จากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 สามารถนำเงินต้นมาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 300,000 บาท เพื่อช่วยเหลือตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบกับภาวะชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยเร่งการตัดสินใจการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค และน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามมา อย่างไรก็ตามแม้ว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ จะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ทำให้สถาบันการเงินได้ปรับกฎเกณฑ์ เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาคุณสมบัติและอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินต่างปรับลดเป้าการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 นี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 มากนัก แต่การดำเนินธุรกิจยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ยังคงมีความเข้มข้น เมื่อสถาบันการเงินต่างหันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียวกัน คือ กลุ่มลูกค้าที่มีความพร้อมด้านการเงินที่กำลังจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ทำให้สถาบันการเงินยังคงต้องทำแคมเปญผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อจูงใจลูกค้ากลุ่มนี้ให้มาใช้บริการของตน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2551 และวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 ดังนี้
ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2551: ชะลอตัว…ผลจากเศรษฐกิจ
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบปี 2551 ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 1,583,084 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2550 ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงอย่างมาก สาเหตุน่าจะมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศ ที่เริ่มส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจไทย จนเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกบางประเภทและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และเริ่มมีผลมาสู่การจ้างงานในภาคธุรกิจเหล่านั้น อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และปัจจัยลบดังกล่าวทำให้สถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ในปี 2551 ทรงตัว ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 867,363 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.5 ใกล้เคียงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2550 แต่ยังคงมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ ทั้งนี้สาเหตุที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวน่าจะมาจาก การที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการทำการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งคงยังใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการเดินหน้าทำตลาด รวมถึงการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา
ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจในปี 2551 ยังคงชะลอลง ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 715,018 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ในปี 2550 ทั้งนี้สาเหตุของการชะลอตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการชะลอการทำแคมเปญการตลาดลงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ลูกค้าของกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระดับปานกลางลงมา และมีมูลค่าการขอสินเชื่อที่ต่ำกว่า อีกทั้งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลูกค้ากลุ่มนี้จะค่อนข้างมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อปัจจัยลบต่างๆ ที่มีอยู่
แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2552 : สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมของระบบในปี 2552 น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.8 หรือมีมูลค่าประมาณ 1,690,079 ล้านบาท ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2551 ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 10.5 หรือมีมูลค่าประมาณ 958,500 ล้านบาท ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2551
ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 ดูเหมือนว่าจะมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี และการขยายระยะเวลามาตรการการลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนอง เดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2552 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553
นอกจากนี้ในช่วงเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.25 ทำให้ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 6.50 ต่อปี จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.25-0.50 ทำให้ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ย MLR ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งอยู่ที่ร้อยละ 6.75-6.50 ต่อปี และมีแนวโน้มที่จะลดลงในระยะข้างหน้าได้อีก
ทั้งนี้หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ ปัจจัยบวกดังกล่าวจะเป็นแรงหนุนที่ดีให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการเติบโต แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหาอย่างนัก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ภาคธุรกิจส่งออกบางประเภทที่จำนวนการสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้มีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากและโรงงานบางแห่งได้ปิดกิจการลง และเริ่มส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศยังคงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยที่ยาวนาน ซึ่งจะสะท้อนกลับมายังการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ภาวะการจ้างงาน และรายได้ของผู้บริโภคในประเทศ และเป็นแรงกดดันต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงความสามารถในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในผู้บริโภคบางกลุ่มอ่อนแอลง นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนรวมถึงผู้บริโภค ทำให้คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 น่าจะขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ 0.0-1.2 เทียบกับของปี 2551 ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.9
ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเศรษฐกิจ สถาบันการเงินคงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ในปีนี้สถาบันการเงินจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรวมถึงการปรับระบบการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ดังนี้
การเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ แม้ว่าสถาบันการเงินจะต้องการขยายฐานสินเชื่อก็ตาม แต่ในภาวะที่ผู้บริโภคเผชิญกับความเสี่ยงรุมเร้า โดยเฉพาะความมั่นคงในหน้าที่การงาน และระดับรายได้ในระยะข้างหน้า สถาบันการเงินจึงต้องให้มาเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่นคงทั้งสถานะการงาน และรายได้ การอนุมัติสินเชื่อในปีนี้จึงเน้นคุณภาพของลูกค้ามากขึ้น
การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อที่นอกจากจะทำการตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโรแล้ว สถาบันการเงินยังได้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อป้องกันการเกิดการปลอมแปลงเอกสาร ที่อาจจะส่งผลต่อคุณภาพของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระบบในภายหลังได้
การจัดระบบการให้คะแนนภายในองค์กร สถาบันการเงินบางแห่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้คะแนน (Credit Scoring) เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ โดยให้เข้ากับสภาวะปัจจัยเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ระบบการให้คะแนนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้
