บริการคงสิทธิเลขหมาย…กระทบผู้ให้บริการ หลังเปิดใช้ 3G

ในยุคโลกาภิวัฒน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น เพื่อรับส่งข้อมูล หรือเพื่อความบันเทิง โดยในปัจจุบันพบว่าจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสูงถึงประมาณ 65.83 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดใกล้เคียงร้อยละ 100 ซึ่งสะท้อนถึงจุดอิ่มตัวของการขยายตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ ดังนั้นผู้ให้บริการจึงพยายามออกกลยุทธ์ทั้งการลดค่าโทร การออกโปรโมชั่นที่เหมาะสมกับลักษณะการโทรที่แตกต่างกัน รวมถึงการพัฒนาบริการเสริมต่างๆ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการของตน อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ดีที่สุด หรือบางส่วนอาจใช้บริการของผู้ให้บริการรายใหม่ควบคู่กับผู้ให้บริการรายเดิม เนื่องจากไม่ต้องการเปลี่ยนเลขหมาย จึงได้เกิดแนวคิด “บริการคงสิทธิเลขหมาย” (Mobile Number Portability) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยยังคงเลขหมายเดิม ซึ่งมีหลายประเทศได้เปิดใช้บริการดังกล่าวแล้ว เช่น สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน เป็นต้น

ในช่วงปี 2550 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จึงได้เสนอให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จัดบริการคงสิทธิเลขหมายขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองสิทธิให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในกิจการโทรคมนาคม อย่างไรก็ตามบริการดังกล่าว ก่อให้เกิดประเด็นข้อถกเถียงกันอย่างมากทั้งในเรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้บริการสารสนเทศ (clearing house) ค่าธรรมเนียมในการโอนย้าย และช่วงเวลาที่จะเปิดให้ใช้บริการคงสิทธิ

ความคืบหน้าบริการคงสิทธิเลขหมาย

หลังจากมีการเจรจากันนานกว่า 2 ปีระหว่างกทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ การจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อกทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องจัดให้มีบริการดังกล่าวภายใน 3 เดือนหลังจากประกาศมีผลใช้บังคับ หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หลังจากเปิดให้บริการแล้ว ผู้บริโภคสามารถยื่นคำขอโอนย้ายต่อผู้ให้บริการรายใหม่ โดยที่ผู้ให้บริการรายใหม่และผู้ให้บริการรายเดิมจะร่วมกันตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนย้าย และต้องทำการโอนย้ายให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ผู้บริโภคยื่นคำขอ นอกจากนี้ผู้ให้บริการรายใหม่ยังต้องมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการโอนย้าย รวมถึงเมื่อการโอนย้ายเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ความพร้อมในการเปิดให้บริการคงสิทธิ และค่าธรรมเนียมโอนย้าย…ประเด็นที่ยังคงรอความชัดเจน

ในการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ต้องมีการจัดตั้งศูนย์บริการระบบสารสนเทศ (clearing house) เพื่อทำหน้าที่บริหาร จัดการกระบวนการโอนย้ายผู้ให้บริการ ประสานงานระหว่างผู้ให้บริการรายเดิมกับผู้ให้บริการรายใหม่ และเป็นศูนย์เก็บฐานข้อมูลเลขหมายที่มีการโอนย้ายเครือข่าย ทั้งนี้จากประกาศของ กทช. ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นผู้ลงทุนร่วมกันจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ตามสัดส่วนการลงทุนที่ กทช. กำหนด เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการรายอื่นมาแสวงหาผลกำไร อันจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายสูงขึ้น โดยการลงทุนดังกล่าวคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงรายละ 300-500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ประกอบกับต้องใช้เวลาในการเลือกผู้ติดตั้งระบบ เลือกซอฟท์แวร์ที่จะใช้ในการจัดการข้อมูล การทดสอบระบบ ดังนั้นผู้ให้บริการเครือข่ายจึงมีความเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวได้ทันภายในกรอบระยะเวลา 3 เดือนตามที่กทช. กำหนด ซึ่งอาจส่งผลให้การเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายต้องล่าช้าออกไป

นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าราคาเหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าไร เนื่องจากยังขาดข้อมูลต้นทุนที่แท้จริง ทั้งนี้จากผลการสำรวจประเทศอื่นๆที่มีการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายแล้ว พบว่า ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 8.38 ยูโร หรือเท่ากับ 412.55 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2552 1 ยูโร = 49.23 บาท) และมีถึง 9 ประเทศที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม ได้แก่ เบลเยี่ยม โครเอเซีย ไซปรัส เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย และสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทย กทช. ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เห็นว่าค่าธรรมเนียมควรจะอยู่ในช่วง 200-300 บาทมากที่สุด ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในแบบสอบถามจึงอาจไม่ใช่อัตราที่เหมาะสมมากนัก ในขณะที่บางความเห็น มองว่าผู้ให้บริการรายใหม่น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียม เนื่องจากเป็นฝ่ายได้ผลประโยชน์จากการโอนย้าย

