การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตครึ่งหลังปี 2552 … แนวโน้มดีขึ้น

ตั้งแต่ต้นปี 2552 ดูเหมือนว่าธุรกิจบัตรเครดิตจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่แม้ว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank ต่างทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแคมเปญการตลาดจะไม่มีผลดังที่คาดมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคบางกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน ถูกปรับลดเงินเดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างมาก ในขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ในขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจ ก็ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของตนในระยะข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีการบริโภคและอุปโภคของภาคเอกชนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวลงร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งแรกปี 2552 และวิเคราะห์ปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่มีผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ดังต่อไปนี้

ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัวลง

ธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2552 นอกจากจะเป็นการแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังต้องทำธุรกิจแข่งกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank ต่างผลักดันแคมเปญออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรเครดิตใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการของตน โดยแคมเปญการตลาดที่ออกมานั้นไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินเข้าสู่บัญชี (Cash Back) การผ่อนชำระสินค้าอัตราดอกเบี้ย 0% เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือมากกว่า การร่วมมือกับร้านค้าพันธมิตร โรงแรม ในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยมอบส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆมากมาย แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแคมเปญการตลาดนั้นเริ่มจะไม่ได้ผลมากนัก จะเห็นได้ว่า ภาพรวมทั้งระบบของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) มีมูลค่าประมาณ 235,200 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.5 ในปี 2551 ทั้งนี้การหดตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุให้บางภาคธุรกิจต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยลดเวลาทำงาน ลดจำนวนพนักงานลง ปรับลดเงินเดือนพนักงาน หรือบางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการลง ซึ่งภาวะดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรง จนทำให้รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ภาวะการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อรายได้ ความมั่นคงในหน้าที่การงานในระยะข้างหน้า ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า

กลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ สำหรับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 98,631 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 16.6 ในปี 2551

กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 43,009 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ในปี 2551

กลุ่ม Non-Bank โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 93,560 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.1 ในปี 2551

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตครึ่งหลังปี 2552 : แม้มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ…แต่ระวังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงแรกของปีนี้ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมบ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นมาบ้างเล็กน้อย แม้จะยังเป็นภาวะที่เศรษฐกิจหดตัว แต่ก็มีอัตราลบที่ชะลอลง อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างคาดหวังที่จะเห็นการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระดับที่สูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนับได้ว่าเป็นฤดูแห่งการใช้จ่าย หรือเทศกาลของขวัญปีใหม่ และยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงนี้ผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต่างเร่งทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้นในช่วงนี้

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเสี่ยงรอบด้าน โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่

ประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ยังคงต้องอาศัยระยะเวลากว่าที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำจะฟื้นตัวในระดับศักยภาพ ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และอัตราการว่างานที่สูง และหากการฟื้นตัวมีความล่าช้าออกไป อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และรายได้ของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ประเด็นทางการเมือง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีนี้ ซึ่งหากเกิดความรุนแรงขึ้นอีกดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ก็อาจจะยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือของปีนี้

ประเด็นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั้งนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดฯ ในปัจจุบัน ได้สร้างความกังวลต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากการระบาดของโรคมีความยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้ ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจจะมีการปรับลดกิจกรรมนอกบ้านลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจบัตรเครดิต โดยเฉพาะอาจจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นฤดูแห่งการใช้จ่าย หรือเทศกาลของขวัญปีใหม่ และยังเป็นฤดูกาลที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการ ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยคาดว่าน่าจะหดตัวร้อยละ 0.4 ถึง ขยายตัวร้อยละ 1.2 (582,480 – 591,580 ล้านบาท) จากปี 2551

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลังปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงแรกของปีนี้ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต ทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-Bank ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินกลยุทธ์กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิต เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนรอบด้าน ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจมีการปรับลดการใช้จ่ายลงในช่วงนี้ โดยใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวังมากขึ้น

