เครื่องถ่ายเอกสารชาร์ป เดินเกมรุก เปิดตัวรุ่น ชาร์ป ปิกาซัส “ไทย ไดรเวอร์”

เครื่องถ่ายเอกสารชาร์ป พลิกกลยุทธ์สู้วิกฤติเศรษฐกิจ คิดค้นและพัฒนาเครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำ รุ่น “ไทย ไดรเวอร์ (Thai Driver)” สำเร็จเป็นแบรนด์แรกของโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างชาร์ปไทยชาร์ป แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) และชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มีให้เลือก 6 รุ่น หวังครองใจผู้ใช้ชาวไทย เพราะง่ายต่อการใช้งานและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการถ่ายเอกสารต่อแผ่นเหลือเพียงไม่กี่สตางค์ นอกจากนั้นเครื่องถ่ายเอกสารชาร์ปยังพัฒนาโดยใช้วัสดุที่ปลอดสารพิษ ภายใต้มาตรฐาน RoHS (Restriction of the use of certain hazardous substance in electrical and electronic equipment) ซึ่งเป็นกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อสุขภาพของผู้ใช้และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งชาร์ปคาดว่าตลาดเมืองไทยอ้าแขนรับ มั่นใจ 6 เดือนกวาดยอดกว่า 2,000 เครื่อง

คุณสมชาย โรจน์อัศวเสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ผู้นำด้านนวัตกรรมเครื่องถ่ายเอกสารระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันเกือบทุกธุรกิจต้องประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้บริษัทต่างๆลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลง ดังนั้น ชาร์ป ไทย จึงเดินหน้าวิเคราะห์ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยล่าสุด เราพบว่า ตลาดเมืองไทย ยังต้องการเครื่องถ่ายเอกสารที่ง่ายในการสื่อสารกับผู้ใช้ เพราะมักจะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาที่ใช้ สั่งการ ชาร์ป ไทย จึงได้พัฒนาคิดค้นเครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำรุ่นภาษาไทยในตระกูล Pegasus ขึ้นเป็น แบรนด์แรกของโลก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด, บริษัท ชาร์ป แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องถ่ายเอกสารรุ่น Pegasus เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยโรงงาน ชาร์ป แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งเมื่อส.ค. 2535 ซึ่งผลิตสินค้าต่างๆ เช่น แอลซีดีทีวี แผงโซล่าเซลล์ และเป็นโรงงานที่ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารแห่งเดียวในประเทศไทย ภายใต้มาตรฐานระดับสากล ISO9001, ISO9002, ISO14001 และ RoHS โดยเครื่องถ่ายเอกสารที่ผลิตในรุ่น Pegasus “ไทยไดรเวอร์” มีให้เลือก 6 รุ่น ประกอบด้วย AR-5516S, AR-5516, AR-5516N, AR-5520S, AR-5520 และAR-5520N

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันตลาดรวมของเครื่องถ่ายเอกสารในเมืองไทยมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าตลาดเครื่องขาว-ดำ ประมาณ 30,000 เครื่อง หรือ 87-88% และในส่วนเครื่องสีประมาณ กว่า 4,000 เครื่อง หรือ 12-13% ของตลาดรวมทั้งหมด

“เครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำ รุ่น Pegasus “ไทยไดรเวอร์” ของชาร์ป ถือเป็นความภาคภูมิใจล่าสุด โดยนอกเหนือจากการพัฒนาไดรเวอร์ภาษาไทยแล้ว เครื่องในตระกูลดังกล่าวยังเป็นเครื่องที่มีการผลิตภายในประเทศ บนมาตรฐานระดับโลก และมีการใช้วัสดุต่างๆ ที่ปลอดสารพิษ รวมทั้งวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น ยกเลิกการใช้สารตะกั่ว แคลเมียมและโครเมียม เป็นต้น รวมทั้งสารอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบการหายใจ หรือรบกวนระบบการหายใจ หรือสารที่อาจเป็นตัวก่อมะเร็ง ทั้งยังมีการออกแบบตลับหมึกไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของกากผงหมึก เพื่อให้เครื่องรุ่นดังกล่าว เป็นผลงานมาตรฐานของคนไทย ที่สามารถจำหน่ายออกสู่ทั่วโลกได้ ภายใต้ตราประทับ Made in Thailand” ผู้อำนวยการกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด กล่าว

ทั้งนี้ เครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำ ชาร์ป รุ่น Pegasus มีคุณสมบัติเป็นเครื่องระบบมัลติฟังก์ชั่น ที่สามารถใช้เพื่อถ่ายเอกสาร ด้วยความเร็ว 16 แผ่น/นาที และ 20 แผ่น/นาที พร้อมคุณสมบัติในการใช้เป็นเครื่องพิมพ์เอกสาร หรือเป็นเครื่องสแกนเนอร์ความเร็วสูงได้ พร้อมรองรับระบบเนตเวิร์ค อีกทั้งยังมีระบบการถ่ายเอกสาร 2 หน้า มีระบบเลือกถาดกระดาษอัตโนมัติ ซอฟแวร์การใช้งานเป็นภาษาไทย นอกเหนือจากนี้ยังมีระบบประหยัดหมึก และระบบประหยัดไฟฟ้า เพื่อความประหยัด ของผู้ใช้ และช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ด้านกลยุทธ์ของ ชาร์ป ในการแนะนำเครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำ รุ่น “ไทย ไดรเวอร์” สู่ตลาดเมืองไทยนั้น คุณสมชาย โรจน์อัศวเสถียร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในเบื้องต้น บริษัทฯ ได้ทำการแนะนำแก่ตัวแทนจำหน่าย ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด โดยเริ่มจัดงานสัมมนาในตัวแทนจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2552 ที่ผ่านมา และได้มีการแนะนำสินค้าบางส่วนผ่านนิตยสารของบริษัทฯ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในช่วงแรก รวมทั้งได้มี การแนะนำสินค้าผ่านด้านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เริ่มฉบับแรกวันที่ 18 พ.ค. 2552 และต่อไป บริษัทฯ วางแผนจัดงานสัมมนาให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด โดยในงานดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองใช้เครื่อง และเสนอการนำเครื่องไปสาธิต ณ สำนักงานของผู้เข้ารวมสัมมนาที่สนใจ นอกจากนี้ ยังเตรียมทีมจัดโรดโชว์ร่วมกับตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่, การจัดรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งตั้งเป้ายอดขาย 6 เดือนจากนี้ไว้ประมาณ 2,000 เครื่อง โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ประมาณ 130% สำหรับเครื่องในตระกูลนี้”