สัญญาณบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน 2552 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมิถุนายน 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า เครื่องชี้สำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบด้วย การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) อย่างพร้อมเพรียงกัน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จะพบว่า แม้ว่าเครื่องชี้เหล่านั้นจะยังคงหดตัวลง แต่ก็เป็นไปในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งในภาพรวมก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกที่ปรากฏมากขึ้นในเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากกว่าการส่งออก ได้ส่งผลทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้าที่ลดน้อยลงในเดือนมิถุนายน 2552

การใช้จ่ายภาคเอกชน
 การบริโภคภาคเอกชน…ชะลอการหดตัว

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.7 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2552 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.7 ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ เครื่องชี้หลักของดัชนีการบริโภคหดตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (หดตัวร้อยละ 9.7 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 15.5 ในเดือนก่อนหน้า) และการนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค (หดตัวเพียงร้อยละ 12.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 17.8 ในเดือนก่อนหน้า) ในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราการหดตัวของยอดขายลดลงเหลือร้อยละ 8.9 และร้อยละ 20.7 ในเดือนมิ.ย. ตามลำดับ (หลังจากที่หดตัวร้อยละ 18.3 และหดตัวร้อยละ 30.5 ในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ) ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนเดือนมิ.ย.ที่พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการขยับขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมาอยู่ที่ระดับ 72.5 ในเดือนมิ.ย.2552 จากระดับ 71.5 ในเดือนพ.ค. โดยความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะถัดไปเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา

การลงทุนภาคเอกชน…ขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวร้อยละ 15.5 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2552 ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 16.1 ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ภาพรวมขององค์ประกอบหลักของดัชนีปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย และจะต้องจับตาดูความต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดต่อไป นำโดย ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ซึ่งพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.5 (YoY) ในเดือนมิ.ย. (หลังจากที่หดตัวร้อยละ 13.0 ในเดือนก่อนหน้า) มูลค่ากิจการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.1 (หลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนก่อนหน้า) และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับผลดีจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำให้หดตัวน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ 16.5 (จากที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 31.1 ในเดือนก่อนหน้า) และแม้ว่าการนำเข้าสินค้าทุนจะยังคงหดตัวสูงถึงร้อยละ 21.8 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 20.6 ในเดือนก่อนหน้า) แต่ก็มีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ซึ่งเกิดจากการนำเข้าแท่นขุดเจาะน้ำมันในเดือนมิ.ย. 2551 ทั้งนี้ การพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 ของการลงทุนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมานั้น มีความสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ที่ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 46.3 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 45.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยที่องค์ประกอบด้านการลงทุนขยับขึ้นสู่ระดับ 50.4 (สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัว) ซึ่งบ่งชี้ถึงการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 50.4 ขยับเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 50.2 ในเดือนก่อนหน้า

ภาคการผลิต…ฟื้นตัวขึ้นตามสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจต่างประเทศ
 การผลิตภาคอุตสาหกรรม…สัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 7.8 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2552 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 9.8 ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ซึ่งได้รับผลบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ชัดเจนมากขึ้น พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังจากที่ได้ชะลอการหดตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 2.7 ในเดือนมิ.ย. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.7 ในเดือนก่อนหน้า นำโดย Hard Disk Drive (ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในเดือนก่อนหน้า) โทรทัศน์สี (หดตัวลงร้อยละ 14.7 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 20.6) และอาหารทะเลกระป๋อง (หดตัวเพียงร้อยละ 1.0 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 10.4) ในทำนองเดียวกัน การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม ก็ได้รับอานิสงส์ของสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจไทยที่ได้เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน โดยการผลิตที่เน้นเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก หดตัวลงร้อยละ 15.4 ในเดือนมิ.ย. ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 16.9 ในเดือนก่อนหน้า นำโดย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้า) และรถยนต์นั่ง (หดตัวร้อยละ 29.6 ชะลอจากที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 41.9 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) นั้น ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 59.5 ในเดือนมิ.ย. จากร้อยละ 59.0 ในเดือนพ.ค. โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ภาคเกษตร…รายได้เกษตรกรชะลอการหดตัว
รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 23.6 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2552 ดีขึ้นจากที่เคยลดลงร้อยละ 30.1 ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ดัชนีราคาพืชผลปรับตัวลงร้อยละ 18.5 ในเดือนมิ.ย. หลังจากที่ดิ่งลงถึงร้อยละ 21.6 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตพืชผลหดตัวร้อยละ 6.3 ในเดือนมิ.ย. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 10.8 ในเดือนก่อนหน้า

