จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 การส่งออกในเดือนเมษายน 2552 หดตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการส่งออกที่หดตัวสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นทิศทางเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศสำคัญของโลก เช่น สหรัฐฯ และจีน ที่ทยอยส่งสัญญาณบวกต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมก็ยังเป็นทิศทางที่ไม่มั่นคงนัก เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศหลายด้านที่ประกาศออกมาล่าสุดยังคงมีภาพของความถดถอยของเศรษฐกิจ แม้ว่าเป็นอัตราที่ชะลอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
? การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2552 หดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 26.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 10,429 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นอัตราติดลบที่สูงขึ้นกว่าในเดือนมีนาคมที่หดตัวร้อยละ 23.1 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อน ในเดือนล่าสุดนี้การส่งออกทองคำไม่มีผลต่อภาพรวมการส่งออก โดยการส่งออกไม่รวมทองคำหดตัวร้อยละ 26.5 สำหรับในด้านการนำเข้าในเดือนเมษายนมีมูลค่า 9,834 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 36.3 ซึ่งก็เป็นอัตราที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 35.1 อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่มีมูลค่า 9,455 และเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในขณะที่การส่งออกมีมูลค่าลดลงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 595 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,101 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 21.9 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 37.3 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 7,650 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551
– สินค้าส่งออกรายการสำคัญส่วนใหญ่หดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 48.1 (จากร้อยละ 38.7 ในเดือนก่อน) ข้าว หดตัวร้อยละ 32.6 (จากร้อยละ 20.1 ในเดือนก่อน) ยางพารา หดตัวร้อยละ 54.3 (จากร้อยละ 46.9 ในเดือนก่อน) และอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ หดตัวร้อยละ 37.1 (จากร้อยละ 25.9 ในเดือนก่อน) เป็นต้น แต่สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอสิกส์ติดลบในอัตราที่ชะลอลง เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวลงร้อยละ 24.7 (จากร้อยละ 26.3 ในเดือนก่อน) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 21.4 (จากที่หดตัวร้อยละ 29.6 ในเดือนก่อน) เครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 24.0 (จากที่หดตัวร้อยละ 28.6 ในเดือนก่อน) สำหรับสินค้าที่ขยายตัวเป็นบวกในเดือนนี้ ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง เคมีภัณฑ์ หนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนไก่แปรรูปทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน สำหรับในด้านตลาดส่งออก พบว่าตลาดหลักลดลงในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 32 ขณะที่ตลาดใหม่ลดลงร้อยละ 19.5 โดยสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.7 ยุโรปร้อยละ 35.1 ญี่ปุ่นร้อยละ 29.8 และอาเซียนร้อยละ 33.4 เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกไปจีนลดลงร้อยละ 13.2 ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 14.0 ในเดือนก่อน เป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกไปยังจีน ทำให้ตลาดจีนขึ้นมาเป็นตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในเดือนนี้
– การส่งออกของไทยที่หดตัวสูงอย่างต่อเนื่องนี้นับว่าเป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยจากข้อมูลการส่งออกในเดือนเมษายน 2552 ของประเทศที่มีการรายงานออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่าประเทศที่มีการส่งออกหดตัวสูงขึ้น ได้แก่ สิงคโปร์ (การส่งออกไม่รวมน้ำมัน หดตัวร้อยละ 26.7) จีน (หดตัวร้อยละ 22.6) และเวียดนาม (หดตัวร้อยละ 11.6) ส่วนประเทศที่ติดลบน้อยลงเล็กน้อย ได้แก่ ไต้หวัน (หดตัวร้อยละ 34.8) และเกาหลีใต้ (หดตัวร้อยละ 19.6)
– แม้ว่าการส่งออกในเดือนล่าสุดยังคงหดตัวสูง แต่ก็มีสัญญาณของแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะข้างหน้า สัญญาณการนำเข้าปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นเครื่องชี้ล่วงหน้าของการเพิ่มระดับการผลิตและการส่งออกในเดือนต่อๆ ไป โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่า 4,228 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 36.4 ปรับตัวดีขึ้นจากที่มีมูลค่า 3,638 ล้านดอลลาร์ฯ และหดตัวร้อยละ 43.2 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการถึงสัญญาณดีจากบางอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่น่าจะเห็นการขยายตัวที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 2/2552 หลังเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมามีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี ที่ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 1/2552 