกจ้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.4 ของกลุ่มตัวอย่าง แต่ลดลงระดับหนึ่งจากเดิมที่มีสัดส่วนร้อยละ 65.8 ในปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณสัดส่วนร้อยละ 58.7 ต่างยอมรับว่าการแจกอั่งเปาในปีนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญในปัจจุบันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น หรือปัญหารายได้ของกิจการที่หดตัวลง และปัญหาภาวะการเลิกจ้างงานที่อาจส่งผลให้ปัญหาการว่างงานทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณในการแจกอั่งเปาปีนี้ โดยกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนประมาณร้อยละ 88.4 ไม่มีการปรับเพิ่มงบประมาณในการแจกอั่งเปาปีนี้ (โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งงบประมาณลดลงเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.3 และกลุ่มที่ตั้งงบประมาณใกล้เคียงกับปีก่อนเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.1) จึงมีความเป็นไปได้ว่าเม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อแจกการอั่งเปาของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในปีนี้ส่อแววไม่สดใส โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 7,400 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5-7

ทั้งนี้ “อั่งเปา” หมายความถึงซองแดงที่บรรจุเงิน หรือ ธนบัตร หรือ เช็คแลกเงิน ด้วยคนจีนมีความเชื่อว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลจึงนิยมนำมาใส่เงินหรือทองเพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่บุคคลต่างๆ ขณะที่ “แต๊ะเอีย” คือเงินที่แจกให้หรือที่สอดไว้ในซองแดงอั่งเปา โดยการแจกหรือมอบแต๊ะเอียในซองอั่งเปาเพื่อเป็นเงินพิเศษ หรือของขวัญกำลังใจในการเริ่มต้นทำงานในขวบปีใหม่ในวันตรุษจีนของทุกปีนั้นมักจะนิยมมอบให้แก่คนภายในครอบครัวหรือสกุลเดียวกันเป็นหลัก ซึ่งโดยทั่วไปเด็กๆจะได้อั่งเปาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลุง ป้า น้า อา ขณะที่พ่อแม่จะมอบให้ปู่ย่า ตายาย ส่วนลูกๆที่มีรายได้หรือแต่งงานแล้วก็จะมอบแต๊ะเอียให้พ่อแม่ และลูกๆหลานๆ จากนั้นก็ขยายวงไปยังคนที่รักนับถือกันเหมือนญาติ และผู้น้อยหรือลูกจ้างของกิจการ โดยเถ้าแก่ที่เป็นคนจีนก็มักจะให้แต๊ะเอียซึ่งเป็นเงินพิเศษแก่ลูกน้องนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับปกติ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน ซึ่งอาจจะให้เป็นเงินหรือทองคำก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก สำหรับพฤติกรรมการแจกอั่งเปาของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในวันตรุษจีนปี 2552 จากผลการสำรวจในครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่แจกอั่งเปาปีนี้มีสัดส่วนลดลง จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 ของคนกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พบว่าผู้ที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อแจกอั่งเปาที่มาทั้งในรูปแบบของเงินสดและเครื่องประดับทองเพื่อต้อนรับวันตรุษจีนปี 2552 นั้นมีสัดส่วนร้อยละ 64.4 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปีที่แล้วที่มีสัดส่วนร้อยละ 65.8 โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่กำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคตามภาวะซบเซาของเศรษฐกิจ เพราะจากการที่สอบถามถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหารายได้ของกิจการที่หดตัวลง และปัญหาการปรับลดพนักงานที่อาจส่งผลให้ปัญหาการว่างงานทวีความรุนแรงมากขึ้นว่า มีผลต่อการการแจกอั่งเปาในปีนี้หรือไม่นั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 58.7 ซึ่งผู้ที่ตั้งใจจะแจกอั่งเปาในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคยแจกอั่งเปาในปีที่แล้วมาแล้ว และยังคงยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแจกอั่งเปาในปีนี้ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.6 (เดิมสัดส่วนร้อยละ 34.2 ) อันประกอบด้วยผู้ที่ไม่เคยแจกอั่งเปามาก่อน และผู้ที่เคยแจกอั่งเปาในปีที่แล้วนั้น ต่างให้เหตุผลของการที่ตัดสินใจไม่แจกอั่งเปาในปีนี้ เพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2551 เป็นสำคัญ รวมถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มดังกล่าวต้องระมัดระวังการใช้จ่าย รวมทั้งต้องการออมเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในอนาคต เพราะไม่มั่นใจในฐานะการเงินของตนเองท่ามกลางสถานการณ์ภาระค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย สำหรับผู้ที่แจกอั่งเปาซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่วนใหญ่มีสถานภาพทางเงินและรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง และได้มีการจัดสรรเงินออมเผื่อไว้แล้ว นอกจากนี้ บางรายก็กลายเป็นผู้รับแทนเนื่องจากลูกหลานได้เติบโตและมีงานทำกันหมดแล้ว

