ซอฟต์แวร์พาร์คเสริมแกร่งศูนย์บ่มเพาะ ขยายบริการใหม่รุกสร้างเครือข่าย

ซอฟต์แวร์พาร์ครุกหนัก ขยายบริการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์เข้าสู่ระบบ Incubation 2.0 เพิ่มเครือข่ายความร่วมมือทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง พร้อมดันภาคอุตสาหกรรมอื่นจับมือนักพัฒนาซอฟต์แวร์สร้างนวัตกรรมใหม่ สสว.พร้อมหนุนบริษัทเกิดใหม่โตต่อเนื่อง

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ในปี 2552 ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้วางแนวทางใหม่ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ให้เกิดการขยายผลมากขึ้น โดยที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คได้สร้างกลุ่มผู้ประกอบการซอฟต์แวร์สายเลือดใหม่ที่มีประสบความสำเร็จขึ้นมาจำนวนมาก และได้รูปแบบการทำงานของศูนย์บ่มเพาะที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการที่เริ่มมีองค์กรที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เติบโตในภูมิภาคมากขึ้น และมีความต้องการก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์อันสืบเนื่องจากความต้องการของตลาดมีมากขึ้น ทำให้ซอฟต์แวร์พาร์คต้องการขยายผลการเติบโตของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ให้รองรับความต้องการ และผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีไทยเติบโตเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจของไทย อันจะเป็นการช่วยผ่อนเบาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

แนวทางใหม่ในการปรับเปลี่ยนเริ่มจากการสร้างศูนย์บ่มเพาะด้วยแนวคิด Incubation 2.0 ขึ้นมา จากเดิมที่ผู้ต้องการบ่มเพาะจะพุ่งเข้าหาแหล่งศูนย์กลางเพื่อขอการสนับสนุน แต่ในระบบใหม่ซอฟต์แวร์พาร์คจะเน้นการกระจายการบริการลงสู่เครือข่ายหรือสังคมของผู้ประกอบการทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนของสังคมจริงๆ และสังคมแบบออนไลน์

“การขยายของศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คจะมี 3 แนวทาง หนึ่ง ขยายเครือข่ายการให้บริการของศูนย์บ่มเพาะ สอง ขยายกลุ่มเป้าหมาย และสาม ขยายตลาด” นางสุวิภากล่าว

แผนการขยายเครือข่ายการให้บริการของศูนย์บ่มเพาะ จะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาแนวคิดของศูนย์บ่มเพาะได้กระจายลงไปสู่เครือข่ายหลากหลายที่ และทุกที่ต่างให้ความสนใจ พร้อมที่จะจัดตั้งศูนย์ของตนเองขึ้นมา และหลายแห่งได้ใช้ศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คเป็นต้นแบบ ดังนั้นในปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คจะเร่งเข้าไปสนับสนุนศูนย์บ่มเพาะของชุมชนต่างๆ ให้เข้มแข็ง พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์ และนำบริการต่างๆ เข้าหาชุมชนเหล่านั้นโดยตรง ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีเครือข่ายทางด้านเทคโนโลยีที่ร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คอย่างน้อย 10 ราย

สำหรับสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่เติบโตขึ้นอย่างมาก และเป็นอนาคตใหม่ของการส่งเสริม โดยเฉพาะสังคมของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งตอนนี้ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในไทยหลายจุด ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้วางแผนการให้บริการต่อเชื่อมเข้าไปหาชุมชนเหล่านี้โดยตรง ซึ่งจะทำให้บริการของศูนย์บ่มเพาะกลายเป็นจุดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ถือเป็นการนำบริการเข้าสู่ผู้ที่ต้องการได้รับการ
ส่งเสริมโดยตรง

ด้านการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ จะพบว่ากลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่ศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คจะมุ่งเน้นผู้ถูกบ่มเพาะจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีแนวคิดการจัดทำซอฟต์แวร์ที่ดี แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คได้เริ่มทดลองแนวคิดใหม่นั่นคือ การสนับสนุนผู้สนใจที่มาจากภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์โดยตรงให้หันมาสร้างบริการใหม่ๆ ด้วยไอที และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งผลการทดลองได้ผลดีเป็นอย่างมาก ทำให้ทิศทางในปีนี้ของซอฟต์แวร์พาร์คจะเข้าไปเพิ่มการส่งเสริมในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ตรงกับทิศทางของซอฟต์แวร์พาร์ค ในโครงการยกระดับวิสาหกิจไทยด้วยไอที หรือ Uplift Thai Economy through IT

ด้านการขยายตลาด จัดเป็นแนวทางใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาอีกคือ การนำผู้ที่ถูกบ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คเข้าร่วมทำงานกับสมาชิกของศูนย์บ่มเพาะอื่นที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีไปเชื่อมต่อยอดกับธุรกิจของตนเอง โดยตัวอย่างจากปีที่ผ่านมาซอฟต์แวร์พาร์คสามารถสร้างโครงการต้นแบบคือ การสร้างซอฟต์แวร์การบริหารธุรกิจอัญมณี ซึ่งมาจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของศูนย์บ่มเพาะซอฟต์แวร์พาร์คกับกลุ่มธุรกิจอัญมณีในโครงการศูนย์บ่มเพาะอัญธานี ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีความสนใจจากศูนย์บ่มเพาะอื่นๆ ที่อยากนำรูปแบบนี้ไปสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับธุรกิจตนเองขึ้น คาดว่าภายในปีนี้จะมีโครงการเช่นนี้อย่างน้อย 2-3 โครงการ และจะสร้างความแข็งแกร่งและมูลค่าทางตลาดให้กับธุรกิจนั้นๆ ขึ้นอีกจำนวนมาก