ภาคต่างประเทศ…ยอดเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดหดแคบลง
 การส่งออกยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง

การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 26.4 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2552 ใกล้เคียงกับที่หดตัวร้อยละ 26.5 ในเดือนพ.ค. และหากหักมูลค่าการส่งออกทองคำ การส่งออกจะหดตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25.4 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 27.2 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าส่งออกหดตัวลงร้อยละ 24.1 เท่ากับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลงร้อยละ 3.1 เท่ากับเดือนก่อนหน้าเช่นกัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า มูลค่าการส่งออกที่หดตัวมากขึ้นในหมวดสินค้าใช้แรงงาน (หดตัวร้อยละ 30.9 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 21.7 ในเดือนก่อนหน้า) ถูกหักล้างด้วยการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงของการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร (หดตัวร้อยละ 34.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 39.3) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม (หดตัวร้อยละ 25.1 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 25.7) หมวดสินค้าใช้เทคโนโลยีสูง (หดตัวร้อยละ 24.6 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 28.6) และหมวดสินค้าใช้วัตถุดิบในประเทศ (หดตัวร้อยละ 9.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 12.0)

การนำเข้า…หดตัวในอัตราที่น้อยลง
การนำเข้าหดตัวลงอีกร้อยละ 26.3 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2552 แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 34.3 ในเดือนพ.ค. โดยปริมาณสินค้านำเข้าหดตัวร้อยละ 21.4 (ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 29.5 ในเดือนก่อนหน้า) ขณะที่ราคาสินค้านำเข้า ติดลบน้อยลงเหลือร้อยละ 6.2 (หลังจากที่ติดลบร้อยละ 6.8 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ หมวดหลักของการนำเข้าหดตัวน้อยลงอย่างพร้อมเพรียงกันยกเว้นหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น โดยหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวร้อยละ 13.9 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 19.9 ในเดือนก่อนหน้า) หมวดวัตถุดิบหดตัวร้อยละ 36.5 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 41.8 ในเดือนก่อนหน้า) และหมวดสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ 20.3 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 22.3 ในเดือนก่อนหน้า)

ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด…เกินดุลลดลง
ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุล 938.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. 2552 หลังจากที่เกินดุลสูงถึง 2,338.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค. เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น (MoM) น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า และเมื่อรวมยอดเกินดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่องอีก 462.3 ในเดือนมิ.ย. ตามการหายไปของรายได้จากการท่องเที่ยวเนื่องจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 (จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวร้อยละ 18.6 ในเดือนมิ.ย. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 21.2 ในเดือนก่อนหน้า) ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเพียง 476.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. เทียบกับที่เกินดุล 1,390.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.

โดยสรุปแล้ว ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมิถุนายน 2552 ของธปท. บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มสะท้อนสัญญาณเชิงบวกมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2552 โดยการบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4.2 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาส 1/2552 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 15.5 เทียบกับที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 16.1 ในไตรมาส 1/2552 และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 9.1 หลังจากที่หดตัวถึงร้อยละ 18.5 ในไตรมาส 1/2552 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ทำให้การส่งออกหดตัวมากขึ้นในไตรมาสที่ 2/2552 โดยหดตัวร้อยละ 26.1 เร่งจากอัตราการหดตัวร้อยละ 19.9 ในไตรมาส 1/2552 ในขณะที่ ดุลการค้าของไทยบันทึกยอดเกินดุลเพียง 3,896.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากที่เกินดุล 7,799.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2552

สัญญาณเสถียรภาพจากเครื่องชี้เศรษฐกิจของธปท.ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่า อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2552 อาจน้อยกว่าร้อยละ 5.6 ที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 1/2552 และหากมองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดน้อยลงในไตรมาสถัดๆ ไปตามลำดับ ซึ่งทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าที่จะสะท้อนภาพเชิงบวกได้ชัดเจนมากขึ้นตามอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธปท. โดยในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กรอบการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-3.6 แต่คงจะต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 และช่วงเวลาของการฟื้นตัวของภาคส่งออกต่อไปอย่างใกล้ชิด