เคร่งครัดการปล่อยวงเงินสินเชื่อ สถาบันการเงินจะปล่อยวงเงินสินเชื่อตามความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้กู้แต่ละราย โดยขั้นพื้นฐานนั้นสถาบันการเงินจะคำนวณจากภาระรายจ่ายละรายได้ของผู้กู้ แม้ว่าสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อสูงสุดร้อยละ 80-90 ของราคาประเมินหรือราคาขายก็ตาม แต่หากคุณสมบัติของผู้กู้ไม่ผ่านเกณฑ์ ผู้กู้อาจจะได้เพียงร้อยละ 70 หรือน้อยกว่าตามวงเงินที่ต้องการ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องพึ่งพาเงินออมของตนมากขึ้นในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้สถาบันการเงินอาจะมีการปรับระบบราคาประเมินที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่ราคาที่อยู่อาศัยได้ถูกผลักดันขึ้นไปสูงตามกลไกตลาดในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่ในปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยบางแห่งอาจจะมีการปรับลดลง เนื่องมาจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางรายอาจมีการปรับลดราคาลงเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค
การจัดระบบการบริหารและติดตามทวงถามหนี้ นอกจากสถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ในปีนี้สถาบันการเงินคงจะปรับระบบการติดตามดูแลพอร์ตสินเชื่อของลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินคงจะทำการติดต่อไปยังลูกค้า เมื่อลูกค้าเริ่มผิดนัดชำระหนี้ เพื่อสอบถามถึงปัญหาและเตือนให้ลูกค้าชำระหนี้ และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
สถาบันการเงินใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยนำตลาด…ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ
แม้ว่าสถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่การดำเนินธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ และการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินที่ยังคงความเข้มข้นในการแย่งชิงฐานลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อที่อยู่อาศัยและเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณที่จำกัด นอกจากการแย่งชิงฐานลูกค้าใหม่แล้วสถาบันการบางแห่งได้หันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อ Refinance ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสถาบันการเงินคู่แข่ง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 สถาบันการเงินน่าจะยังคงรอดูทิศทางของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการตอบรับของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ภายหลังจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งกลยุทธ์การตลาดในปี 2552 น่าจะประกอบไปด้วย
ชูกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำระยะสั้น แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาแต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีการทำการศึกษาความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระสินเชื่อ ดังนั้นเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการของตน ในสภาวะที่สถาบันการเงินต่างแข่งขันกันแย่งชิงกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษจึงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่จะออกมายังคงเน้นที่ความหลากหลายของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อมีทางเลือกมากขึ้นและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระของผู้บริโภคทุกกลุ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าไปใช้บริการสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่น โดยชูกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำพิเศษ ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปัจจุบัน เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 ในช่วง 1-6 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันไดในช่วง 1-3 ปีแรกของสัญญา เป็นต้น
การแข่งขันในเรื่องของระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินบางแห่งได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการแข่งขันสูง และลูกค้ามีทางเลือกในการใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่นที่พร้อมที่จะเสนอข้อเสนอให้แก่ลูกค้าเช่นเดียวกัน (โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย)
เพิ่มช่องทางการขยายสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ช่องทางการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยังคงเน้นการออกงาน Money Expo โดยเริ่มในวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2552 ที่เมืองพัทยาเป็นอันดับแรก จะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินต่างระดมแคมเปญการตลาดอย่างหนัก เสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย จูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และข้อเสนออื่นๆ เพื่อจูงใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการสินเชื่อ
ทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สถาบันการเงินยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
บทสรุปและข้อคิดเห็น
เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2552 จะเป็นปีที่สถาบันการเงินจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ แต่ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และอาจจะส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในระบบได้ ดังนั้นสถาบันการเงินจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรวมถึงการปรับระบบการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมของระบบในปี 2552 น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.8 หรือมีมูลค่าประมาณ 1,690,079 ล้านบาท ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2551 ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 น่าจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 10.5 หรือมีมูลค่าประมาณ 958,500 ล้านบาท ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2551
สำหรับทิศทางการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2552 นี้ คงจะดำเนินไปอย่างเข้มข้นในการแย่งชิงฐานลูกค้า ถึงแม้สถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่สถาบันการเงินยังคงต้องมุ่งทำการตลาดขยายฐานลูกค้าต่อไป โดยนอกจากสถาบันการเงินจะเน้นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มซื้อบ้านแล้ว สถาบันการเงินบางแห่งยังได้ให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินเชื่อ Refinance ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสถาบันการเงินคู่แข่ง ซึ่งสถาบันการเงินได้ใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำพิเศษในการจูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ลูกค้าที่ผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากกว่า 3 ปี หากต้องการเปลี่ยนสถาบันการเงิน อาจจะต้องศึกษาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผ่อนชำระอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำมาคำนวณถึงเม็ดเงินที่จะช่วยให้ประหยัดค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระยะยาว โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในช่วงขาลง
ทั้งนี้ภายใต้ภาวะที่สถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในขณะนี้ อาจจะทำการปรึกษากับสถาบันการเงินถึงรายละเอียดและขั้นตอนการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อดูว่าผู้บริโภคจะได้รับวงเงินสินเชื่อได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ต้องผ่อนชำระเป็นจำนวนเงินต่อเดือนมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อเอง เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินดาวน์ในกรณีที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ หรือไม่ได้วงเงินตามที่ต้องการ และไม่เกินความสามารถของผู้บริโภค