“โครงสร้างใหม่หรือ New Model ของซอฟต์แวร์พาร์คที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากจากได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลายเป็นชุดประสบการณ์หรือ Best Practice ที่ทำให้กลายเป็นแนวทางสำคัญของศูนย์บ่มเพาะในปีนี้ ถือเป็นโอกาสใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งเสริมธุรกิจซอฟต์แวร์” นางสุวิภากล่าว

ในส่วนของการบริการของศูนย์บ่มเพาะเดิม หลายปีที่ผ่านมากระบวนการสนับสนุนทางด้านการตลาดจะโดดเด่นอย่างมาก แต่ในปีใหม่นี้ทางศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คจะเพิ่มความเข้มข้นในการเป็นสะพานเชื่อมทางด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ด้านการหาแหล่งทุน ด้านกฎหมาย ด้านการเจรจาทางธุรกิจ ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ที่ต้องการขยายกิจการ หรือต้องการปรับระบบกิจการของตนเองใหม่ มีความสามารถในการดำเนินการมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายให้ศูนย์บ่มเพาะนี้จะต้องสร้างความสำเร็จให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่ถูกบ่มเพาะเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 20%

สำหรับผลงานของศูนย์บ่มเพาะซอฟต์แวร์พาร์คที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้างนั้น โครงการนี้ได้สร้างต้นแบบการเป็นศูนย์บ่มเพาะเฉพาะทาง แบบครบวงจร ทำให้โครงการศูนย์บ่มเพาะทั่วประเทศใช้เป็นกรณีตัวอย่าง มีผู้บ่มเพาะกว่า 200 รายในช่วง 7 ปี กว่า และ 95% อยู่รอดกลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์หลักของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างขีดความสามารถ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมและบริการอื่นๆ โดยเฉพาะปี 2551 สามารถสร้างรายได้ทางธุรกิจให้กับประเทศ เติบโตสูงกว่าเดิม 50% จากยอดรวมการขายซอฟต์แวร์ทั้งหมด นับรวมการสร้างรายได้ทั้งหมดของโครงการตลอด 7 ปีกว่า 300 ล้านบาท และสร้างอัตราการเติบโตของการจ้างงานให้กับบุคลากรของวงการเฉลี่ยปีละ 105%

ศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คได้สร้างมาตรฐานคุณภาพการผลิตซอฟต์แวร์ ด้วยการทำให้ผู้ถูกบ่มเพาะในโครงการได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีระดับชาติและนานาชาติมากมาย ตลอด 7 ปี มีสมาชิก 15 รายคว้าได้ 31 รางวัล จาก 9 โครงการประกวด กลายเป็นสะพานเชื่อมสำคัญ ที่ทำให้แหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาต่อยอดสร้างธุรกิจเทคโนโลยีในไทยจำนวนมาก

ส่วนผลงานเด่นในรอบปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สมัครเข้าโครงการนี้เติบโตขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการให้การยอมรับมากขึ้น อันเนื่องมาจากประวัติการบ่มเพาะที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในรุ่นก่อนหน้านี้

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2548 ทางสสว.ได้ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะของซอฟต์แวร์พาร์คในการสนับสนุนผู้ประกอบการมากกว่า 30 ราย มีผู้เข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจหลากหลายตั้งแต่บัณฑิตจบใหม่, ผู้ว่างงานและประกอบอาชีพอิสระเจ้าของคนเดียว, พนักงานบริษัทเอกชน, อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สำคัญเป็นผู้ประกอบการ จัดตั้งธุรกิจไม่เกิน 2 ปี ทั้งในรูปแบบคณะบุคคล หรือในรูปแบบบริษัทฯ สามารถสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 50 ล้านบาท

มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 100 ตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถจัดตั้งธุรกิจเพื่อจดทะเบียนกับทางราชการ อาทิ บัณฑิตจบใหม่, ผู้ว่างงานและประกอบอาชีพอิสระเจ้าของคนเดียว เป็นต้น เมื่อได้เข้ามารับการบ่มเพาะธุรกิจกับซอฟต์แวร์พาร์ค ก็ประสบความสำเร็จได้

ในแผนงานใหม่ของซอฟต์แวร์พาร์คนี้ สสว. ยังให้การสนับสนุนในการพัฒนาระบบการบ่มเพาะธุรกิจ ประเภทธุรกิจพัฒนาและบริการด้านซอฟต์แวร์ ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ให้สามารถช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการไทยได้อย่างมีศักยภาพต่อไป โดยนอกจากจะให้การสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณแก่ศูนย์บ่มเพาะฯ แล้ว สสว.ยังมีกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบ่มเพาะ อาทิ กิจกรรมสัมมนา อบรมความรู้เฉพาะด้านแก่ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ศูนย์บ่มเพาะฯ เนื่องจากเชื่อว่าปัจจัยความสำเร็จของการบ่มเพาะวิสาหกิจที่สำคัญคือ บุคลากรที่มีความชำนาญ มีองค์ความรู้ในสาขาอุตสาหกรรมนั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมประสานเครือข่ายในระบบบ่มเพาะฯ เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจด้วย