ตลาดนมพร้อมดื่มปี’52: แนวโน้มการเติบโตอาจติดลบ

จากปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์นมปี’52 ที่มีแนวโน้มหดตัว โดยมีสาเหตุจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมต้องประสบปัญหาต้นทุนน้ำนมดิบในประเทศมีราคาสูง ขณะที่ราคานำเข้านมผงขาดมันเนยซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนมพร้อมดื่มกลับมีแนวโน้มราคานำเข้าที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้นมผงขาดมันเนยนำเข้าแทนการใช้น้ำนมดิบภายในประเทศ จนส่งผลให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาน้ำนมดิบที่ผลิตภายในประเทศล้นตลาดอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ทำให้ผู้บริโภคเน้นประหยัดมากขึ้น และการปรับขึ้นราคานมพร้อมดื่มส่งผลให้ผู้บริโภคลดปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์นม อีกทั้งปัญหาการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมของจีนที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมาก ประกอบกับในช่วงต้นปี 2552 เกิดกระแสข่าวความไม่โปร่งใสในโครงการนมโรงเรียน จากปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับการนำนมโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานไปแจกจ่ายให้เด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ล้วนเป็นปัจจัยซ้ำเติมตลาดผลิตภัณฑ์นม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2552 ตลาดผลิตภัณฑ์นมจะมีมูลค่าประมาณ 32,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าการเติบโตอาจจะติดลบร้อยละ 0-2 เทียบกับปี 2551 ที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 2-3 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมของไทยโดยพิจารณาปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุนของธุรกิจ และเสนอแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ โดยมีประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ปี’51 การปรับราคาน้ำนมดิบและราคาจำหน่ายนม…กระทบตลาดผลิตภัณฑ์นม
สถานการณ์ปี 2551 เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ทำให้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2551 ภาครัฐมีมติอนุมัติปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรจาก 14.50 บาท/กิโลกรัม เป็น 18 บาท/กิโลกรัม และปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการในโครงการนมโรงเรียน โดยนมยูเอชทีปรับเพิ่มขึ้น 1.34 บาท/กล่อง/ซอง และนมพาสเจอร์ไรซ์ปรับเพิ่มขึ้น 1.43 บาท/ถุง รวมทั้งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมอนุมัติให้ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์นมในตลาดทั่วไป (นมพาณิชย์) สามารถปรับราคานมพร้อมดื่มตั้งแต่ร้อยละ 1.14-23.10 ตามต้นทุนของผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์นมที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันในปี 2551 ราคานำเข้านมผงขาดมันเนยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมนำมาผลิตเป็นนมพร้อมดื่มก็ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการที่ออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายสำคัญของโลกต้องประสบปัญหาความแห้งแล้ง ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์นมลดลง ซึ่งผลกระทบของการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบ และราคานมผงขาดมันเนยนำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์นมหันมาใช้น้ำนมดิบที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2551 ผลผลิตน้ำนมดิบภายในประเทศมีปริมาณทั้งสิ้น 827,252 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2550 ซึ่งมีปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบ 822,211 ตัน

ขณะเดียวกันในปี 2551 การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมของไทยหดตัวเล็กน้อย โดยมีปริมาณการนำเข้า 0.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 537.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณนำเข้าลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.4 ขณะที่ด้านมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ซึ่งแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์นมสำคัญของไทย ได้แก่ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอินเดีย เป็นต้น สำหรับราคานำเข้านมผงขาดมันเนยจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ (USDA) ระบุว่า ราคานมผงขาดมันเนยในตลาดโลก ณ เดือน ธันวาคม ปี 2551 มีราคาอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวลดลงจากในช่วงกลางปี 2550 ซึ่งมีราคาสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือลดลงถึงร้อยละ 150 เนื่องจากการที่จีนมีความต้องการบริโภคนมลดลงจากปัญหาการปนเปื้อนสารเมลามีนและความหวาดวิตกในการบริโภคนมของผู้บริโภคนมทั่วโลก และแนวโน้มราคานมผงขาดมันเนยนำเข้าปี 2552 จะลดลงต่อเนื่องจากปี 2551

ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยยังคงมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2551 การส่งออกคิดเป็นมูลค่า 137.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.4 ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์นมของไทยที่ส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในรูปครีมหรือนมผงในรูปของเหลวหรือข้นเติมน้ำตาล เนยที่ได้จากนม นมผงขาดมันเนย นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต เป็นต้น สำหรับตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์นมที่สำคัญของไทยอยู่ในภูมิภาคอาเซียนและประเทศแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง เป็นต้น

จากผลกระทบของการปรับราคาต้นทุนน้ำนมดิบ และการปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในประเทศดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศลดปริมาณการบริโภคนมพร้อมดื่ม ประกอบกับในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา จีนประสบปัญหาวิกฤตการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมที่จำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ซ้ำเติมจนทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มปรับตัวลดลงไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมต่างคาดการณ์ว่า ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดจะทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 ไปจนถึงช่วงต้นปี 2552