คาดเม็ดเงินหมุนเวียนมีมูลค่าประมาณ 7,400 ล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณที่ตั้งไว้ก็พบว่า กลุ่มที่มีงบประมาณในการแจกอั่งเปาเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.6 ของกลุ่มที่ตั้งใจจะแจกอั่งเปาในปีนี้ ซึ่งกลุ่มที่มีการปรับเพิ่มงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และได้มีการตั้งงบประมาณเผื่อไว้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า คนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มงบประมาณในการแจกอั่งเปาปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.4 ของกลุ่มตัวอย่างที่จะแจกอั่งเปาในวันตรุษจีนปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มที่ตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปาปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนร้อยละ 52.1 และกลุ่มที่ตั้งงบประมาณลดลงอีกสัดส่วนร้อยละ 36.3 ซึ่งกลุ่มที่มีงบประมาณลดลงนี้ส่วนใหญ่มีการปรับลดลงทั้งจำนวนผู้รับ และมูลค่าของเงินที่จะให้เมื่อเทียบกับปีก่อน จึงมีความเป็นไปได้ว่าเม็ดเงินหมุนเวียนสำหรับการแจกอั่งเปาวันตรุษจีนของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในปี 2552 น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,400 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 5-7 เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยป็นการลดลงของเม็ดเงินอั่งเปาในรูปของเงินสดประมาณร้อยละ 5-6 ส่วนเม็ดเงินอั่งเปาในรูปของทองลดลงประมาณร้อยละ 10-15 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า

คนกรุงเทพฯนิยมแจกอั่งเปาในรูปของเงินสดมากกว่าทอง สำหรับประเภทของเงินพิเศษที่คนกรุงเทพฯนิยมแจกอั่งเปาส่วนใหญ่ในปีนี้เป็นเงินสด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนที่ต้องการแจกอั่งเปา (ปีที่แล้วมีสัดส่วนร้อยละ 87.5) ขณะที่กลุ่มที่แจกอั่งเปาเป็นเครื่องประดับทองนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 10 (ปีที่แล้วมีสัดส่วนร้อยละ 12.5) กล่าวคือ ในปีนี้กลุ่มที่เลือกจะแจกเงินสดเป็นอั่งเปาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มที่เลือกจะแจกทองเป็นอั่งเปามีการปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเงินสดนั้นมีสภาพคล่องที่ดีกว่า ซึ่งอาจจะมีมูลค่าต่อผู้รับ 1 คน มากหรือน้อยจากปีก่อนก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของผู้ให้หรือเถ้าแก่เป็นสำคัญ อีกทั้งราคาทองในปัจจุบันที่แม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงบ้างจากช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นระดับราคาที่สูงมาก โดยราคาขายทองรูปพรรณ 96.5% ในช่วง 10 วันก่อนวันตรุษจีนปี 2552 มีราคาขายไม่ต่ำกว่าบาทละ 14,200 บาท ทำให้กลุ่มคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนหลายรายที่เคยแจกทองในปีก่อนหันมาแจกเงินสดกันเพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณของผู้ที่ยังคงเลือกที่จะแจกทองนั้น พบว่าร้อยละ 37.5 เลือกที่จะตั้งงบประมาณในการแจกทองไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่เท่ากันกับกลุ่มที่ลดงบประมาณลง โดยผู้ที่มีการวางแผนเพิ่มงบประมาณในการซื้อทองเพื่อแจกเป็นอั่งเปาในปีนี้มีเพียงร้อยละ 25 ทั้งนี้ เม็ดเงินในการแจกอั่งเปาเป็นเงินสดในปีนี้ พบว่ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 77 ของเม็ดเงินหมุนเวียนรวมของการแจกอั่งเปา หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,700 ล้านบาท และอีกประมาณร้อยละ 23 เป็นเม็ดเงินสำหรับการแจกอั่งเปาในรูปของทองหรือเครื่องประดับทอง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท

การที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากราคาขายของทองรูปพรรณเฉลี่ยบาทละกว่า 10,000 บาทในปี 2549 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 13,700 บาทในเดือนธันวาคม 2550 จนกระทั่งทะลุถึงบาทละ 14,400 บาทวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ส่งผลให้ยอดซื้อทองคำรูปพรรณในปี 2551 ลดลงค่อนข้างมาก และมีผลให้ธุรกิจร้านค้าทองซบเซาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนแรงงานช่างทองที่เคยมีถึง 200,000 คนในอดีตก็ลดจำนวนลงหลือประมาณ 100,000 รายเท่านั้นในปัจจุบัน ขณะที่เมื่อเริ่มเปิดศักราชใหม่ปี 2552 ราคาขายทองรูปพรรณก็ยังคงทะยานขึ้นอีกเป็นบาทละ 14,500 บาทในวันที่ 21 มกราคม 2552 ตามทิศทางราคาทองคำต่างประเทศ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการเลิกจ้าง ทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่ในปี 2552 เพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และมักจะเก็บเงินสดไว้มากกว่าการนำมาซื้อทองรูปพรรณหรือเครื่องประดับทอง ขณะเดียวกันการที่เงินโบนัสหรือแต๊ะเอียจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะผลประกอบการของกิจการหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนหรืออาจจะมีกำไรไม่มากนัก ส่งผลให้ผู้ที่ซื้อทองคำรูปพรรณส่วนใหญ่ทั้งกลุ่มคนที่ได้รับเงินโบนัสหรือแต๊ะเอีย และกลุ่มเถ้าแก่ที่ซื้อเพื่อนำไปแจกให้ลูกจ้างในโอกาสพิเศษต่างๆ จึงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นในการซื้อเครื่องประดับทองเพื่อเป็นการเก็บออมระยะยาวและการแจกอั่งเปาเป็นทอง อีกทั้งประชาชนส่วนหนึ่งหันไปเก็งกำไรกับทองคำแท่งกันมากขึ้น เพราะส่วนต่างของราคาขายกับราคาซื้อทองคำแท่งไม่มากเท่าส่วนต่างของราคาซื้อขายทองรูปพรรณ ที่มีการบวกค่ากำเหน็จในราคาซื้อ-ขายด้วย หรือมีโอกาสในการสร้างกำไรได้มากกว่า ดังนั้นบรรยากาศการซื้อขายเครื่องประดับทองในเมืองไทยที่มักจะคึกคักในช่วงตรุษจีนของทุกปีจึงซบเซาพอสมควรในปีนี้ สำหรับประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการแจกอั่งเปาด้วยทองของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนในวันตรุษจีนปี 2552 จากผลการสำรวจในครั้งนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่

น้ำหนักทอง 1 สลึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้รับที่ยังคงได้รับการแจกอั่งเปาเป็นทองตามธรรมเนียมในเทศกาลตรุษจีนในยุคทองแพงในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลใกล้ตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกหลาน หรือญาติผู้ใหญ่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การแจกอั่งเปาเป็นทองในปีนี้อาจจะเป็นไปในทิศทางของการลดน้ำหนักทองที่แจกต่อคนค่อนข้างชัดเจน ซึ่งผลของการสำรวจครั้งนี้พบว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เลือกที่จะแจกอั่งเปาด้วยทองรูปพรรณที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1 บาทต่อผู้รับ 1 คน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 86.1 (ปีที่แล้วมีสัดส่วนร้อยละ 85.7) โดยสัดส่วนของทองรูปพรรณน้ำหนัก 1 สลึงต่อผู้รับ 1 คนนั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ จากเดิมที่ปีก่อนจำนวนผู้ที่เลือกแจกทองรูปพรรณน้ำหนัก 1 สลึงต่อผู้รับ 1 คนมีสัดส่วนร้อยละ 23.8 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.8 ของกลุ่มตัวอย่างในปีนี้ ขณะที่ทองรูปพรรณที่มีราคาน้ำหนัก 2 สลึงต่อคน จนถึงน้ำหนักทอง 1 บาทต่อคน มีสัดส่วนลดลงจากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 61.9 ในปีที่แล้ว ก็ปรับลดลงเหลือสัดส่วนร้อยละ 57.3 ของกลุ่มตัวอย่างที่แจกอั่งเปาเป็นทองรูปพรรรณในปีนี้ เช่นเดียวกันกับสัดส่วนของผู้ที่เลือกทองรูปพรรณน้ำหนัก 2 บาทขึ้นไปก็ปรับสัดส่วนลดลงจากเดิมที่มีสัดส่วนร้อยละ 14.3 เหลือสัดส่วนร้อยละ 13.9 ของกลุ่มตัวอย่างในปีนี้ ทำให้ภาพรวมของการใช้จ่ายในการซื้อทองเพื่อแจกอั่งเปาในปีนี้จึงไม่คึกคักนัก เพราะนอกจากราคาทองจะยังคงทรงตัวในระดับสูงแล้ว ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง อีกทั้งค่าครองชีพก็ยังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คนกรุงเทพฯที่แจกอั่งเปาเป็นทองส่วนใหญ่ในปีนี้จึงมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนโดยเปรียบเทียบ

ส่วนใหญ่กำหนดจำนวนผู้รับแจกอั่งเปาเป็นทองไม่เกิน 4 คน เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 63 ของกลุ่มที่แจกอั่งเปาเป็นทองตัดสินใจที่จะแจกทองให้แก่บุคคลต่างๆไม่เกินกว่า 4 คน หรือกำหนดจำนวนผู้รับไว้ไม่เกิน 4 คน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำหนดจำนวนผู้รับไว้ไม่เกิน 4 คนนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 59.3 ของกลุ่มตัวอย่างที่แจกทองเป็นอั่งเปา โดยระดับน้ำหนักทองรูปพรรณที่นิยมแจกเมื่อกำหนดจำนวนผู้รับไว้ไม่เกิน 4 คน ส่วนใหญ่จะเป็นทองรูปพรรณที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1 บาทต่อผู้รับ 1 คน ในสัดส่วนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อน แต่หากกลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะแจกอั่งเปาเป็นทองรูปพรรณให้แก่บุคคลต่างๆรวมเป็นจำนวน 5 คนขึ้นไป พบว่าส่วนใหญ่จะเลือกซื้อทองรูปพรรณในน้ำหนักไม่เกิน 2 สลึงต่อคนเพื่อมอบให้แก่บุคคลต่างๆในวันตรุษจีนปีนี้ ด้วยสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดจำนวนผู้รับเกิน 5 คนในการแจกทอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 60 ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อบริหารงบประมาณไม่ให้แตกต่างจากปีก่อนมากนักรองรับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปี 2552

ดังนั้น ปี 2552 จึงเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการร้านค้าทองต้องเหนื่อยหนัก ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ให้ได้มากที่สุดในช่วงเทศกาลวันตรุษจีนที่มักจะมีมูลค่าการซื้อขายคึกคักมากกว่าช่วงเวลาปกติของปี โดยร้านค้าทองหลายแห่งหันมาเพิ่มสัดส่วนของสินค้าที่มีน้ำหนักทองต่ำกว่า 1 บาทมากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ขณะที่ทองรูปพรรณที่มีน้ำหนัก 2-5 บาทที่เดิมเคยเป็นสินค้าขายดีของร้านค้าทองก็ต้องปรับลดจำนวนการผลิตลง เพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอย

บทสรุป
แม้ว่า “อั่งเปา-แต๊ะเอีย” ได้อยู่คู่กับ “ตรุษจีน” มาอย่างยาวนานจากคนจีนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง และจากการสำรวจเชิงคุณภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2552 ของคนกรุงเทพฯ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 458 รายในระหว่างอายุ 15-65 ปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 9-16 มกราคม 2552 พบว่า คนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนส่วนใหญ่มีการวางแผนแจกอั่งเปาให้แก่ลูกหลาน ญาติผู้ใหญ่และลูกจ้าง ในวาระของการเฉลิมฉลองปีใหม่จีน หรือตรุษจีนปี 2552 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนของกลุ่มที่แจกเงินสดเป็นอั่งเปามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็จะตั้งงบประมาณใกล้เคียงกับปีก่อนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มที่แจกทองเป็นอั่งเปามีการปรับตัวลดลง และส่วนใหญ่มีการปรับลดงบประมาณลงด้วย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากราคาทองในปัจจุบันที่แม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงบ้างจากช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว แต่ก็ยังนับเป็นระดับราคาที่สูงมาก โดยราคาขายอยู่ในระดับเกินกว่า 14,000 บาทต่อน้ำหนักทองรูปพรรณ 1 บาท ทำให้สินค้าทองรูปพรรณที่มีน้ำหนักทองต่ำกว่า 1 บาท โดยเฉพาะน้ำหนักทอง 1 สลึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปีนี้อย่างชัดเจน

หากพิจารณางบประมาณในการแจกอั่งเปาโดยรวมในปีนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มงบประมาณในการแจกอั่งเปา คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.4 ของกลุ่มตัวอย่างแจกอั่งเปาโดยรวม (โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งงบประมาณลดลงเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.3 และกลุ่มที่ตั้งงบประมาณใกล้เคียงกับปีก่อนเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.1) ทั้งนี้กลุ่มที่มีงบประมาณลดลงนี้ส่วนใหญ่มีการปรับลดลงทั้งจำนวนผู้รับ และมูลค่าของเงินต่อผู้รับ 1 คนเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพื่อการแจกอั่งเปาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต จึงคาดว่าเม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อแจกการอั่งเปาของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนที่นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวันตรุษจีนในปีนี้ส่อแววไม่สดใส โดยน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 7,400 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5-7 ดังนั้น แม้ว่า “อั่งเปา-แต๊ะเอีย” จะยังคงอยู่คู่กับ “ตรุษจีน” ไปอีกยาวนาน แต่อาจจะมีมูลค่ามากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิมก็ได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจของทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ เพราะอั่งเปา-แต๊ะเอียนั้นมีความอ่อนไหวค่อนมากกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่อง และฐานะทางการเงินของผู้แจกอั่งเปานั่นเอง