ค่าธรรมเนียมการโอนย้ายถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ เพราะปัจจุบันซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีราคาไม่เกิน 99 บาท หรือแจกฟรีสำหรับบางเครือข่าย ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ยึดติดกับเลขหมายเดิมสามารถย้ายเครือข่ายได้สะดวกเป็นทุนเดิม ในขณะที่ผู้บริโภคที่ต้องการคงเลขหมายเดิม อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้คนเดียวหลายเลขหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรด้านโทรคมนาคมที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้นถ้าหากค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายสูงเกินไป ก็จะเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิคงเลขหมาย ทำให้มาตราการนี้ไม่เห็นผลชัดเจนเท่าที่ควร

บริการคงสิทธิเลขหมาย…ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่รอข้อสรุปการคืนเงินที่เหลือในระบบเติมเงิน

โดยภาพรวมแล้วผู้บริโภคเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากบริการคงสิทธิเลขหมาย เนื่องจากบริการดังกล่าวช่วยให้ผู้บริโภคมีเสรีภาพเต็มที่ในการยกเลิกและเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเลขหมายเดิม ซึ่งนอกจากจะเป็นการคุ้มครองสิทธิในการเลือกใช้บริการของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ให้บริการต้องปรับปรุงคุณภาพและราคาที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน (pre-paid) ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด อาจมีความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียเงินที่เหลือในระบบ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า เงินที่เหลือในระบบเติมเงินจากผู้ให้บริการรายเดิมไปจะถูกโอนให้ผู้บริโภคใช้ยังเครือข่ายใหม่หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวกระทบต่อการตัดสินใจในการใช้สิทธิคงเลขหมาย

บริการคงสิทธิเลขหมาย…ผลกระทบต่อผู้ให้บริการ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในช่วงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมือง ความกังวลใจเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำมัน และการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการหดตัวอยู่ที่ประมาณ 38,000 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกร้อยละ 3.04 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบตามฤดูกาล และลดลงร้อยละ 2.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการได้แข่งขันกันเสนอบริการที่หลากหลาย รวมทั้งแข่งขันด้านราคากันอย่างดุเดือด แต่ส่วนแบ่งตลาดกลับเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่ผู้ให้บริการ 3 รายหลักมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 52 ร้อยละ 31 และร้อยละ 14 ตามลำดับ

ในหลักการแล้วการจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมาย ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจย้ายเครือข่ายได้ง่ายขึ้น โดยค่าบริการน่าจะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกเครือข่าย ขณะเดียวกันเนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันราคากันอย่างดุเดือด ส่งผลให้ราคาค่าบริการในแต่ละเครือข่ายค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยข้อมูลล่าสุด พบว่า ค่าบริการเฉลี่ยสำหรับบริการแบบจ่ายรายเดือน (Post-paid) ของผู้ให้บริการ 3 รายหลักอยู่ในช่วง 1.16-1.46 บาท/นาที หรือมีส่วนต่างค่าบริการระหว่างเครือข่ายประมาณ 0.30 บาท ในขณะที่ค่าบริการเฉลี่ยสำหรับบริการแบบบัตรเติมเงิน (Pre-paid) อยู่ในช่วง 1.01-1.26 บาท/นาที ซึ่งมีส่วนต่างประมาณ 0.25 บาท ขณะที่ผู้ให้บริการจึงพยายามนำเสนอโปรโมชั่นที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของผู้บริโภคเพื่อช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของส่วนต่างค่าบริการได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นทำให้คาดว่าผู้บริโภคบางส่วนที่มีความอ่อนไหวต่อราคาก็อาจจะตัดสินใจย้ายเครือข่ายไปใช้บริการเครือข่ายที่ทำให้ค่าบริการเฉลี่ยต่อนาทีลดลง ซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีปริมาณการใช้งานสูง เนื่องจากเห็นผลความแตกต่างของราคาได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งกลับให้ความสำคัญต่อคุณภาพโครงข่ายมากกว่าราคา และมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนทำงาน นักธุรกิจที่ต้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการทำธุรกิจ ผู้บริโภคกลุ่มนี้นอกจากต้องการความชัดเจนและทั่วถึงของสัญญาณในการโทรแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่ใช้บริการเสริมที่ต้องอาศัยคุณภาพโครงข่ายเพื่อความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูล โดยในปัจจุบันผู้ให้บริการก็พยายามปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายและขยายสถานีฐานให้คลอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ถึงแม้ว่าการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายอาจจะมีผลต่อการเลือกเครือข่ายของผู้ใช้บริการรายเดิมในตลาดอยู่บ้าง โดยคาดว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่ต้องการโยกย้ายเครือข่ายน่าจะมาจากเหตุผลด้านคุณภาพโครงข่ายมากกว่าเหตุผลด้านราคา เนื่องจากคุณภาพสัญญาณในแต่ละเครือข่ายยังมีความแตกต่างอยู่บ้างในบางพื้นที่ เช่น บนอาคารสูง และพื้นที่ต่างจังหวัด หรือบางช่วงเวลาที่มีความคับคั่งของการใช้งาน อย่างไรก็ดีโดยรวมแล้ว ณ ปัจจุบันบริการในแต่ละเครือข่ายยังถือว่าใกล้เคียงกัน อีกทั้งการใช้งานหลักยังเป็นคงเป็นเพียงแค่การโทร ซึ่งความแตกต่างด้านคุณภาพโครงข่ายไม่ได้กระทบต่อการใช้งานมากนัก ในขณะที่ราคาค่าบริการระหว่างเครือข่ายก็ไม่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด ประกอบกับผู้ให้บริการพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาที่จะกระทบต่อรายได้ของตน ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในระยะสั้นการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ไม่น่าที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อส่วนแบ่งตลาด และตำแหน่งการครองส่วนแบ่งตลาด

