พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ได้รับรางวัลอสังหาริมทรัพย์นานาชาติยอดเยี่ยมประจำปี 2009

พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ (Pavilion Kuala Lumpur) ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง Fiabci Prix d’Excellence Awards 2009 หรือรางวัลอสังหาริมทรัพย์นานาชาติยอดเยี่ยมประจำปี 2009 ในประเภทห้างสรรพสินค้า

การที่พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ได้รับการยกย่องในฐานะห้างสรรพสินค้าระดับโลก ยิ่งช่วยเน้นย้ำสถานะของมาเลเซียในฐานะสวรรค์ของการช้อปปิ้งชั้นแนวหน้า

ในฐานะผู้ชนะรางวัล พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ จะได้รับสิทธิให้เข้าสู่เครือข่ายของ Fiabci ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกกว่า 60 ประเทศ และองค์กรชั้นนำทั่วโลกกว่า 120 องค์กร

ลิซ่า เคอร์ราสส์ ประธานระดับโลกคนใหม่ของ Fiabci เป็นผู้ทำหน้าที่มอบรางวัลให้กับ ดาติน ซินดี้ ลิม รองประธานของพาวิลเลียน ในพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี ดาตุก ราชา นง ชิค ราชา ไซนัล อาบิดิน รัฐมนตรีกระทรวงสหพันธ์ และ ดาโต อาหมัด ฟอด บิน อิสมาอิล นายกเทศมนตรีเมืองกัวลาลัมเปอร์ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

ทั้งนี้ Fiabci เป็นอักษรย่อภาษาฝรั่งเศสของสมาพันธ์อสังหาริมทรัพย์นานาชาติ (International Real Estate Federation)

รางวัล Fiabci Prix d’Excellence ซึ่งตัดสินโดยคณะกรรมการนานาชาติที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากทั่วโลก เป็นรางวัลที่มอบให้กับสถานที่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่ความงาม รูปแบบการใช้สอย และขนาดเท่านั้น

พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นห้างสรรพสินค้าอันดับหนึ่งเหนือคู่แข่ง 26 รายจากทั่วโลก

ดาตุก ราชา นง ชิค ราชา ไซนัล อาบิดิน รัฐมนตรีกระทรวงสหพันธ์ กล่าวถึงการได้รับรางวัลของพาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ว่านอกจากจะได้รับการยกย่องในฐานะห้างสรรพสินค้าชั้นนำระดับโลกแล้ว พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ยังเป็นสถานที่สำคัญของกัวลาลัมเปอร์และมาเลเซียด้วย

“นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ.2550 พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกัวลาลัมเปอร์ และเป็นจุดเด่นในย่านสามเหลี่ยมทองคำของเมืองด้วย” เขากล่าวในพิธีมอบรางวัล

พาวิลเลียน กำลังพัฒนาตัวเองให้เทียบเท่าย่านการค้าระดับโลกอย่าง ออกซ์ฟอร์ด สตรีท (Oxford Street) ในลอนดอน, กินซ่า (Ginza) ในโตเกียว, โรดีโอ ไดรฟ์ (Rodeo Drive) ในเบเวอร์ลี ฮิลล์ส ลอสแองเจลิส, ชองป์-เซลิเซ่ (Champs-Elysees) ในปารีส และ ออร์ชาร์ด โร้ด (Orchard Road) ในสิงคโปร์

รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกของมาเลเซียได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดในที่ช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวเช่นนี้

นอกจากนั้นรางวัลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความสุดยอดของพาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ในด้านวิศวกรรมและการออกแบบ การพัฒนาและการก่อสร้าง การทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเงิน การค้า และการตลาด

ในการรังสรรค์สิ่งที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกัวลาลัมเปอร์ ทีมงานต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการวางแผน ออกแบบ และก่อสร้างด้วยมาตรฐานระดับโลก เพื่อให้พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ เป็นห้างสรรพสินค้าในระดับที่ดีที่สุดของโลก

รัฐมนตรีกระทรวงสหพันธ์ยังกล่าวต่อไปว่า ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้น่าประทับใจตั้งแต่การออกแบบ โดยดูได้จากทางเดินและทางเข้าออกที่เชื่อมต่อกันทั่วห้าง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักช้อปได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้กัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองแห่งการเดินด้วย

พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งดึงดูดผู้มาเยือนได้กว่า 48 ล้านคนนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีร้านค้ากว่า 430 ร้านบนพื้นที่มากถึง 1.37 ล้านตารางฟุต โดยร้านเสื้อผ้าและแฟชั่นมีสัดส่วนมากสุดถึง 60% ตามมาด้วยร้านอาหารและเครื่องดื่ม 21% และร้านเกี่ยวกับความบันเทิง 19%

นอกจากนั้น พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ ยังเป็นสถานที่จัดงานยิ่งใหญ่ระดับชาติและนานาชาติหลายต่อหลายงาน และเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับจัดงานเทศกาลรื่นเริง รวมถึงนิทรรศการศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย

หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายสำคัญของห้างสรรพสินค้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์แห่งนี้คือ สำนักงานการลงทุนแห่งการ์ตา (Qatar Investment Authority) ซึ่งถือหุ้น 49% ของทั้งหมด

ทางการมาเลเซียหวังว่านักลงทุนจากกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับจะมาลงทุนในมาเลเซียมากยิ่งขึ้น เมื่อได้เห็นความสำเร็จของสำนักงานการลงทุนแห่งการ์ตาที่ลงทุนในพาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียยกย่องให้พาวิลเลียน กัวลาลัมเปอร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