แนวโน้มผลิตภัณฑ์กุ้งปี ’52 : ตลาดส่งออกซบเซา

ผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ส่งผลให้คาดการณ์ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งมีแนวโน้มซบเซาตามไปด้วย เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มลดลง สถานการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 พลิกกลับไปซบเซาอีกครั้ง แม้ว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเคยคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ไทยจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งได้มากขึ้น จากปัจจัยเอื้ออำนวยในตลาดส่งออกหลัก ทั้งในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อันเป็นผลจากการที่องค์การการค้าโลกตัดสินให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าสำคัญอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยเปลี่ยนอัตราคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์กุ้งไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่นั้นต่ำลงกว่าอัตราเดิม ส่งผลให้สถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในตลาดสหรัฐฯดีขึ้น จากที่เคยเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอย่างจีนและเวียดนาม ส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นจากการได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ดังนั้นในปี 2552 จึงต้องจับตาการปรับตัวของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อรับมือกับการส่งออกที่มีแนวโน้มซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประเด็นที่ต้องจับตาต่อเนื่องก็คือ การปรับลดปริมาณการผลิตกุ้งเพื่อรับมือกับสถานการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกุ้งทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โรงเพาะฟักลูกกุ้ง โรงงานผลิตอาหารกุ้ง ห้องเย็น โรงงานผลิตภัณฑ์กุ้งต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ก็คงจะได้รับกระทบไม่มาก แต่สำหรับรายย่อยซึ่งไม่พร้อมที่จะปรับทันทีเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะประสบกับปัญหาใหญ่ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์คงต้องเข้ามาช่วยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2552 นี้

จากการคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกกุ้งในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง ผู้เลี้ยงกุ้งจึงร่วมมือกันเพื่อลดปริมาณการผลิตกุ้งในปี 2552 ลงเหลือ 392,000 ตัน จาก 490,000 ตันในปี 2551 หรือลดลงประมาณร้อยละ 20.0 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดการผลิตมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเป็นการขอความร่วมมือจากสมาชิกชมรมผู้เลี้ยงกุ้งให้ลดปริมาณการผลิตกุ้ง จากการดำเนินมาตรการลดจำนวนลูกกุ้งที่เลี้ยง ลดจำนวนรอบการเลี้ยง หยุดพักบ่อเลี้ยงนานขึ้น ไม่ขยายหรือเพิ่มจำนวนบ่อเลี้ยง ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะกุ้งล้นตลาด พยุงราคากุ้งในประเทศไม่ให้ตกต่ำ รวมทั้งเตรียมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีแนวโน้มลดปริมาณการบริโภค อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการเลี้ยงได้ทันต่อความต้องการ โดยไทยสามารถเพิ่มการผลิตกุ้งไปได้ถึง 600,000 ตันต่อปี

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 คาดว่าอยู่ที่ 340,000-350,000 ตัน มูลค่า 2,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 และ 10.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกในปี 2552 อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีกประมาณร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของค่าเงินบาท ส่วนราคากุ้งในปี 2552 ไม่น่าจะสูงกว่าในปี 2551 คือ กุ้งขนาด 50 ตัว/กิโลกรัมเฉลี่ยอยู่ที่ 233 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากจะมีการลดปริมาณการเลี้ยงกุ้ง หรือรัฐบาลมีนโยบายรับจำนำกุ้งเพื่อยกระดับราคากุ้งในประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลผลักดันให้ราคากุ้งในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในปี 2551

ประเด็นปัญหาที่ต้องจับตามองในปี 2552
ประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในด้านตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งสำหรับปี 2552 มีดังนี้

-ความต้องการผลิตภัณฑ์กุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ผู้บริโภคมีแนวโน้มประหยัดค่าใช้จ่าย โดยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งถือว่าเป็นสินค้าอาหารที่มีราคาสูง จึงนับเป็นรายการอันดับแรกๆที่ผู้บริโภคจะตัดออกจากรายการค่าใช้จ่ายด้านอาหาร โดยการนำเข้าลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ซึ่งในปีปกติจะเป็นช่วงที่มีการนำเข้ามาก ทั้งนี้เพื่อนำไปบริโภคในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2552 ผู้บริโภคในตลาดโลกจะปรับพฤติกรรมหันมาซื้อกุ้งขนาดเล็ก และราคาต่ำลง ทำให้มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2552 การแข่งขันในตลาดโลกมีแนวโน้มรุนแรงทั้งในตลาดเดิม คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากขนาดตลาดเล็กลง ส่วนการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็มีแนวโน้มแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งต่างก็มุ่งที่จะเจาะขยายตลาดใหม่เช่นกัน

-ตลาดสหรัฐฯ การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์กุ้งมีแนวโน้มลดลง จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ กล่าวคือ จากผลการสำรวจพบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดย 2 ใน 3 ของผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และประมาณ 1 ใน 2 ลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน โดย 1ใน 3 หันไปเลือกซื้อสินค้าอาหารราคาถูกในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำไปประกอบอาหารรับประทานเอง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเหล่านี้ก็ยังเลือกที่จะตัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเป็นอันดับแรกของรายการค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ดังนั้น เท่ากับว่าตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งส่งออกเพื่อป้อนทั้งภัตตาคารและร้านอาหาร และตลาดค้าปลีกมีแนวโน้มลดลง

ผลิตภัณฑ์กุ้งไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯพลาดโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์จากการปรับวิธีคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยโดยเฉลี่ยลดลงเหลือร้อยละ 2.85 อันเป็นผลจากคำตัดสินขององค์การการค้าโลกให้สหรัฐฯ เปลี่ยนอัตราคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์กุ้งไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดใหม่นั้นต่ำลงกว่าอัตราเดิม ส่งผลให้สถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในตลาดสหรัฐฯดีขึ้น จากที่เคยเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอย่างจีนและเวียดนาม ส่วนการยกเลิกที่ต้องวางพันธบัตรค้ำประกันหรือซีบอนด์นั้นต้องรอการประกาศขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯหลังวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งก็จะส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯลดลง

ประเด็นที่น่าสนใจของตลาดสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯนำเข้ากุ้งตัดหัว(Headless) และกุ้งไม่ปอกเปลือกลดลง ทั้งที่กุ้งทั้งสองประเภทนี้เคยมีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 42.0 ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมดในตลาดสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯหันไปนำเข้ากุ้งปอกเปลือกแช่แข็งเพิ่มขึ้น ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยที่น่าจับตามองในตลาดสหรัฐฯ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้สามารถขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2551

-ตลาดสหภาพยุโรป ค่าเงินอ่อนค่าลงทั้งเงินยูโรและเงินปอนด์ ทำให้ราคากุ้งนำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้น เดิมเคยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2552 การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น โดยไทยได้รับอานิงส์จากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีคืน ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยที่จะดึงส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในสหภาพยุโรปกลับมาก หลังจากที่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้คู่แข่งสำคัญอย่าง เอกวาดอร์ จีน อาร์เจนตินา อินเดีย และบราซิล โดยผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังครองอันดับหนึ่งได้เฉพาะตลาดเยอรมนีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปนั้นเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากกลายเป็นตลาดเป้าหมายของบรรดาประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่ต้องการเลี่ยงตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด

จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน โดยบางประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ในขณะที่บางประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเท่านั้น ส่งผลต่อทัศนคติของผู้บริโภคในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศส ผู้บริโภคยังคงออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นปกติ ซึ่งบรรดาภัตตาคารและร้านอาหารนั้นเป็นตลาดหลักของผลิตภัณฑ์กุ้งนำเข้า ในขณะที่สเปน อิตาลี และอังกฤษนั้นความต้องการกุ้งมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้ราคากุ้งมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551

-ตลาดญี่ปุ่น ประเด็นที่ต้องจับตาคือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 7 ปี ความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ จากการที่ญี่ปุ่นและเวียดนามลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งจากข้อตกลงนี้เวียดนามสามารถส่งออกกุ้งไปญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับไทยที่ได้อานิสงส์จากเจเทปป้า ทำให้คาดหมายได้ว่าในปี 2552 ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทยไปตลาดญี่ปุ่นจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย

-ตลาดออสเตรเลีย แม้ว่าออสเตรเลียจะมีการเลี้ยงกุ้ง แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี จึงยังมีช่องทางการตลาดสำหรับกุ้งไทย อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินออสเตรเลียอ่อนค่า อีกทั้งคนออสเตรเลียนิยมบริโภคกุ้งในประเทศ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าของออสเตรเลียค่อนข้างเข้มข้น นับเป็นปัญหาสำคัญในการเจาะขยายตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย

การปรับตัว…เตรียมรับมือตลาดส่งออกชะลอตัว
การปรับตัวของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 มีดังนี้
-ปรับลดปริมาณการผลิต
คาดการณ์ว่าในปี 2552 กลุ่มโรงงานเพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้งลดกำลังการผลิต จากปกติมีกำลังการผลิต 3,000-4,000 ล้านตัวต่อเดือน เหลือเพียง 1,000 ล้านตัวต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยไม่ทำให้เกิดภาวะกุ้งล้นตลาด ซึ่งส่งผลกดดันต่อราคากุ้ง และยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งด้วย

-การส่งเสริมการบริโภคกุ้งภายในประเทศ ปัจจุบันการบริโภคกุ้งในประเทศคิดเป็นเพียงร้อยละ 10.0 ของปริมาณกุ้งที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยคนไทยบริโภคกุ้งเพียง 0.8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรเร่งส่งเสริมการบริโภคกุ้งของคนไทยให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

-เพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อการส่งออก เนื่องจากวิกฤตทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบให้ยอดคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กุ้งในช่วง 2 เดือนแรกปี 2552 ลดลงประมาณร้อยละ 30.0 ส่งผลกระทบต่อราคากุ้งในประเทศ ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมกุ้งเสนอแนวทางแก้ไข คือ ปรับการเลี้ยงกุ้งชีวภาพ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่น ราคาสูงกว่ากุ้งทั่วไปประมาณร้อยละ 30.0 นอกจากนี้ การขยายการเลี้ยงกุ้งฝอยทะเล(ขนาด 600-700 ตัวต่อกิโลกรัม)เพื่อป้อนตลาดญี่ปุ่นก็นับว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เนื่องจากกุ้งฝอยทะเลมีระยะเวลาการเลี้ยงเพียง 1 เดือน เทียบกับการเลี้ยงกุ้งขาวให้ได้ขนาด 60-70 ตัว/กิโลกรัมต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน นอกจากนี้ กุ้งฝอยทะเลยังเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี และยังปลอดจากโรค โดยเฉพาะโรคพยาธิใบไม้(เมื่อเทียบกับกุ้งฝอยน้ำจืด) ราคากิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งน่าจะทดแทนกุ้งฝอยน้ำจืดที่นิยมบริโภคในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะร้านจำหน่ายเหล้าสาเก ซึ่งจะเสิร์ฟสาเกพร้อมกับกุ้งฝอยทอด ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าจากจีนปีละประมาณ 30,000 ตัน ดังนั้นไทยน่าจะเข้าไปแย่งสัดส่วนตลาดมาจากจีนได้ เนื่องจากภาพลักษณ์ของอาหารจีนนั้นยังไม่ดีในสายตาของคนญี่ปุ่น

นอกจากนี้ สินค้าอาหารแปรรูปจากกุ้งน่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคหันไปนิยมซื้ออาหารไปปรุงรับประทานเองที่บ้าน จากเดิมที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านในภัตตาคารร้านอาหาร รวมทั้งความพยายามที่จะผลักดันกุ้งเข้าไปในตลาดร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ จากเดิมที่การบริโภคกุ้งจะเพิ่มมากขึ้นเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะคริสต์มาส ปีใหม่ และเทศกาล OBON ของญี่ปุ่น เป็นต้น

ตลาดกุ้งป่วน…ปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข
ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2552 คือ การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากยังไม่เคยปรากฏว่าตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จะชะลอตัวพร้อมกันทั้ง 3 ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงเกือบ 90.0 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกถึงเกือบร้อยละ 90.0 ดังนั้นผลกระทบของตลาดส่งออกจึงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงตลาดกุ้งในประเทศทั้งระบบ

