ส่งออกไปจีนครึ่งแรกของปี 2552 ติดลบร้อยละ 18.2 … แนวโน้มครึ่งหลังปรับตัวดีขึ้น

อานิสงส์ของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนมิถุนายนหดตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 6 โดยเป็นเดือนแรกที่มีอัตราลดลงเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 3.5 จากเดือนเดียวกันของปี 2551 (yoy) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 10.9 ในเดือนก่อนหน้า (yoy) และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (mom) นับว่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนมิถุนายนขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยมีอัตราเติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 11.8 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 การส่งออกของไทยไปจีนที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีอัตราติดลบชะลอลงเหลือร้อยละ 18.2 (yoy) เทียบกับที่ติดลบถึงร้อยละ 27.6 ในไตรมาสแรก ขณะที่การนำเข้าของไทยจากจีนในเดือนมิถุนายนหดตัวชะลอลงเช่นกัน โดยมีอัตราติดลบร้อยละ 27.1 (yoy) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 30.7 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้การนำเข้าจากจีนมีอัตราติดลบร้อยละ 28 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

การส่งออกของไทยไปจีนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราหดตัวชะลอลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นผลจากความต้องการภายในของจีนที่ยังคงกระเตื้องขึ้นเนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาคบริโภคและการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และนับเป็นการขยายตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกของจีน หลังจากที่เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 จนอยู่ในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนมิถุนายนที่เติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 10.7 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเขตเมืองยังเติบโตในระดับสูงที่ร้อยละ 35.3 ส่งผลให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่ใช้ในภาคการผลิตและการลงทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สินค้านำเข้าหลายรายการที่จีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ทองแดง อะลูมีเนียม และเหล็ก เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากโครงการก่อสร้างของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น พลาสติกขั้นต้น และยางสังเคราะห์ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือของทางการ การขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักของจีนมีส่วนสำคัญที่ช่วยเร่งการเติบโตภาคการลงทุน ยอดขายรถยนต์ของจีนปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ยอดขายรถครึ่งแรกของปีนี้ยังเติบโตได้ร้อยละ 17.7 (yoy) ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของจีนที่กระเตื้องขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมเบาของจีนที่รวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้านเติบโตได้ร้อยละ 8.2 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือด้านการอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในภาคชนบทของทางการจีน การปรับขึ้นภาษีคืนสินค้าส่งออก รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ส่งออก

สินค้านำเข้าสำคัญของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน ได้แก่ พลาสติกขั้นต้น โดยการนำเข้าในเดือนมิถุนายนสามารถขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.5 (yoy) จากที่หดตัวร้อยละ 13 ในเดือนก่อนหน้า (yoy) สินค้านำเข้าที่ขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ ทองแดง ขยายตัวร้อยละ 64.6 จากร้อยละ 20.2 ในเดือนก่อนหน้า และอะลูมิเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 123.5 จากร้อยละ 78 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนสินค้านำเข้าที่มีอัตราหดตัวชะลอลง ที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ลดลงร้อยละ 12 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 19 ในเดือนก่อนหน้า และยางสังเคราะห์ที่ลดลงร้อยละ 7.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 12 ในเดือนก่อนหน้า

แรงขับเคลื่อนจากความต้องการนำเข้าของจีนส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนมิถุนายนส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยสินค้าส่งออกที่สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากเดือนก่อนหน้าที่มีอัตราหดตัว ได้แก่ วงจรพิมพ์และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวเป็นบวกแต่ชะลอลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สินค้าส่งออกที่ยังหดตัวแต่อัตราติดลบลดลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของการส่งออกของไทยไปจีนสามารถขยายตัวเป็นบวกในเดือนมิถุนายนเป็นเดือนแรกจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้นโดยอาจขยายตัวระหว่างร้อยละ 7.5-8.0 โดยมีสาเหตุสำคัญจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่อัดฉีดเงิน 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2551 และจะดำเนินการจนถึงปี 2553 รวมทั้งคาดว่าทางการจีนจะรักษาการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายในช่วงที่เหลือของปีนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ประกอบกับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคและการลงทุนในจีน นอกจากนี้ แรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้การส่งออกของจีนน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออกจากประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งไทย ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนอาจขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปี 2551 และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกของจีนมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกในเดือนมิถุนายนยังคงหดตัวชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยลดลงร้อยละ 21.4 (yoy) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 26.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยหากเทียบเป็นรายเดือนพบว่า การส่งออกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากเดือนพฤษภาคมก่อนหน้า (mom)

สรุป
การเติบโตที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการขยายตัวดีขึ้น นับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจจีนชะลอลงติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 สาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการช่วยเหลือของทางการจีนที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในจีน ทำให้จีนต้องการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนที่ใช้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ เช่น พลาสติกขั้นต้น เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ ทองแดง ดีบุก และสังกะสี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทยไปจีนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน โดยการส่งออกในเดือนมิถุนายนมีอัตราหดตัวเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 3.6 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์บาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และวงจรพิมพ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยปรับตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การส่งออกของไทยไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายนก็มีสัญญาณดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราหดตัวของการส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ชะลอลงเหลือร้อยละ 22.7 ร้อยละ 27.4 และร้อยละ 27.8 ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (yoy) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ 35.7 ร้อยละ 34.7 และร้อยละ 30 ตามลำดับ (yoy) สะท้อนถึงความต้องการบริโภคของประเทศแกนนำของโลกเหล่านี้ที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน คาดว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกที่นำโดยกลุ่มประเทศแกนนำหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะส่งผลดีทางอ้อมต่อสินค้าส่งออกไทยไปจีนให้ปรับตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่อาจเติบโตได้เป็นบวก ตามความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อให้ผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแกนนำหลักเหล่านี้ที่ถือเป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญของจีน ที่คาดว่าการส่งออกของจีนไปประเทศกลุ่มนี้น่าจะกระเตื้องขึ้นด้วย ตามความต้องการบริโภคของตลาดหลักที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนมิถุนายนของประเทศเอเชียหลายประเทศที่เริ่มทยอยประกาศออกมามีอัตรา หดตัวชะลอลง ซึ่งนอกจากประเทศจีนแล้ว ยังมีประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์