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในอนาคตเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G บนความถี่ใหม่ 2.1 GHz บริการคงสิทธิเลขหมายอาจจะเพิ่มนัยสำคัญต่อการแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยบริการคงสิทธิเลขหมาย อาจทำให้ผู้ให้บริการที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งในการลงทุน และมีความพร้อมในการเปิดให้บริการ 3G ได้รวดเร็วและคลอบคลุมทั้งระบบก่อน จะมีความได้เปรียบในการดึงดูดผู้ใช้บริการจากระบบเดิมมาสู่ระบบ 3G นอกจากนี้เนื่องจาก 3G เป็นการพัฒนาระบบโดยใช้เทคโนโลยี HSPA (High Speed Packet Access) ที่ทำให้การรับส่งข้อมูลมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าเทคโนโลยี EDGE และ GPRS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงสามารถรองรับการขยายตัวของปริมาณการใช้งาน และความหลากหลายของบริการเสริม เช่น การประชุมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มองเห็นคู่สนทนา การดาวน์โหลดเพลง/หนังฉบับเต็ม และการใช้อินเตอร์เนตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ดังนั้นภายใต้เทคโนโลยี 3G ดังกล่าวผู้ให้บริการอาจจะสามารถสร้างความแตกต่างของบริการระหว่างเครือข่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพของระบบที่มีผลต่ออัตราความเร็วของการดาวน์โหลด ความหลากหลายของคอนเทนต์ และการนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งทำให้หากผู้ให้บริการรายใดสามารถนำเสนอบริการที่มีคุณภาพด้วยราคาที่เหมาะสม ย่อมเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการในเครือข่ายของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีลูกค้าองค์กรที่หากผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรนั้นๆเห็นว่า ผู้ให้บริการรายใดนำเสนอบริการที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ก็จะโยกย้ายเครือข่ายทั้งองค์กร ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการ โดยมาตรการคงสิทธิเลขหมายจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจโยกย้ายเครือข่ายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนเลขหมาย และนั่นแสดงถึง การแข่งขันในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่บนพื้นฐานของคุณภาพของการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการสนับสนุนการแข่งขันอย่างเสรีในกิจการโทรคมนาคมของ กทช.

นอกจากนี้การเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ยังส่งผลดีต่อผู้ให้บริการในการโอนย้ายลูกค้าจากความถี่เดิมภายใต้สัมปทานไปจดทะเบียนยังความถี่ใหม่บนระบบ 3G ที่ผู้ให้บริการมีใบอนุญาตเอง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนลงจากเดิมที่ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ประมาณร้อยละ 20-30 ให้แก่ผู้ได้รับสัมปทาน แต่ใบอนุญาตใหม่อาจเสียค่าธรรมเนียมเพียงร้อยละ 7-10 ของรายได้ อันส่งผลให้ผู้ให้บริการมีความยืดหยุ่นในการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ และอาจมีผลต่ออัตราค่าบริการในอนาคตได้

