จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด แต่มีสาเหตุจากปัจจัยเบี่ยงเบนหลายประการ โดยเฉพาะผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า และการส่งออกทองคำจำนวนมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวของการส่งออกจะยังคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ โดยประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ มีดังนี้
? การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีมูลค่า 11,736 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 11.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าเดือนมกราคมที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 26.5 แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้วพบว่าเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน ที่เทศกาลตรุษจีนตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในปีนี้ไปอยู่ในเดือนมกราคม ทำให้จำนวนวันที่มีการทำธุรกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้มากกว่าปีก่อนที่มีวันหยุดยาวช่วงตรุษจีน นอกจากนี้ ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากทำให้มีประชาชนมาขายทองกับร้านค้าทองเป็นจำนวนมาก ผู้ค้าทองจึงมีการขายทองคำออกไปยังต่างประเทศเพื่อหมุนสภาพคล่อง สำหรับในด้านการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 8,159 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงถึงร้อยละ 40.3 ยิ่งดิ่งลงรุนแรงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 37.6 และจากผลของการนำเข้าที่หดตัวลงแรงกว่าการส่งออกนี้ จึงทำให้ดุลการค้าเกินดุลอย่างมากที่ 3,577 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ดุลการค้าเกินดุล 4,954 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551
? มูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำหดตัวสูง โดยสินค้ารายการสำคัญยังลดลงอย่างหนัก ตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีปัจจัยเบี่ยงเบนทำให้ต้องระมัดระวังในการตีความ โดยผลของช่วงเวลาตรุษจีนที่เหลื่อมเดือนกันระหว่างปีนี้กับปีที่แล้วทำให้การพิจารณาตัวเลขส่งออกที่เหมาะสมควรใช้ค่าเฉลี่ยของของทั้งสองเดือน ขณะที่การมองความสามารถในการส่งออกที่แท้จริงควรแยกผลของการส่งออกทองคำออกไป ซึ่งจากการวิเคราะห์ตัวเลขการส่งออกของไทยโดยเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกที่ไม่รวมทองคำ พบว่าหดตัวลงร้อยละ 27.4 โดยในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวร้อยละ 24.6 เป็นการติดลบสูงต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 30.0 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ไทยมีการส่งออกทองคำมูลค่าสูงถึง 1,865 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15.9 ของการส่งออกโดยรวมทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 7.4 ในเดือนมกราคม และร้อยละ 1.9 ในปี 2551) และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1148 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกรายการสำคัญอันดับต้นๆ ที่ยังหดตัวสูง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวลงร้อยละ 29.7 (จากร้อยละ 37.4 ในเดือนก่อน) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.0 (จากร้อยละ 36.2 ในเดือนก่อน) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 34.0 (จากร้อยละ 52.8 ในเดือนก่อน) ยางพารา หดตัวร้อยละ 37.6 (จากร้อยละ 51.3 ในเดือนก่อน) ส่วนสินค้าสำคัญอันดับต้นๆ ที่มีการส่งออกขยายตัวเป็นบวกมีเพียงข้าวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 (จากที่หดตัวร้อยละ 23.7 ในเดือนก่อน) และอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 (จากที่หดตัวร้อยละ 30.6 ในเดือนก่อน) เท่านั้น จากทิศทางดังกล่าว ทำให้คาดว่าการส่งออกยังไม่มีทีท่าที่จะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน
? สำหรับแนวโน้มในเดือนถัดๆ ไป ปัจจัยที่มีผลเบี่ยงเบนตัวเลขการส่งออกน่าจะลดน้อยลงไป ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะมีผลต่อทิศทางการส่งออกยังคงเปราะบาง ในประเด็นเกี่ยวกับการส่งออกทองคำ คาดว่าคงมีผลน้อยลง เนื่องจากหลังจากราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 1,005.40 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ (ต่ำกว่าราคาสูงสุดตลอดกาลซึ่งเคยทำไว้ในเดือนมีนาคมปี 2551 ที่ 1,030.80 ดอลลาร์ฯ เพียงร้อยละ 2.5) ก็ได้มีทิศทางปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง การตื่นขายทองของประชาชนจึงลดน้อยลง ขณะที่หากพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศ แม้ว่าตั้งแต่สัปดาห์ก่อน จะเริ่มมีกระแสการปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศในตลาดการเงิน หลังจากสถาบันการเงินของสหรัฐฯ หลายแห่งเปิดเผยว่ามีผลกำไร และตัวเลขการก่อสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ดีขึ้นเหนือความคาดหมาย แต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯ และกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ ไม่ว่ายูโรโซน หรือญี่ปุ่น ยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นจะยังคงเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ภายในปีนี้มีน้อยลง
? นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าที่หดตัวลงอย่างมาก พบว่ากลุ่มสินค้าที่หดตัวสูงเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่ลดลงถึงร้อยละ 48.8 ซึ่งอาจถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อนำมาใช้ในการผลิต และในด้านคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าซึ่งเป็นภาพสะท้อนของภาวะตลาดยังคงไม่ดีขึ้นเช่นกัน จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของไทยจะยังหดตัวสูงในระดับประมาณร้อยละ 20 ต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 2 ขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก ยิ่งถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกไปเป็นปีหน้า ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2552 มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ล่าสุดที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจหดตัวลงรุนแรงกว่าประมาณการใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 0.6 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณร้อยละ 13.5-20.0 จากปีก่อนหน้า (ลดลงจากประมาณการในเดือนก่อนที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 10.0-16.0)
โดยสรุป ตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หากไม่นับรวมทองคำซึ่งไม่ใช่รายการที่สะท้อนความสามารถในการส่งออกที่แท้จริงของไทย พบว่าหดตัวร้อยละ 24.6 ยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่การส่งออกไม่รวมทองคำหดตัวร้อยละ 30.0 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกจะยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนก่อน โดยการส่งออกของไทยอาจจะยังหดตัวสูงในระดับประมาณร้อยละ 20 ต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 2 ขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 ว่าอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 13.5-20.0 จากปีก่อนหน้า
สำหรับการปรับตัวของธุรกิจส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกยังคงมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมแผนรับมือในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกอาจจะยิ่งรุนแรงและยาวนาน ในด้านการตลาด ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพื่อปรับกลยุทธ์การผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด และควรประเมินทิศทางตลาดอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเหตุการณ์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการเงิน โดยเฉพาะในด้านสภาพคล่อง และการบริหารต้นทุนอย่างรัดกุม เพื่อประคองธุรกิจในอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากนี้
ประเด็นที่ควรติดตามคือทิศทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการในบางธุรกิจอาจมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายเม็ดเงินในโครงการเหล่านั้น ขณะเดียวกัน อาจมองหาโอกาสในตลาดใหม่ที่ยังมีศักยภาพเติบโต โดยประเทศในภูมิภาคที่ยังมีการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ คือจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยยังควรแสวงหาโอกาสในการเจาะตลาด แม้ว่าในขณะนี้การส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและอินเดียจะยังคงหดตัว แต่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าประเทศก้าวหน้าอื่นๆ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีการคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากผลของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน และรัฐบาลจีนยังกล่าวว่าพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมทุกเมื่อหากมีความจำเป็น เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 8 นอกจากนี้ การวางรากฐานตลาดสินค้าในจีนและอินเดียจะมีความหมายต่อผู้ประกอบการไทยในระยะต่อๆ เนื่องจากทั้งสองประเทศจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จีนจะก้าวแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2553