ท่ามกลางภาวะแวดล้อมธุรกิจบัตรเครดิตที่มีปัจจัยลบค่อนข้างมาก แต่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงต้องเดินหน้าทำแคมเปญการตลาด เพื่อเร่งยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อไป ทำให้การแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าทำแคมเปญร่วมกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้า ดิสท์เคานท์สโตร์และร้านค้าเฉพาะอย่าง เพื่อเร่งยอดขายในช่วงเทศกาล ซึ่งแคมเปญส่วนใหญ่จะเน้นไปยังสิทธิประโยชน์จากการชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต เช่น การแลกรับบัตรกำนัลของขวัญเมื่อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตตามวงเงินที่กำหนด เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตครบ 5,000 บาท นำไปแลกบัตรกำนัลมูลค่า 200 บาท หรืออาจจะเป็นการคืนเงินกลับเข้าบัญชีบัตรเครดิต เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการยังเร่งทำแคมเปญผ่อนชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ร่วมกับพันธมิตรร้านค้าที่ขายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคที่อาจจะลังเลจากภาวะเศรษฐกิจตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในขณะนี้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการโรงแรม และสายการบิน เช่น นำเสนอส่วนลดที่พักเมื่อใช้บัตรเครดิตชำระค่าบริการ เป็นต้น ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของไทยด้วย

สำหรับภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการภายใต้สถานการณ์ 2 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน (Base Case) ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นและกล้าที่จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดว่า ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2552 อาจจะขยายตัวร้อยละ 1.2 หรือมีมูลค่าประมาณ 591,580 ล้านบาท

สำหรับกรณีเลวร้าย (Worst Case) ภายใต้สมมติฐานที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความล่าช้า เนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ความมั่นคงของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งหากการฟื้นตัวมีความล่าช้าออกไป อาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ความไม่สงบทางการเมือง และการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านเครดิต โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งหากการแพร่ระบาดของไข้หวัดมีความยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศ ที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการลดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ นอกบ้านลง เช่น การดูหนัง การเดินห้างสรรพสินค้า การทานข้าวนอกบ้าน เป็นต้น และเนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่อาจจะไม่ขยายตัวดังที่คาดในช่วงที่เหลือของปี ทำให้เป็นไปได้ว่าในกรณีเลวร้ายนี้ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบในปี 2552 อาจจะหดตัวร้อยละ 0.4 หรือมีมูลค่าประมาณ 582,480 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว ผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายลง แต่ธุรกิจบัตรเครดิตยังคงเดินต่อไป จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และ Non-Bank ยังคงเดินหน้าขยายฐานบัตรเครดิตอย่างเข้มข้น โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อจูงใจผู้สมัครบัตรเครดิต เช่น การแจกของสมนาคุณ ระยะเวลาการอนุมัติที่รวดเร็ว การเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ลูกค้า โดยเจ้าหน้าที่มารับเอกสารถึงที่ทำงาน เป็นต้น สำหรับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตของผู้บริโภคนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในภาวะที่การแข่งขันมีความเข้มข้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิตควรจะทำการศึกษาข้อแตกต่างของผลิตภัณฑ์สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินให้ดี เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด และสามารถตอบสนองความต้องการมากที่สุด เช่น การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต การเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมบัตรใหม่ ค่าธรรมเนียมเมื่อผิดนัดชำระหนี้ เป็นต้น รวมถึงการพิจารณาสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตที่แต่ละผู้ประกอบการนำเสนอเช่นกัน

นอกจากนี้ผู้บริโภคควรมีการวางแผนทางการเงินและควรมีวินัยในการใช้จ่ายที่ดี เนื่องจากการชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งหากผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่มีความระมัดระวัง ก็อาจจะก่อให้เกิดการสะสมเป็นวงเงินที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระในอนาคตได้ ทั้งนี้ผู้บริโภคควรวางแผนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เช่น การกำหนดวงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละเดือน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการผ่อนชำระภายหลัง นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ใช้บัตรเครดิตควรคำนึงถึง คือ อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้ถูกปรับขึ้นเป็นร้อยละ 20 ซึ่งทำให้ผู้ที่ชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ หรือชำระไม่เต็มจำนวน ได้รับผลกระทบในอนาคตได้