ปี’52 แนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์นมยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง
แนวโน้มปี 2552 คาดว่า ตลาดผลิตภัณฑ์นมจะมีมูลค่าประมาณ 32,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าการเติบโตอาจจะติดลบร้อยละ 0-2 เทียบกับปี 2551 ซึ่งมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2-3 อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 แม้สถานการณ์ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในส่วนของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเผชิญปัญหาน้ำนมดิบในประเทศมีราคาสูง ขณะที่ราคานำเข้านมผงขาดมันเนยซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจนมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนมพร้อมดื่มมีแนวโน้มปรับราคาลดลงตามราคานมผงขาดมันเนยในตลาดโลก ทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าวหันไปใช้วัตถุดิบนมผงขาดมันเนยนำเข้าเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องประสบปัญหาน้ำนมดิบภายในประเทศล้นตลาดอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2552 ขณะเดียวกันตลาดผลิตภัณฑ์นมได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัว ประกอบกับการปรับขึ้นราคานมพร้อมดื่ม ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์นมลดลง ขณะเดียวกันปัญหาการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมของจีนที่เกิดขึ้นในปลายปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนมทั่วโลก ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2552 เกิดปัญหาเด็กนักเรียนบริโภคนมโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ จนกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ ดังนั้น ผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดผลิตภัณฑ์นมในปี 2552

ดังนั้น จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 รัฐบาลได้อนุมัติแนวทางการแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 2,030 ล้านบาทให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการจัดซื้อนมพร้อมดื่มให้แก่เด็กนักเรียนจากเดิมที่ครอบคลุมตั้งแต่นักเรียนระดับอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 เพิ่มเป็นครอบคลุมถึงนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 และประถมศึกษาปีที่ 6 โดยพิจารณาระยะเวลาของโครงการนมโรงเรียนตามเกณฑ์เดิมคือ 264 วัน ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป ซึ่งก็จะทำให้มีเด็กนักเรียนที่ได้ดื่มนมในโครงการนมโรงเรียนจากเดิมจำนวน 5 ล้านคน และมีจำนวนเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคน รวมเป็นเด็กนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนทั้งสิ้น 7 ล้านคน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว จะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป ซึ่งอาจจะไม่สามารถดูดซับปริมาณน้ำนมดิบล้นตลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งวางมาตรการที่เหมาะสมในการบรรเทาปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตน้ำนมดิบในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอุตสาหกรรมนมของไทยทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบภายในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการในธุรกิจนมยังคงประสบปัญหาต้นทุนน้ำนมดิบมีราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าที่ไทยต้องมีการเปิดตลาดการนำเข้าภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลกและข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และไทยกับนิวซีแลนด์ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนมต่างหันไปพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบในรูปของนมผงขาดมันเนยเพิ่มขึ้น (นมผงขาดมันเนยเป็นสินค้านำเข้าสำคัญมีสัดส่วนร้อยละ 37 ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดของไทย) เนื่องจากนมผงขาดเนยที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ประกอบในธุรกิจนมหันมาใช้นมผงขาดมันเนยเป็นวัตถุดิบทดแทนการใช้วัตถุดิบน้ำนมดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศมากขึ้น และในปี 2552 ไทยมีโควตาการนำเข้านมผงขาดมันเนยรวมทั้งหมดปริมาณ 57,200 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 5 โดยแบ่งการจัดสรรการนำเข้าเป็นปีละ 2 ครั้ง

ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมยังเผชิญหลายปัจจัยความเสี่ยง แต่ตลาดผลิตภัณฑ์นมยังมีโอกาสเติบโตได้ เนื่องจากความต้องการบริโภคยังมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมขึ้นกับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งจากตลาดนมเติบโตตามกระแสรักษ์สุขภาพของผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งอัตราการบริโภคนมของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำไม่ถึง 20 ลิตร/คน/ปี ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าว จะช่วยให้ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมของตลาดภายในประเทศยังมีโอกาสขยายตัวต่อไป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในธุรกิจนมมีการกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการที่ตลาดนมมีผู้ประกอบการมากราย และการแข่งขันในตลาดเป็นไปอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการเองต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้โดยการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนวางตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อขยายฐานผู้บริโภคให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์นมยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาครัฐให้การสนับสนุนและรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคนม รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการบริโภคนมโดยมีการสนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการนมโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการบริโภคนมให้มากขึ้น ตลอดจนมีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถขายผลผลิตได้ ซึ่งมีส่วนในการผลักดันให้ตลาดผลิตภัณฑ์นมเติบโตต่อไปได้ และปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเขตการค้าเสรีผลิตภัณฑ์นมกับต่างประเทศ ซึ่งการเปิดการค้าเสรีภายใต้ความตกลง FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และไทยกับนิวซีแลนด์ ซึ่งไทยจะต้องทยอยลดภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนยให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2568 ซึ่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำและมีปริมาณโปรตีนในน้ำนมที่สูงกว่านมของไทย ดังนั้น ผลของการเปิดเสรีดังกล่าว จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในธุรกิจนมที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า เนื่องจากนมนำเข้ามีราคาต่ำกว่าน้ำนมดิบที่ผลิตจากภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนมที่ใช้วัตถุดิบนมภายในประเทศเสียเปรียบ เนื่องจากมีต้นทุนราคาน้ำนมดิบภายในประเทศสูงกว่าราคาวัตถุดิบนมที่นำเข้าจากต่างประเทศ

แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ
สำหรับแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในการเร่งสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
เร่งขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์นมและกระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจนมต้องให้ความสำคัญในการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยยังคงอยู่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก แต่ไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ ได้อีกมาก เช่น จีน ไต้หวัน ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศในแถบแอฟริกา เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มมูลค่าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวสูง สำหรับผลิตภัณฑ์นมของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ นมเปรี้ยว นมแคลเซียมสูง นมยูเอชที และโยเกิร์ต เป็นต้น

ขยายตลาดในประเทศให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากแนวโน้มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมของไทยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร อีกทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์นมเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนมควรหันมาขยายตลาดผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศเพื่อขยายฐานผู้บริโภคให้กว้างขวางขึ้น

ขยายการผลิตผลิตภัณฑ์นมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจนมควรเร่งกระตุ้นตลาดโดยการวางตลาดผลิตภัณฑ์นมรสชาติหลากหลาย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น ลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งการปรับขนาดและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มมากขึ้น เป็นต้น

รักษาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์นมและเร่งยกระดับการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์นมของไทย ทั้งนี้ ไทยควรเร่งสร้างความเชื่อถือและทำให้ผู้บริโภคยอมรับและปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์นมจากไทย โดยอาศัยประโยชน์จากการที่จีนต้องเผชิญปัญหาวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญในการตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นม จนทำให้เด็กทารกในจีนต้องเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสินค้านมที่ผลิตในจีน และทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเกิดความหวาดวิตกและขาดความเชื่อมั่นในการบริโภคนม อย่างไรก็ตาม ไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญและมีคุณภาพมาตรฐานสินค้าอาหารเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจนมของไทยควรเร่งอาศัยโอกาสในการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยให้มากขึ้น

ผู้ประกอบการควรอาศัยประโยชน์จากช่องทางการขยายตลาดจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจนมของไทยควรเร่งสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเป็นการขยายช่องทางการตลาดทั้งตลาดในประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็นฐานในการผลิตผลิตภัณฑ์นมเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2552 ตลาดผลิตภัณฑ์นมจะมีมูลค่าประมาณ 32,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าการเติบโตอาจจะติดลบร้อยละ 0-2 เทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตร้อยละ 2-3 โดยผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัว และการปรับขึ้นราคาจำหน่ายนมพร้อมดื่ม ส่งผลให้ความต้องการบริโภคนมลดลง ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตสารเมลามีนปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นมของจีนในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคนมของผู้บริโภคทั่วโลก นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมยังมีปัญหาน้ำนมดิบภายในประเทศมีราคาสูง ขณะที่ราคานำเข้านมผงขาดมันเนยซึ่งนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตนมพร้อมดื่มมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคานมในตลาดโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการนมหันไปใช้วัตถุดิบนมผงขาดมันเนยแทนการใช้น้ำนมดิบในประเทศ ดังนั้น จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ล้วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนม จนทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาปริมาณน้ำนมดิบล้นตลาดซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และผู้ประกอบการในธุรกิจนมก็ยังมีการกระตุ้นตลาดอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งรัฐบาลไทยก็มีนโยบายสนับสนุนการรณรงค์ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสำคัญในการบริโภคนมมากขึ้น ขณะเดียวกันการเปิดเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้ตลาดผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ โดยจะเอื้อต่อผู้ประกอบการที่ใช้นมผงขาดมันเนยที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นวัตถุดิบทั้งการนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจนมจึงควรมุ่งขยายตลาดส่งออกและกระจายตลาดไปยังตลาดส่งออกใหม่ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็หันมาขยายฐานผู้บริโภคตลาดภายในประเทศให้กว้างขวางขึ้น ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมให้มีความหลากหลาย และปรับปรุงรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรเร่งยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์นมเพื่อสร้างความเชื่อถือในตลาดโลก และใช้โอกาสจากการที่จีนเผชิญวิกฤตการปนเปื้อนสารเมลามีนในนม ตลอดจนอาศัยประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสดีในการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ตลาดผลิตภัณฑ์นมของไทยเติบโตได้ต่อไปในระยะยาว