สรุปและข้อคิดเห็น

เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นสำหรับ “บริการคงสิทธิเลขหมาย” เมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้ประกาศหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยยังคงเลขหมายเดิม ทั้งนี้ กทช. ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนปฏิบัติ ยังมีประเด็นสำคัญที่ยังต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนคือ ความพร้อมในการเริ่มเปิดให้บริการ ค่าธรรมเนียมในการโอนย้าย และการคืนเงินที่เหลือในระบบเติมเงิน

การเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ผู้ให้บริการจะลงทุนร่วมกันเพื่อจัดตั้งศูนย์ระบบสารสนเทศที่ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและโอนย้ายเลขหมายจากผู้ให้บริการรายเดิมไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ ซึ่งหลายประเทศที่มีการเปิดให้บริการดังกล่าวใช้เวลาในการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ประมาณ1ปี อีกทั้งค่าธรรมเนียมการโอนย้ายที่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการใช้สิทธิ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าควรจะอยู่ที่เท่าไร ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงว่า บริการคงสิทธิเลขหมายจะเปิดให้บริการไม่ทันภายในสิ้นปีนี้ตามกำหนด ซึ่งภาครัฐอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนเวลาให้ผู้ให้บริการมีความพร้อมในการเปิดให้บริการ เพราะถ้าหากเปิดให้บริการในขณะที่ระบบยังไม่สมบูรณ์ ก็อาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง สำหรับค่าธรรมเนียมในการโอนย้าย ควรร่วมกันตกลงกันทั้งจากฝ่ายกทช. ผู้ให้บริการ และตัวแทนของผู้บริโภคซึ่งอาจมากจากสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เพื่อให้เป็นธรรมทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภค นอกจากนี้ในด้านเงินที่เหลือในระบบเติมเงินที่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะถูกโอนไปให้ผู้ใช้บริการใช้ในเครือข่ายใหม่หรือไม่ ดังนั้น กทช. และผู้ให้บริการควรจะหาข้อสรุปให้แน่ชัดและแจ้งให้ผู้ใช้บริการในระบบดังกล่าวทราบก่อนเปิดใช้บริการ

หลังจากเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีเสรีภาพเต็มที่ในการเลือกใช้บริการในเครือข่ายที่ตนเองพึงพอใจมากที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเลขหมายเดิม ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ให้บริการต้องแข่งขันกันเพื่อรักษาลูกค้าเดิม อีกทั้งยังอาจเป็นโอกาสดีในการดึงดูดลูกค้ารายอื่น ซึ่งผู้ใช้บริการรายเดิมในตลาดอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้บริการเครือข่ายที่มีค่าบริการถูกกว่าหรือมีคุณภาพบริการที่สูงกว่า

แม้ว่าบริการคงสิทธิเลขหมายอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอยู่บ้าง โดยคาดว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องการโยกย้ายเครือข่ายน่าจะมาจากเหตุผลด้านคุณภาพโครงข่ายเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันคุณภาพสัญญาณของแต่ละเครือข่ายถือว่าไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะในสายตาของผู้ใช้บริการด้วยการโทรเป็นหลัก ขณะที่ราคาก็มีความใกล้เคียงกันสูง อีกทั้งค่าธรรมเนียมการโอนย้ายยังอาจเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ในระยะสั้นบริการคงสิทธิเลขหมายไม่น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามในอนาคตหลังจากมีการเปิดใช้บริการในระบบ 3G บนความถี่ใหม่ และจุดสนใจของตลาดเริ่มขยายไปสู่บริการเสริม การให้บริการคงสิทธิเลขหมายอาจจะมีผลต่อการแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยบริการคงสิทธิเลขหมายอาจเอื้อต่อผู้ให้บริการที่มีความพร้อมในการเปิดให้บริการ 3G ได้ก่อน มีความได้เปรียบในการดึงดูดลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ระบบ 3G นอกจากนี้ระบบ 3G ยังช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างความแตกต่างของบริการระหว่างเครือข่ายได้มากขึ้น และคาดว่าหลังจากการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายและการเปิดให้บริการในระบบ 3G การแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการจะอยู่บนพื้นฐานของคุณภาพของบริการอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้บริการคงสิทธิเลขหมายยังช่วยลดต้นทุนของผู้ให้บริการ ด้วยการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้บริการในการโอนย้ายลูกค้าจากความถี่เดิมภายใต้สัมปทานไปยังความถี่ใหม่ที่ผู้ให้บริการมีใบอนุญาตเองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ให้บริการสามารถลดส่วนแบ่งรายได้จากที่ต้องจ่ายถึงร้อยละ 20-30 เป็นร้อยละ 7-10