จักรยานยนต์ครึ่งหลัง 2552…หดตัวน้อยลงแต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมาตลาดรถจักรยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตจากรอบด้านไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวลงมาก รวมถึงปัญหาการเมืองภายในประเทศ กดดันตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศของไทยให้หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามทิศทางการหดตัวเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง จากที่ในเดือนมกราคมหดตัวถึงร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน ก็กลับมาหดตัวชะลอลงมาก จนล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศของไทยหดตัวเพียงร้อยละ 7.4 และนับเป็นยอดขายรถจักรยานยนต์ที่สูงที่สุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2551 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ค่ายรถจักรยานยนต์ต่างใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวเพียงร้อยละ 14.2 ซึ่งถือว่าดีกว่าที่เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์จะเริ่มได้รับปัจจัยบวกที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับการให้สินเชื่อมีแนวโน้มผ่อนคลายมากกว่าช่วงครึ่งแรก รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นตลาดที่ค่ายรถทยอยนำเสนอออกมา ส่งผลให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวในอัตราน้อยลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงผันผวนอยู่มาก และฐานยอดขายที่สูงในปีที่แล้วโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวอยู่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญต่อไปนี้

ตลาดรถจักรยานยนต์ครึ่งแรก…หดตัวร้อยละ 14.2 จากปัจจัยลบรอบด้าน

แม้ปีที่ผ่านมา รถจักรยานยนต์จะนับว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเกินคาด สวนทางกับศักยภาพพื้นฐานของตลาดรถจักรยานยนต์ไทยที่เริ่มอิ่มตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และรายได้ภาคเกษตรที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์พลิกกลับมาขยายตัวหลังหดตัวต่อเนื่องในปี 2549 และ 2550 โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 1,703,376 คัน ในปี 2551ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนและเศรษฐกิจในประเทศของไทย ก่อให้เกิดปัญหากับการจ้างงานในประเทศ ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชนลดลง ประกอบกับสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัจจัยลบต่างๆเหล่านี้ได้กดดันตลาดรถจักรยานยนต์ทำให้การขยายตัวในช่วงที่ผ่านมาติดลบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2552 กระนั้นหากสังเกตอัตราการหดตัวจะพบว่ามีแนวโน้มชะลอลงมาเกือบตลอดอย่างเห็นได้ชัด จากหดตัวสูงถึงร้อยละ 23.2 ในเดือนมกราคม แล้วค่อยๆทยอยลดลงมาเหลือร้อยละ 14.8 ร้อยละ 12.4 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ก่อนที่จะพลิกกลับมาติดลบเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 19.4 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวและโดยปกติจะเป็นช่วงที่ยอดขายหดตัวสูงสุด อีกทั้งเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วงดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตามในเดือนถัดๆมาหลังจากสถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าของภาครัฐที่ออกมาโดยเฉพาะมาตรการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท และการออกเคมเปญกระตุ้นยอดขายของค่ายรถจักรยานยนต์และดีลเลอร์ เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับเช็คช่วยชาติเมื่อนำมาซื้อรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์กลับมาหดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 9.8 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นี้ยอดขายรถจักรยานยนต์กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 14.2

ครึ่งหลังปี 2552…แม้ปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นแต่ยังถูกกดดันจากหลากปัจจัยเสี่ยง

เมื่อเข้าช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะหดตัวน้อยลงกว่าช่วงครึ่งแรก โดยปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุน ได้แก่

สภาพเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ฟื้นตัวมากยิ่งขึ้นส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณการกลับเข้ามาบางส่วน ประกอบกับภาครัฐได้ส่งสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ที่หากสามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 4 ก็คาดว่าจะส่งผลให้ในระยะข้างหน้าความเชื่อมั่นในการลงทุนภาคเอกชนน่าที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังปัญหาภาวะการจ้างงานในระบบที่น่าจะคลี่คลายได้มากขึ้นตามลำดับ ทำให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับฟื้นขึ้น ส่งผลบวกต่อการบริโภคสินค้าประเภทต่างๆรวมไปถึงรถจักรยานยนต์

กฎเกณฑ์การให้สินเชื่อที่ผ่อนคลายมากขึ้นของสถาบันการเงิน และบริษัทให้สินเชื่อ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นของตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ เพื่อกระตุ้นยอดการขอสินเชื่อที่ลดลงไปในช่วงก่อนหน้าจากความกังวลเรื่องภาวะหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ทำให้สถาบันการเงินสามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆในการให้สินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดรถจักรยานยนต์ได้พอสมควร

การแข่งขันกันทุ่มกิจกรรมการตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์และดีลเลอร์ โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านราคา ทั้งจากการให้ดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงการตั้งราคารถจักรยานยนต์บางรุ่นที่ต่ำลงเป็นพิเศษ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นการซื้อของประชาชนและเป็นการดึงส่วนแบ่งการตลาดระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งโดยปกติเป็นช่วงที่ตลาดชะลอตัวเนื่องจากเข้าฤดูมรสุม ซึ่งการเข่งขันของค่ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการถือครองรถจักรยานยนต์ได้ง่ายขึ้น

ถึงแม้ตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะมีปัจจัยบวกต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์อยู่ ได้แก่

ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงมีความผันผวนสูง เนื่องจากปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้มีปริมาณที่ค่อนข้างสูงทั้งในประเทศและประเทศอื่นที่เป็นผู้ส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย สวนทางกับทิศทางตลาดที่ยังคงได้รับปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในช่วงถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าวที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันด้านราคาจากเวียดนามและอินเดีย นอกจากนี้แม้ยางพาราไทยจะมีข่าวดีในช่วงก่อนหน้าจากการนำเข้าในปริมาณสูงจากจีน แต่ขณะนี้ได้มีการต่อต้านจากกลุ่มผู้ผลิตยางพาราในจีนเนื่องจากการนำเข้าทำให้ราคายางพาราในประเทศจีนตกต่ำลง และแม้รัฐจะมีนโยบายออกมารับประกันราคาสินค้าเกษตรบางประเภท แต่ก็เป็นราคาที่สูงกว่าราคาจริงในตลาดมากทำให้เกิดความกังวลเรื่องปัญหาความสามารถในการชำระคืนเงินส่วนต่างแก่เกษตรกรของรัฐบาล ส่วนพืชพลังงานก็ต้องเผชิญกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วและยังคงมีความผันผวนส่งผลให้ปริมาณการใช้พลังงานทดแทนลดน้อยลง ซึ่งราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงมีผลต่อรายได้ และกำลังซื้อของเกษตรกรที่อาจลดลง ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ซึ่งมักทำตลาดได้ดีในต่างจังหวัดมีแนวโน้มที่จะหดตัวตามไปด้วย

ฐานยอดขายรถจักรยานยนต์ช่วงเดียวกันที่สูงในปีที่แล้ว โดยในช่วงปี 2551 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังคงอยู่ในระดับสูงมาจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ความตื่นตระหนกของประชาชนต่อราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 นี้ ส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 3 ขยายตัวโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 15.6 ทั้งๆที่โดยปกติไม่ใช่ฤดูกาลของยอดขายรถจักรยานยนต์ (ขณะที่ไตรมาส 1 2 และ 4 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 5.5 และ 6.3 ตามลำดับ) ซึ่งผลจากฐานในปีที่แล้วที่สูงมากดังกล่าวทำให้ยอดขายในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้คาดว่าจะกลับมาหดตัวในระดับตัวเลข 2 หลัก ก่อนที่จะค่อยๆปรับมาหดตัวในระดับตัวเลข 1 หลักอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2552

จากปัจจัยต่างๆข้างต้น โดยรวมแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าช่วงครึ่งหลังในปี 2552 นี้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศอาจจะหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 10 ถึง 14 คิดเป็นจำนวนรถจักรยานยนต์ประมาณ 716,000 ถึง 746,000 คัน จากที่หดตัวร้อยละ 14.2 ในช่วงครึ่งแรก แต่หากพิจารณาเฉพาะปริมาณยอดขายยังคงต่ำกว่าครึ่งแรกที่มีจำนวน 748,497 คัน ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางฤดูกาลที่ยอดขายในช่วงฤดูฝนมักจะลดต่ำลง รวมถึงยังเป็นการเทียบกับครึ่งปีแรกซึ่งมีผลของมาตรการรัฐเข้ามากระตุ้นแรงซื้อด้วย จากยอดขายช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่พุ่งขึ้นสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะโครงการเช็คช่วยชาติ และการทุ่มกิจกรรมการตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์และดีลเลอร์ โดยการประมาณการยอดขายดังกล่าวส่งผลให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์รวมทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 12 ถึง 14 คิดเป็นจำนวน 1,465,000 ถึง 1,495,000 คัน จาก 1,703,376 คันในปี 2551 ดีขึ้นกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 17 ถึง 21 หรือคิดเป็นประมาณ 1,350,000 ถึง 1,410,000 คัน

โดยสรุป ตลาดรถจักรยานยนต์ครึ่งหลังปี 2552 นี้คาดว่าจะได้รับแรงกดดันไม่ว่าจะทั้งราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนสูง และฐานยอดขายที่สูงในปีก่อนหน้าแม้ว่าจะไม่ใช่ช่วงฤดูขายตามปกติทำให้ยอดขายยังคงหดตัวสูง แต่จากปัจจัยบวกที่มีเพิ่มขึ้นทั้ง สภาพเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น กฎเกณฑ์การให้สินเชื่อที่ผ่อนคลายมากขึ้นของสถาบันการเงิน และบริษัทให้สินเชื่อ รวมถึงการแข่งขันกันทุ่มกิจกรรมการตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์และดีลเลอร์ ทำให้การหดตัวลดลงกว่าช่วงครึ่งแรก ซึ่งทำให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในปี 2552 อาจจะหดตัวลงถึงประมาณร้อยละ 12 ถึง 14 โดยมียอดขาย 1,465,000 ถึง 1,495,000 คัน ลดลงจาก 1,703,376 คันในปี 2551 (ขยายตัวร้อยละ 6.54) อย่างไรก็ตามยอดขายในช่วงต่อจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมการกระตุ้นยอดขายของภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านราคา เช่น การลดราคาขาย หรือการลดดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้มากที่สุดในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่วนแรงส่งเสริมจากภาครัฐที่สำคัญอาจมาจากความสามารถในการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญต่างๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและกำลังซื้อให้กับกลุ่มผู้บริโภคระดับล่างซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดรถจักรยานยนต์