โครงการภาครัฐ…กระตุ้นธุรกิจก่อสร้าง

สถานการณ์การก่อสร้างของไทยเริ่มหดตัวลงในปี 2551 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยสาเหตุที่สำคัญเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ นอกจากนี้ สภาวการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เผชิญปัญหารุมเร้าหลายด้าน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้อุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนของภาคธุรกิจอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณงานก่อสร้างที่ลดน้อยลงทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐจึงเป็นสาเหตุให้ธุรกิจก่อสร้างประสบปัญหาอย่างหนัก การลงทุนในด้านการก่อสร้างภายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ไตรมาส ขณะที่แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นมากนัก ล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเป็นแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมมูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ในวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเกี่ยวกับโครงการลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งล๊อตแรกจำนวน 200,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในปีงบประมาณ 2553 พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางการใช้เงินกู้จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท โดยจะมีเงินเหลือจากการชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 100,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ ส่งผลให้มีเงินเพื่อการลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านบาท ซึ่งแผนการลงทุน และความชัดเจนดังกล่าว น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคก่อสร้างในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และโอกาสในการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้า โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

ก่อสร้างไตรมาส 2 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากการก่อสร้างภาครัฐ

การลงทุนในด้านการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาของปี 2552 ลดลงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของการก่อสร้างภาครัฐในไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 9.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แต่มีอัตราที่ชะลอลงกว่า การหดตัวลงดังกล่าวเป็นผลมาจากหน่วยงานภาครัฐชะลอโครงการลงทุนออกไป ประกอบกับยังไม่มีแผนการลงทุนโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างได้รับผลกระทบ และมีรายได้ลดลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 2 การก่อสร้างภาครัฐน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการลงทุนของรัฐบาลเริ่มปรับตัวดีขึ้นถึงร้อยละ 244.4 เนื่องจากการจัดสรรงบลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และงบในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 (SP1)

สำหรับการก่อสร้างภาคเอกชน ในด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ในไตรมาส 2 น่าจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยในไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวร้อยละ 10.4 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาการเมือง รวมทั้งอุปทานคงค้างที่ยังคงมีอยู่จำนวนมาก แม้ว่าจะมีปัจจัยบวก เช่น ราคาวัสดุก่อสร้าง และราคาน้ำมันที่ลดลงจากปีก่อน อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐก็ตาม โดยในช่วงไตรมาส 2 ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในเดือนเมษายนได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ และแม้ว่าในเดือนพฤษภาคมจะพบว่าที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปรับตัวดีขึ้นมาเป็นระดับสูงที่สุดนับจากต้นปี แต่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมซึ่งสร้างเสร็จจากโครงการที่เปิดขายมาตั้งแต่ปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่มีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 2 แต่ในช่วงปลายไตรมาส เริ่มมีสัญญานที่การพัฒนาโครงการศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง โดยโครงการที่เคยประกาศแผนการลงทุนไว้เริ่มกลับมาดำเนินการก่อสร้าง เริ่มมีการลงทุนพัฒนาห้างสรรพสินค้าใหม่ และศูนย์การค้าในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ แต่โครงการต่างๆ จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และโครงการพัฒนาใหม่ๆ อาจจะยังไม่สามารถทดแทนมูลค่าการลงทุนที่หดตัวไปอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ได้ ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทอุตสาหกรรมและอื่นๆ ยังหดตัวในไตรมาสแรก ปี 2552 และคาดว่าในไตรมาส 2 จะยังคงหดต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยลบจากต่างๆ ซึ่งทำให้ความต้องการบริโภคหดตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการยังไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่ ดังนั้น จึงปรับตัวโดยการลดกำลังการผลิตลง ยกเลิกสัญญาการเข้าใช้โรงงาน หรือแม้กระทั่งปิดโรงงานลง ซึ่งจะเห็นได้จากอัตราใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 59.2 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ร้อยละ 69.2

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนก่อสร้างในไตรมาส 2 ปี 2552 โดยรวมจะมีการหดตัวร้อยละ 5.5 ซึ่งมาจากการหดตัวในการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนร้อยละ 8.6 ขณะที่ภาครัฐมีการหดตัวร้อยละ 2.1

ผู้รับเหมาโครงการรัฐอาจฟื้นตัวก่อน…หากโครงการภาครัฐมีความคืบหน้า

การลงทุนภาครัฐอาจกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากรัฐบาลได้ออกแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (Stimulus Package 2: SP2) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งคือ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2555 ซึ่งมีวงเงินรวม 1,431,330 ล้านบาท โดยบางโครงการน่าจะสามารถเริ่มต้นได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยมีแผนลงทุนในสาขาต่างๆ รวม 13 สาขา โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งผู้รับเหมาจะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนมากที่สุด คือร้อยละ 39.9 โครงการที่สำคัญประกอบไปด้วย ระบบรถไฟฟ้า ระบบราง ถนนไร้ฝุ่น เป็นต้น ต่อมาเป็นสาขาบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 16.7 โดยมีโครงการบำรุงฟื้นฟูระบบชลประทานเดิม ก่อสร้างฝ่าย/อ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาขาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา

โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในระยะแรกที่คาดว่าอาจเริ่มต้นได้ในช่วงปีนี้เน้นไปยังการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็ว เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับการชลประทาน สำหรับ โครงการถนนไร้ฝุ่น หรือถนนลาดยาง ซึ่งซอยแบ่งเป็นโครงการย่อยๆ รวม 901 โครงการ รวมระยะทาง 7,213 กิโลเมตร กระจายไปทั่วประเทศ สำหรับโครงการระยะที่ 1 มีระยะทาง 3,200 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 14,800 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าสู่ขบวนการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) พร้อมกันทั่วประเทศ โดยประกาศร่างเงื่อนไขสัญญาก่อสร้าง (ทีโออาร์) ในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ SP2 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับช่วงปี 2552-2553 มีมูลค่าทั้งสิ้น 424,349 ล้านบาท หากมาตรการ SP2 ถูกเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ ให้มีความคืบหน้าได้ตามแผน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก รวมทั้ง โครงการขนส่งพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งขณะนี้ได้ประกวดราคาทั้ง 3 สัญญาและเสนอความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคการผลิต และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งภาคการก่อสร้าง และหากรัฐบาลมีความชัดเจนในโครงการขนส่งมวลชนรูปแบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะทำให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในทำเลตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น

การเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาคการก่อสร้าง ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองอาจทำให้เกิดความพลิกผันต่อการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งเป็นความหวังจะช่วยพลิกฟื้นภาคก่อสร้างโดยรวมในครึ่งปีหลังนี้ แต่หากเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือเหตุการณ์ความรุนแรงดังเช่นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญเหตุการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งโครงการลงทุนก่อสร้างที่ได้วางแผนไว้อาจจะต้องเลื่อนออกไป ความเสี่ยงดังกล่าวอาจมีผลต่อสถานะของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัญหาด้านสภาพคล่อง อีกทั้งสถาบันการเงินยังอาจเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

โครงการเอกชน…ตลาดพาณิชยกรรมกระเตื้อง ตลาดที่อยู่อาศัยยังซบเซา

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรม ธุรกิจค้าปลีกได้เริ่มกลับมาลงทุนขยายสาขาในรูปแบบต่างๆ เช่น การขยายสาขาขนาดใหญ่ ศูนย์กระจายสินค้า การกลับมาดำเนินการในโครงการที่เคยประกาศแผนการลงทุนไว้ การปรับปรุงศูนย์การค้าเก่า และการพัฒนาห้างสรรพสินค้าใหม่ รวมทั้ง ศูนย์การค้าในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรุกขยายสาขาในรูปแบบดิสเคานท์สโตร์ซึ่งมีขนาดเล็กลง และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งสามารถจะเปิดสาขาได้รวดเร็ว และเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่าสาขาขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และเพื่อเป็นการปรับตัวรองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. …ซึ่งอาจมีการควบคุมการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ และกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เช่น ต้องขออนุญาติเพื่อขยายสาขา และการจำกัดบริเวณที่ตั้งสาขา อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการก่อสร้างในภาคพาณิชยกรรมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009

ตลาดที่อยู่อาศัยยังมีการเปิดตัวโครงการใหม่ไม่มาก ปัญหาอุปทานบ้านรอขายที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีโครงการเกิดใหม่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความชำนาญ และมีเงินทุนที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผลบวกคือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ 7.1 และอาจเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญานเริ่มดีขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์บางมาตรการจะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2552 อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเร่งก่อสร้างโครงการที่มีอยู่ รวมทั้ง ทำการตลาดมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเร่งให้ผู้บริโภคเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยภายในปีนี้ นอกจากนี้ ต้นทุนในการลงทุนด้านก่อสร้างยังอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาวัสดุก่อสร้าง และราคาน้ำมันยังปรับตัวไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 แต่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะจากการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐจำนวนมาก นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นได้ในช่วงปีข้างหน้า เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อมีโอกาสเร่งตัวขึ้น แนวโน้มภาวะตลาดที่มีทิศทางที่ดีขึ้นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นดีขึ้น ซึ่งเห็นได้จาก ดัชนีจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประจำไตรมาส 2 ปี 2552 รวมทั้ง ดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ได้ปรับตัวดีขึ้น

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทอุตสาหกรรม และอื่นๆ คาดว่าจะยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่อีกมาก อย่างไรก็ดี การลงทุนจากต่างประเทศ เริ่มมีความเคลื่อนไหวในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ นอกจากนี้ ยังมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มสินค้าผู้บริโภคประเภทผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเริ่มโครงการเพื่อขยายโรงงาน อาจจะต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากยังมีอัตราการผลิตที่เหลืออยู่ อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จะกลับมาขยายตัวเท่ากับในอดีต อาจจะต้องอาศัยการฟื้นตัวของการจ้างงาน เพื่อจะส่งผลต่อความต้องการสินค้า

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจก่อสร้างคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย อาจยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนของธุรกิจ ขณะที่สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจส่งผลรุนแรงต่อการทำกิจกรรมนอกบ้าน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เหล็ก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างในระยะข้างหน้าได้ ขณะเดียวกัน สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่สูงนัก อาจมีการชะลอเปิดโครงการใหม่ จากผลของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยราคาต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การก่อสร้างในครึ่งหลังปี 2552 โดยรวม น่าจะมีการหดตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 3.5-7.4 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 5.5-8.8 ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งส่งผลให้ทั้งปีจะมีการหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5-8.1 โดยการลงทุนก่อสร้างภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจก่อสร้างดีขึ้น คาดว่าจะมีการหดตัวในช่วงครึ่งปีหลังที่ร้อยละ 0.2-6.7 จากร้อยละ 3.4-8.2 ในครึ่งปีแรก ส่งผลให้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐทั้งปีจะหดตัวที่ระดับร้อยละ 1.6-7.4 สำหรับการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนครึ่งปีหลังหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.0-8.1 จากที่คาดว่าหดตัวร้อยละ 7.4-9.4 ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ทั้งปีหดตัวที่ร้อยละ 7.2-8.7

สรุปและข้อคิดเห็น

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 ว่าโดยรวมจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยมีการหดตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพลิกฟื้นธุรกิจก่อสร้างให้กลับมากระเตื้องขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ในระยะแรกจะเน้นที่โครงการขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการได้ในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐอาจเริ่มฟื้นตัวก่อน ตามมาด้วยการก่อสร้างประเภทพาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่จะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับจากปัจจัยบวกต่างๆ สำหรับโครงการที่สำคัญๆ ใน SP2 นี้ ได้แก่ โครงการถนนไร้ฝุ่น ที่ทำการซอยเป็นโครงการก่อสร้างย่อยๆ เพื่อกระจายไปยังทั่วประเทศ จะส่งผลดีก่อผู้รับเหมาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกี่ยวกับชลประทาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีเม็ดเงินจำนวนมากไหลสู่ภาคก่อสร้าง คือ โครงการขนส่งมวลชนอาจจะสามารถเริ่มได้ในปลายปี 2552 โดยเฉพาะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง บางใหญ่-บางซื่อ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตอาจเร่งการตัดสินใจซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ การย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติและมาตรการส่งเสริมการลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง เสถียรภาพทางการเมืองจึงเป็นตัวแปรความเสี่ยงที่สำคัญยิ่งที่อาจทำให้โครงการก่อสร้างของรัฐต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างอาจไม่ฟื้นตัวดังที่คาด สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ปัญหาการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ

โดยภาพรวมคาดว่าในครึ่งหลังปี 2552 การก่อสร้างภาคเอกชนจะหดตัวร้อยละ 7.0-8.1 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 7.4-9.4 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนการก่อสร้างภาครัฐอาจจะหดตัวร้อยละ 0.2-6.7 ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.4-8.2 ทำให้ทั้งภาคก่อสร้างมีการลงทุนหดตัวร้อยละ 3.5-7.4 สำหรับทั้งปีแล้ว คาดว่า การก่อสร้างภาคเอกชนจะยังหดตัวที่ร้อยละ 7.2-8.7 จากที่หดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2551 ขณะที่การก่อสร้างภาครัฐหดตัวร้อยละ 1.6-7.4 ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจก่อสร้างหดตัวร้อยละ 4.5-8.1 จากที่หดตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2551

สำหรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง ปริมาณการก่อสร้างภายในประเทศในครึ่งปีหลัง แม้ว่าอาจจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกต่างๆ อาจช่วยสนับสนุนความต้องการที่อยู่อาศัยได้ในระดับหนึ่ง การเจาะตลาดในกลุ่มโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ยังมีความต้องการซื้อในตลาด จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้รับเหมาโครงการภาคเอกชน นอกจากนี้ การที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวออกไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ๆ มากขึ้น ประกอบกับโครงการลงทุนของรัฐที่จะกระจายไปทั่วประเทศ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีขึ้นสำหรับผู้รับเหมารายย่อยในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ และการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ มีโครงการลงทุนในด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการก่อสร้างขนาดใหญ่ในการหาโอกาสออกไปรับงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่มีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งตลาดที่น่าสนใจ เช่น ประเทศพื้นบ้านในแถบอินโดจีน (ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) แถบเอเชียใต้ ภูมิภาคตะวันออกกลาง (ดูไบ) และแอฟริกา ขณะที่ภาครัฐ นอกเหนือจากการเร่งผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้คืบหน้าตามแผนแล้ว อาจพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา โดยอาจช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ขยายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้บริโภค โดยอาจจะใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกเพื่อทำการริเริ่ม นอกจากนี้ยังอาจจะสนับสนุนผู้ประกอบการให้ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโอกาสที่จะมีการก่อสร้างจำนวนมาก โดยรัฐอาจจะให้ความรู้ ให้สิทธิพิเศษต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะขยายตลาดของธุรกิจก่อสร้างไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยใช้มาตรการภาษี การสร้างความสะดวก และจัดตั้งกองทุนให้เงินกู้ เพื่อสนับสนุนนักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศและนำกำไรเข้าประเทศ