ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 บ่งชี้ไทยหลุดพ้นจากภาวะถดถอย

จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ที่มีการรายงานในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่าจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้หลุดพ้นจากภาวะถดถอยมาแล้ว ซึ่งทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นภาพที่ปรากฏในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนีและฝรั่งเศส รวมทั้งแม้ว่าประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศในยุโรป จะยังคงไม่อาจหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้ ณ ขณะนี้ แต่ก็เป็นการถดถอยในอัตราที่ชะลอลง สัญญาณบวกที่ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วนี้ เมื่อประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทยที่มีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ออกมาเพิ่มเติม ก็คาดว่าน่าจะเป็นแรงส่งให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความต่อเนื่องไปสู่ไตรมาสที่ 3/2552 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักของโลก ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี มีโอกาสหดตัวในอัตราที่น้อยลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว จากที่ติดลบสูงถึงร้อยละ 23.5 ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2552 และในไตรมาสถัดไป ดังต่อไปนี้

ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนที่ดีกว่าคาด หนุนจีดีพีไตรมาส 2 ติดลบน้อยลง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2552 ที่มีการรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2552 มีทิศทางดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน ที่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แล้ว หดตัวในอัตราที่ชะลอลงเกือบทุกด้าน อาทิ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 7.8 (จากร้อยละ 9.8 ในเดือนก่อน) ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 2.7 (จากร้อยละ 4.7 ในเดือนก่อน) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 15.5 (จากร้อยละ 16.1 ในเดือนก่อน) และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงร้อยละ 18.6 (จากร้อยละ 21.2 ในเดือนก่อน)

โดยรวมแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวชะลอลงอย่างมาก
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2552 หดตัวร้อยละ 9.1 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราลบที่น้อยลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราการหดตัวร้อยละ 18.5 ในไตรมาสที่ 1/2552 โดยสาเหตุที่สำคัญเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 หดตัวในอัตราที่น้อยลงกว่าไตรมาสก่อน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญถึงกว่า 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศ
การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2/2552 หดตัวร้อยละ 4.2 ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 อาทิ การแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท และการช่วยเหลือลดค่าครองชีพ เป็นต้น ซึ่งการใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐบาลที่หมุนเวียนมาสู่มือประชาชน ทำให้ผู้บริโภคมีการนำเงินออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจค้าปลีกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2/2552 ยังคงหดตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 16.0 (YoY) สูงขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 13.3 ในไตรมาสแรก ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหดตัวร้อยละ 16.9 สูงขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 15.8 ในไตรมาสแรก ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสนี้มีฐานะเกินดุลลดลงมาที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุลสูงถึง 9.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากการส่งออกมีอัตราการหดตัวสูงขึ้น สวนทางกับการนำเข้าที่ติดลบน้อยลงกว่าในไตรมาสแรก ปัจจัยดังกล่าวนี้จึงเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัว

ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากผลของการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับคืนมา ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นก็ได้ส่งผลมาสู่การจ้างแรงงานกลับเข้าทำงาน ประกอบกับการใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐบาลภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้กระเตื้องขึ้นกว่าในไตรมาสแรก ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว จะเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณร้อยละ 2.3 จากไตรมาสแรก (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) นับเป็นการขยายตัวครั้งแรก หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยหดตัวร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 4/2551 และร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่ 1/2552 ซึ่งได้ฉุดให้เศรษฐกิจไทยก้าวลงสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คาดว่าจีดีพียังคงหดตัวสูงประมาณร้อยละ 5.1 แต่ก็เป็นอัตราลบที่ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรก ที่ถือได้ว่าเป็นอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนข้างหน้ามีประมาณร้อยละ 74
จากการวิเคราะห์โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยประเมินจาก ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery)1 ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำขึ้น ซึ่งสามารถประเมินโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2552) พบว่า แม้โอกาสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนต่ำลงจากเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 58 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของดัชนีชี้นำด้านการลงทุน แต่ค่าดัชนีดังกล่าวยังคงบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว โดยดัชนีค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ระดับร้อยละ 19 เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ขณะที่ โอกาสความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวในระยะ 3 เดือนข้างหน้ามีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 74 สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ประเมินในเดือนก่อนหน้าที่ระดับร้อยละ 63 โดยภาวะถดถอยของเศรษฐกิจน่าจะใกล้สิ้นสุด และอาจเริ่มเห็นดัชนีพ้องเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า

แนวโน้มไตรมาส 3 … ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้มีปัจจัยลบภายในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ผนวกกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย น่าจะยังคงเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2552 มุ่งไปสู่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศที่สำคัญ คือ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และบรรยากาศการเผชิญหน้าทางการเมืองที่กลับมาก่อตัวขึ้นอีก

ในด้านปัจจัยในต่างประเทศ เครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศชั้นนำของโลกส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นกว่าระดับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ของสหรัฐฯ และยูโรโซนออกมาดีกว่าที่คาด โดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ในกรณีของเยอรมนีและฝรั่งเศสมีขยายตัว (QoQ) ในแดนบวกได้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่กลับมามีอัตราการขยายตัว (QoQ) เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเอเชียก็ล้วนแล้วแต่ฟื้นตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ที่จะยังคงมีผลต่อเนื่องมาสู่ไตรมาสที่ 3/2552 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กิจกรรมการผลิตของประเทศต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ น่าจะยังคงรักษาแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับต่ำ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะที่ช่วยรักษาระดับอำนาจซื้อของผู้บริโภค โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน น่าที่จะดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/2552 ทั้งนี้ สัญญาณความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในตลาดต่างประเทศสะท้อนให้เห็นได้จากมุมมองของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย ที่ระบุว่าคำสั่งซื้อในหลายอุตสาหกรรมกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนภาคการผลิตและการส่งออกให้ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
นอกจากนี้ ในด้านปัจจัยภายในประเทศ น่าจะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งจากเม็ดเงินส่วนที่เหลืออยู่ของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และการเริ่มต้นดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่มีโครงการของรัฐบาลที่มีแผนเริ่มดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2552 หรือในช่วงไตรมาสที่ 3/2552 วงเงินประมาณ 27,557 ล้านบาท ขณะที่มาตรการในการตรึงราคาหรือชะลอการปรับขึ้นของราคาพลังงานก็น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบในด้านค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภค

ปัจจัยบวกดังที่ได้กล่าวมานี้ คาดว่าจะมีน้ำหนักเหนือปัจจัยลบจากผลกระทบของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ประเมินว่าประเด็นทางการเมืองยังไม่ดำเนินไปสู่จุดที่มีความรุนแรงในระยะ 1-2 เดือนนี้ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 จะสามารถขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จีดีพีก็น่าจะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

โดยสรุป จากภาพที่สะท้อนมาจากตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนที่มีการรายงานออกมา แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนยังคงมีอัตราการหดตัว (YoY) ที่สูงขึ้นกว่าในไตรมาสแรก แต่การปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริโภค รวมทั้งผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล น่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และก้าวพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้มาแล้ว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว จะเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณร้อยละ 2.3 จากไตรมาสแรก (Seasonally Adjusted QoQ) นับเป็นการขยายตัวครั้งแรก ในรอบ 3 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คาดว่าจีดีพียังคงหดตัวสูงประมาณร้อยละ 5.1 แต่ก็เป็นอัตราลบที่ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรก ที่ถือได้ว่าเป็นอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ดัชนีความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Probability Index for Economic Recovery) ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำขึ้นได้บ่งชี้ว่า โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2552) เพิ่มขึ้นมามีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 74 สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ประเมินในเดือนก่อนหน้าที่ระดับร้อยละ 63 หรืออาจกล่าวได้ว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจน่าจะใกล้สิ้นสุด และอาจเริ่มเห็นดัชนีพ้องเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ผนวกกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย น่าจะยังคงเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2552 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศที่สำคัญ คือ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3/2552 จะสามารถขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จีดีพีก็น่าจะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2552 นี้ ที่สำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G-3 เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการในแต่ละประเทศ ซึ่งผลดังกล่าวอาจจะค่อยๆ ลดน้อยลงในปีหน้า และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออัตราการว่างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งผู้บริโภคเริ่มคลายความหวาดกลัวต่อพิษวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาก็ต่อเมื่อครัวเรือนสร้างสมการออมกลับขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง ชดเชยกับความมั่งคั่งที่สูญเสียไปกับมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤต ซึ่งในส่วนนี้อาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของราคาสินทรัพย์ด้วย ส่วนในด้านปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ยังคงเป็นประเด็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แม้ว่าขณะนี้ได้ชะลอความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่วิวัฒนาการของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A H1N1 ยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองมีเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ จากปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-5.0 โดยกรอบบนของประมาณการ เป็นกรณีที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรอบล่างของประมาณการ รองรับกรณีผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่สูงนี้ รัฐบาลจึงควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งผลักดันโครงการลงทุนของรัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งดูแลปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับประคับประคองสถานการณ์การเมืองลดชนวนที่จะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง อันจะย้อนกลับมาซ้ำเติมปัญหาในภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่ฟื้นจากความบอบช้ำในช่วงที่ผ่านมา