กรอบข้อตกลง CEPA เปิดโอกาสธุรกิจภาคบริการระหว่างจีนและฮ่องกง…หวั่นกระทบธุรกิจท่องเที่ยวของไทย

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา จีนและฮ่องกงได้ลงนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาภาคธุรกิจบริการ ฉบับที่ 6 ภายใต้กรอบความร่วมมือ Closer Economic Partnership Arrangement (CEPA) ซึ่งเป็นกรอบข้อตกลงว่าด้วยการเปิดเสรีการค้าและภาคบริการระหว่างจีนและฮ่องกง เพื่อประโยชน์และสิทธิพิเศษทางการค้าและภาคบริการของทั้งสองฝ่าย โดยในช่วงระยะกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การลงนามเพิ่มเติมข้อตกลงทางการค้าและภาคบริการระหว่างจีนและฮ่องกงมีผลดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่กรอบข้อตกลงมีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 โดยการลงนามเพิ่มเติมครั้งนี้ ทางรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการเปิดการค้าบริการเสรีเพิ่มเติมรวม 29 มาตรการ ครอบคลุมธุรกิจบริการทั้งสิ้น 20 สาขา รวมถึงธุรกิจภาคบริการด้านการวิจัยและการขนส่งทางรถไฟ อีกทั้งยังมีแผนจะขยายธุรกิจภาคบริการจากทั้งหมด 40 สาขา เพิ่มเป็น 42 สาขา

การลงนามขยายข้อตกลงระหว่างจีนและฮ่องกงภายใต้ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของฮ่องกงโดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกง โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 92.3 ของจีดีพี ในปีที่ผ่านมา ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีที่ผ่านมาชะลอตัว โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เศรษฐกิจของฮ่องกงขยายตัวติดลบร้อยละ 2.6 (y-o-y) ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปี 2551 ชะลอตัวเหลือร้อยละ 2.5 เทียบกับร้อยละ 6.4 ของปีก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังทำให้อัตราการว่างงานในฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลฮ่องกงได้ออกนโยบายสร้างงานให้แก่ประชาชนเพื่อหวังกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยทุ่มงบประมาณกว่า 38.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ทั้งนี้ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงเป็นผลมาจากการทรุดตัวของภาคส่งออก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคและการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยภาคการบริโภคของฮ่องกงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ติดลบร้อยละ 3.2 (y-o-y) ส่วนยอดค้าปลีกเฉลี่ยสองเดือนแรกของปีนี้ ติดลบเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 4.2 (y-o-y) ขณะที่ภาคการส่งออกและการนำเข้าในเดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 21.1 และร้อยละ 22.7 ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรอบความร่วมมือ (CEPA) ระหว่างจีนและฮ่องกงฉบับที่เพิ่งลงนามใหม่นี้ ได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเสรีมากขึ้น แต่ทว่าข้อตกลงการร่วมมือ (CEPA) ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการของไทยโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยไทยไม่เพียงต้องทำการแข่งขันมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับตลาดท่องเที่ยวทั้งในไต้หวันและฮ่องกงจากผลของข้อตกลง (CEPA) ที่พยายามเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวของจีน ฮ่องกงและไต้หวันเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นผลดีเชิงธุรกิจและผลประโยชน์ร่วมกันของจีน ฮ่องกง และไต้หวัน โดยส่งผลให้การท่องเที่ยวระหว่างฮ่องกง ไต้หวันและจีน สามารถเพิ่มเส้นทางการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวเข้า/ออกระหว่าง จีน ไต้หวันและฮ่องกง โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่มีความประสงค์เดินทางท่องเที่ยวไปยังไต้หวันและฮ่องกงสามารถขอวีซ่าเพียงครั้งเดียวอีกด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจภาคบริการด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีน-ฮ่องกง รวมถึงแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

สถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนในฮ่องกงและไทย
จากข้อมูลของคณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกง (HKTB) เปิดเผยว่า ในปี 2551 อุตสาหกรรมภาคบริการการท่องเที่ยวมีเงินสะพัดสูงถึง 158.95 พันล้านเหรียญฮ่องกง เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 11.7 โดยในปี 2551 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาฮ่องกงมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.8 คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 57 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในฮ่องกง รองลงมาได้แก่ นักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวันและเอเชียเหนือ ตามลำดับ

โดยรายงานล่าสุดจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกง (HKTB) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2552 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังฮ่องกงกว่า 7.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างหนักส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากตลาดระยะไกลของฮ่องกงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราหดตัวเป็นเลขสองหลักจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ลดลงร้อยละ 13.4 สหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 18.3 และสหภาพยุโรป ทวีป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ลดลงร้อยละ 18.9 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ที่มีจำนวนมากที่สุดในฮ่องกง ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวจีน ราว 4.6 ล้านคน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 63 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในฮ่องกง เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 57.1 ของช่วงเดียวกันของปี 2551

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทย พบว่า สวนทางกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าไปฮ่องกง โดยในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ ปี 2552 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทยทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนมกราคม 2552 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย ลดลงกว่าร้อยละ 35 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อัตราการลดลงเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 53.41 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวอย่างรุนแรงคือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวันหยุดเทศกาลปีใหม่ของจีนซึ่งตรงกับช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด

แนวโน้มนักท่องเที่ยวชาวจีนในฮ่องกงและไทย
สำหรับทิศทางธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกงในช่วงที่เหลือของปี 2552 คาดว่า อาจจะได้ปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามายังฮ่องกงที่อาจจะขยายตัวราวร้อยละ 10 เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 โดยในไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตได้ร้อยละ 12.6 โดยคาดว่าน่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากกรอบข้อตกลงการเปิดเสรีของภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยวัตถุประสงค์หลักของกรอบข้อตกลง (CEPA) ระหว่างจีนและฮ่องกงมุ่งเน้นที่จะเสนอเส้นทางการเดินทางอันหลากหลายมากขึ้นให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางเข้า /ออกระหว่างนักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น ซึ่งมาตรการตามข้อตกลง (CEPA) ไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังฮ่องกง แต่ยังช่วยผลักดันการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันในฮ่องกงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกงยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ โดยอาจบั่นทอนความมั่นใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและทำให้นักท่องเที่ยวชะลอแผนการเดินทางออกไปเพื่อดูสถานการณ์ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกง

ขณะที่คาดการณ์ว่า แนวโน้มการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น น่าจะเติบโตในอัตราที่ติดลบต่อเนื่องจาก 2 เดือนแรกของปีนี้และอาจส่งผลให้ธุรกิจบริการในสาขาอื่น ๆ ของไทยได้รับผลกระทบไปด้วยได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ และธุรกิจขนส่งการบิน โดยแม้ว่าทั้งไทยและฮ่องกงคงถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่แนวโน้มการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนในไทยยังเป็นผลกระทบมาจากปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของไทยที่เป็นฉนวนบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวหันไปท่องเที่ยวยังประเทศอื่นแทนการเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงรุนแรงจนต้องยกเลิกการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มอาเซียนกับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น (อาเซียน+3) และอาเซียนกับ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (อาเซียน+6) ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2552

โดยสรุปกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ฮ่องกง Closer Economic Partnership Arrangement (CEPA) ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 ได้เปิดโอกาสทางการค้าบริการอย่างเสรีมากขึ้น โดยออกมาตรการเพิ่มเติมรวม 29 มาตรการ ครอบคลุมธุรกิจบริการทั้งสิ้น 20 สาขา รวมถึงธุรกิจภาคบริการด้านการวิจัยและการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งการลงนามขยายข้อตกลงระหว่างจีนและฮ่องกงดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของฮ่องกงโดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกง มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 92.3 ของจีดีพี ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีที่ผ่านมาชะลอตัว โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เศรษฐกิจของฮ่องกงขยายตัวติดลบร้อยละ 2.6 (y-o-y) ขณะที่อัตราการว่างงานในฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จนทำให้ทางรัฐบาลฮ่องกงออกนโยบายสร้างงานให้แก่ประชาชนโดยทุ่มงบประมาณกว่า 38.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพื่อหวังกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรอบข้อตกลง CEPA ของจีนและฮ่องกงจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในด้านธุรกิจค้าบริการโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจเป็นผลกระทบซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่กำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง จากผลพวงของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองไทย กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาส่งผลให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ ปี 2552 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทยทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2552 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย ลดลงกว่าร้อยละ 35 และร้อยละ 53.41 ตามลำดับ ซึ่งสวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปฮ่องกงซึ่งเติบโตร้อยละ 12.6 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ คาดว่า แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกงในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจยังจะขยายตัวได้ตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่น่าจะเพิ่มขึ้นซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของฮ่องกง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2552 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังฮ่องกงอาจจะขยายตัวราวร้อยละ 10 เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเปิดเสรีของภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายใต้กรอบข้อตกลง (CEPA) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางท่องเที่ยวและเพิ่มเส้นทางการบิน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวของฮ่องกงคงต้องได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้นักท่องเที่ยวระยะไกลจากภูมิภาคอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีนี้และสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้และฮ่องกงก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552 นั้น น่าจะมีอัตราติดลบต่อเนื่องจาก 2 เดือนแรกของปีนี้ จากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และปัจจัยท้าทายภายใต้กรอบข้อตกลงการเปิดเสรีด้านการค้าและภาคบริการของจีนและฮ่องกง (CEPA) ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวโน้มการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังธุรกิจบริการสาขาอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ และธุรกิจขนส่งการบิน ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดกลยุทธ์และแผนการตลาดการท่องเที่ยวเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ดังนี้

? รัฐบาลควรเร่งดำเนินการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดเพื่อออกมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของสุขภาพให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเกี่ยวกับการป้องกันและการแพร่กระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้

? หน่วยงานของภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ

? ควรเร่งจัดทำการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในรูปแบบภาษาจีน เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น

? ควรทำการวิจัยและศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีน

? หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรสร้างเครือข่ายและหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมกลุ่มนักท่องเที่ยวในจีนและเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในตลาดจีน