จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 2.4 ในเดือนม.ค. 2552 ซึ่งอาจทำให้มองดูเหมือนว่าตลาดแรงงานเริ่มมีเสถียรภาพ และภาวะการว่างงานอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คาด อย่างไรก็ตาม การปรับลดของอัตราการว่างงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล (Seasonal Effect) ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศยังคงเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้สถานการณ์แรงงานที่ดีขึ้นในเดือน ก.พ. 2552 ที่ผ่านมายังคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นวิเคราะห์สำคัญ มีดังนี้
การมีงานทำและการทำงานต่ำระดับในเดือนก.พ. ปรับตัวดีขึ้น … ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงถดถอยจากไตรมาส 4/2551
ผู้มีงานทำในเดือนก.พ. 2552 มีจำนวน 36.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าเดือนม.ค.ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 (Y-o-Y) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในนอกภาคเกษตรที่เติบโตเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในเดือนม.ค. มาที่ร้อยละ 3.8 ในเดือนก.พ. ในขณะที่ผู้มีงานทำในภาคเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 0.06 ในเดือนก.พ. ชะลอลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนม.ค.
แต่ตัวเลขผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. มีปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้ต้องระมัดระวังในการตีความ เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลการมีงานทำในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำในเดือนก.พ.มักจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าของทุกปี และมักจะกลับมาลดลงอีกในเดือนถัดไป ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในเดือนก.พ ทำให้ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง แม้ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนก.พ.ของปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ถึงร้อยละ 1.3 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ในช่วง 3 ปีก่อน แต่จากการวิเคราะห์ตัวเลขผู้มีงานทำในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ยังคงชะลอลงจากในช่วงไตรมาส 4/2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8
การทำงานต่ำระดับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนของผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชม.ต่อสัปดาห์ และพร้อมที่จะทำงานเพิ่มพลิกกลับมาติดลบร้อยละ 2.9 (YoY) ในเดือนก.พ. 2552 หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ในเดือนม.ค. แต่ในภาพรวมช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ภาวะการทำงานต่ำระดับยังคงรุนแรงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 (จากที่เคยติดลบร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 4/2551 พลิกกลับมาเป็นบวกร้อยละ 11.3 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้)
ภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงในเดือนก.พ. … แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลเช่นกัน
จำนวนผู้ว่างงานมีอัตราการเพิ่มที่ชะลอลง โดยมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 (Y-o-Y) ในเดือนก.พ. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 39.2 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดลงในกลุ่มผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเฉพาะในภาคเกษตร (หดตัวร้อยละ 16.0 ในเดือนก.พ. พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 418.2 ในเดือนม.ค.) และภาคบริการและการค้า (ขยายตัวร้อยละ 38.8 ในเดือนก.พ. ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 54.0 ในเดือนก่อนหน้า) ส่วนการว่างงานในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งขึ้นจากร้อยละ 44.5 (Y-o-Y) ในเดือนม.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ในเดือนก.พ.
แต่อัตราการขยายตัวของการว่างงานในเดือนก.พ.ที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านฤดูกาล ซึ่งเมื่อย้อนไปดูข้อมูลในอดีต จะพบว่าผู้ว่างงานในเดือนก.พ.มักจะลดลงจากเดือนม.ค.ของทุกปี โดยผู้ว่างงานในเดือนก.พ. 2552 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 18.7 (M-o-M) เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนที่ลดลงประมาณร้อยละ 15.7 ขณะที่การวิเคราะห์ตัวเลขผู้ว่างงานในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการว่างงานรวม (ทั้งกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และเคยทำงานมาก่อน) ขยายตัวร้อยละ 33.5 สูงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน จะพบว่าสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังคงทวีความรุนแรงกว่าในช่วงไตรมาส 4/2551 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ในไตรมาส 4/2551) โดยเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานในภาคการผลิตที่เติบโตในอัตราที่เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในช่วงไตรมาส 4/2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 50.2 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552
ขณะที่ การว่างงานในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนยังเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 13.8 (YoY) ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ว่างงานในกลุ่มนี้เป็นผู้จบการศึกษาใหม่ และไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ทำให้โอกาสในการได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานมีน้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่มีประสบการณ์ / เคยทำงานมาก่อน
นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นในทุกภาคเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันก็ยังมีอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลด้วย ทั้งนี้ แม้อัตราการว่างงานในเดือนก.พ. 2552 ที่ร้อยละ 1.9 หรือ 7.1 แสนคน จะลดลงจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 2.4 หรือ 8.8 แสนคน แต่ส่วนหนึ่งก็สะท้อนอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลเหมือนกับข้อมูลการมีงานทำและการว่างงาน ขณะที่อัตราการว่างงานดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1.5 หรือ 5.6 แสนคน และภาพรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 2.2 หรือ 8 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานของไทยทวีความรุนแรงขึ้นจากไตรมาส 4/2551 ที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1.3 หรือ 5 แสนคน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานในทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานเป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 1.4 รองลงมาเป็นภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ภาคเหนือ และภาคกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และ 0.5 ตามลำดับ ส่วนในเขตกรุงเทพฯ มีอัตราการว่างงานเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.04
แนวโน้มสถานการณ์แรงงานในระยะที่เหลือของปี 2552 ยังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง
สำหรับในเดือนมี.ค. 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สถานการณ์การจ้างงานมีโอกาสที่จะยังทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในลักษณะเดียวกันกับในเดือนก.พ. ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมในเดือนมี.ค. 2552 ลดลงเหลือ 80,000 คน จากเดือนก่อนที่มีจำนวน 101,939 คน (เป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551) ซึ่งอาจเป็นเครื่องชี้เบื้องต้นว่าตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนมี.ค.ที่จะมีการรายงานในครั้งถัดไปอาจชะลอลงได้
ส่วนสถานการณ์แรงงาน โดยเฉพาะตัวเลขว่างงานในระยะหลังจากไตรมาส 1/2552 เป็นต้นไป นอกจากจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 4 แสนคนในแต่ละปี ที่กำลังจะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจสูงเกินความต้องการของตลาดแรงงาน / หรือความสามารถในการรองรับของภาคเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังจะขึ้นกับปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) สถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยถ้าหากเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏสัญญาณบวกในลักษณะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และมีการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้นได้ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อยและไม่มีเหตุการณ์อันไม่คาดคิด รวมทั้งมีการเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ก็อาจมีผลให้การชะลอการเลิกจ้างและปัญหาการว่างงานอาจไม่รุนแรงเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผลักดันให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับร้อยละ 4.4 ในปี 2541 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สืบเนื่องจากภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ อัตราการว่างงานในช่วงที่เหลือของปีอาจจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเข้าหาระดับร้อยละ 3.0-3.7 เฉลี่ยในปี 2552 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจจะอยู่ในช่วง 1.1-1.4 ล้านคน จากในปี 2551 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.2 แสนคน