มาตรการขอความร่วมมือเพื่อการปรับลดการผลิตกุ้งลงถึงร้อยละ 20.0 นั้น แม้ว่าจะเป็นการปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับกับสถานการณ์การส่งออกที่มีแนวโน้มซบเซา ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกุ้งทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โรงเพาะฟักกุ้ง โรงงานผลิตอาหารกุ้ง โรงงานปลาป่น ชาวประมงที่จำหน่ายปลาเป็ดเพื่อเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตปลาป่น ผู้จำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกุ้ง ห้องเย็น โรงงานแปรรูปกุ้ง และผู้ส่งออกกุ้ง ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งอยู่ประมาณ 500,000 ไร่ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 350,000-400,000 ตันต่อปี จำนวนครัวเรือนที่เพาะเลี้ยงกุ้งประมาณ 31,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมกุ้ง 180 โรงงาน จำนวนแรงงานรวมประมาณ 700,000 คน

คาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งในปี 2552 ไม่น่าจะลดลงได้มากถึงร้อยละ 20.0 โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งยังต้องพึ่งพิงรายได้จากการจำหน่ายกุ้งเป็นหลัก การจะปรับไปทำอาชีพอื่นๆ เป็นไปได้ยาก ซึ่งจะสร้างปัญหาใหญ่ที่ทางกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาแก้ไข เนื่องจากคาดว่าอาจจะเกิดปัญหาผลผลิตกุ้งมากเกินความต้องการ เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว การที่จะหันมาขยายตลาดกุ้งในประเทศก็รองรับผลผลิตเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ กุ้งก็เป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอาหารโปรตีนประเภทอื่นๆ ส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ และอาจมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงราคาเช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ โดยการซื้อเก็บเข้าสต็อก อย่างไรก็ตาม แทรกแซงตลาดกุ้งนั้นมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูงกว่าการเก็บสต็อกธัญพืช เนื่องจากต้องเก็บรักษาในห้องเย็นเท่านั้น ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งมือเพื่อเตรียมหาทางช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมกุ้งในอนาคตอันใกล้นี้

บทสรุป
ตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 พลิกกลับจากที่เคยคาดการณ์ว่าการส่งออกมีแนวโน้มสดใสจากหลากปัจจัยเอื้อในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯที่ปรับลดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้สถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนในตลาดสหภาพยุโรปนั้นไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจากคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้ และกลับขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดเยอรมนี อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 มีแนวโน้มซบเซาลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 ลดลงเหลือ 340,000-350,000 ตัน มูลค่า 2,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 และ 10.0 ตามลำดับ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในปี 2552 ซึ่งผู้เลี้ยงกุ้งของไทยร่วมมือกันปรับลดการผลิตกุ้งเหลือ 392,000 ตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ คือ กุ้งชีวภาพ กุ้งฝอยทะเล และผลิตภัณฑ์แปรรูปกุ้งเพื่อป้อนตลาดค้าปลีกและตลาดอาหารฟาสตฟู้ดส์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งเหล่านี้ยังมีลู่ทางในการขยายการส่งออกได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งสองประเภทนี้ไม่สามารถทดแทนการลดลงของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งได้มากนัก

ประเด็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2552 คือ การลดปริมาณการผลิตกุ้งถึงร้อยละ 20.0 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โรงเพาะฟัก โรงงานผลิตอาหารกุ้ง ห้องเย็น โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออกกุ้ง โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตกุ้งไม่น่าจะลดลงได้มากถึงร้อยละ 20.0 เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องพึ่งพิงรายได้จากการเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก ส่งผลให้อาจจะเกิดปัญหาราคากุ้งตกต่ำอย่างมากในปี 2552 เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวพร้อมกันทั้ง 3 ตลาดหลัก ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงเกือบ 90.0 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด ในขณะที่การหันมาขยายตลาดในประเทศก็ทำได้ยากในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และกำลังซื้อของคนไทยก็ลดลงเช่นกัน กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์คงต้องเร่งเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งแนวทางน่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงราคาเช่นเดียวกับพืชไร่อื่นๆ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การแทรกแซงตลาดเพื่อเก็บสต็อกกุ้งนั้นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อันเป็นผลจากราคาสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับสินค้าธัญพืช และค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากต้องเก็บในห้องเย็นเท่านั้น