นอกจากนี้ คำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นยังเป็นผลของระดับสต็อกของคู่ค้าที่ลดลงจากการตัดลดการผลิตอย่างรุนแรงในระยะที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปรับตัวอย่างฉับพลันเมื่อธุรกิจเผชิญภาวะตลาดที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม การติดตามสภาวะตลาดยังต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าการกลับมาของคำสั่งซื้อนี้จะหมายถึงการเริ่มฟื้นตัวของความต้องการที่แท้จริงในตลาดสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือเป็นเพียงการปรับสต็อกให้มาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และหากเป็นในกรณีหลังก็หมายความว่าการกลับมาของคำสั่งซื้ออาจเป็นภาวะชั่วคราว โดยอุปสงค์ในระยะต่อไปยังต้องขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปัญหาการว่างงานบรรเทาลง
– ทั้งนี้ สัญญาณของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าสุด แม้มีการปรับตัวดีขึ้นแต่ยังเป็นทิศทางที่ไม่มั่นคงนัก สังเกตได้จากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 พฤษภาคมพุ่งขึ้นสูงกว่าความคาดหมายของนักวิเคราะห์ การขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเดือนเมษายนลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลจากการปรับโครงสร้างในอุตสาหกรรมรถยนต์หลังค่ายรถยักษ์ใหญ่เข้าสู่กระบวนการล้มละลายก็จะกระทบต่อการจ้างงานในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม ทำให้มีแนวโน้มว่าอัตราการว่างงานจะยังคงเพิ่มขึ้นไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องชี้ว่าการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอาจยังดำเนินไปอย่างช้าๆ ส่วนยูโรโซน โดยเปรียบเทียบแล้วอาจฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่า โดยนอกจากมีแรงกดดันด้านปัญหาการว่างงานที่สูงแล้ว การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีความคล่องตัวน้อยกว่าและมีขนาดวงเงินเทียบต่อจีดีพีที่น้อยกว่ามาตรการที่สหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่น ได้ดำเนินการไป ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในขณะนี้ และแนวโน้มที่อาจมีการแพร่ระบาดในระดับชุมชนเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ต่อไปอีก จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในที่สาธารณะ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในภาคการบริการของประเทศเหล่านั้น อันจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจโลก
โดยรวมแล้ว แม้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของความมีเสถียรภาพมากขึ้น และภูมิภาคต่างๆ น่าจะผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุดของภาวะถดถอยมาแล้ว แต่สภาวะในขณะนี้น่าจะเป็นการทรงตัวในจุดที่ต่ำ หรือยังอยู่ในบริเวณก้นบึ้งของการถดถอยในรูปตัว U (U-Shaped Recession) ขณะที่การฟื้นตัวชัดเจนน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จะช้าหรือเร็วเพียงใดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่จะเริ่มนำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นของราคาน้ำมันต้องไม่เร่งตัวจนเกินปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ที่แท้จริง และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในขณะนี้ ไทยน่าจะค่อนข้างเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่มีแนวโน้มว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาสู่ผลิตภัณฑ์ไก่และอาหารทะเลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ผลิตผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าที่ช่วยป้องกันหรือตรวจสอบการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ชุดตรวจสอบการติดเชื้อ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการในขณะนี้ ก็จะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกได้
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกน่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงเดือนต่อๆ ไป แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออกในระยะ 2-3 เดือนจากนี้อาจยังติดลบใกล้เคียงกับในเดือนเมษายน เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปีในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 14.5-19.0 จากปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกน่าจะหดตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 และถ้าเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพก็น่าสนับสนุนให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยในต่างประเทศแล้ว บทบาทของทางการก็นับเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งถ้าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งก็อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในระยะสั้น ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกในด้านการสนับสนุนสภาพคล่องและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งมาตรการด้านโลจิสติกส์ที่จะมีการลดค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่างๆ ของการส่งออก นับเป็นแนวทางที่ดีที่น่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยได้ไม่น้อย