ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมปี’52…ตลาดยังเติบโตได้ สวนกระแสเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันการเปลี่ยนสีผมมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามกระแสแฟชั่นมากขึ้น จากเดิมที่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อปกปิดผมขาว และช่วยเสริมสร้างบุคลิกที่ดี แต่จากกระแสความนิยมแฟชั่น ดาราและนักร้อง ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเกาหลี และญี่ปุ่น ในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสีผมด้วยสีสันที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กับตนเอง นอกเหนือจากการเลือกเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและการแต่งหน้า และเนื่องจากผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม/ดัด/ยืด ล้วนแต่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นอยู่ตลอดเวลา

พฤติกรรมการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ใส่ใจเพียงแค่คุณภาพของสีผมที่ได้หลังจากการเปลี่ยนสีเท่านั้น แต่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการปกป้องด้วย เพราะเกรงว่าเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์แล้วจะทำให้ผมเสียหรือส่งผลระคายเคืองต่อหนังศีรษะ ทำให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาใช้ส่วนผสมของธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ชนิดที่เปลี่ยนสีผมแบบชั่วคราวทำให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสีผมได้บ่อยครั้งขึ้น ตามวาระโอกาสต่างๆ อาทิ งานเลี้ยงสังสรรค์ หรืองานที่เป็นทางการ โดยไม่ส่งผลเสียต่อเส้นผมและหนังศีรษะ รวมถึงการปรับสูตรส่วนผสมน้ำยาเปลี่ยนสีผมให้มีคุณสมบัติทั้งปกป้องและบำรุงผมควบคู่ในขั้นตอนเดียว

ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้เป็นหลายประเภท ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงและดูแลสุขภาพเส้นผม(Hair Clean and Care) แชมพู ครีมนวด ทรีตเมนต์ เซรั่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโครงสร้างเส้นผม (Hair Transformer) น้ำยาเปลี่ยนสีผม น้ำยายืดผม น้ำยาดัดผม และกลุ่มผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม(Styling) เจล สเปรย์ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตแล้วตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเปลี่ยนโครงสร้างเส้นผมจะเติบโตมากในกลุ่มของน้ำยาดัดผม น้ำยายืดผม ส่วนน้ำยาเปลี่ยนสีผมนั้นจะนิยมชนิดเฉพาะสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เพียงเพื่อปกปิดผมขาวเท่านั้น แต่จากสภาพสังคมที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมของคนทำงาน ต้องมีการพบปะผู้คนอยู่เสมอ การเสริมสร้างภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ ประกอบกับกระแสแฟชั่นนิยมทรงผมและโทนสีผมต่างๆ จึงทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมเปลี่ยนแปลงไป มีเฉดสีที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งยังเน้นประสิทธิภาพในการรักษาเส้นผมควบคู่กัน จึงยังคงมีการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพ และปรับสูตรส่วนผสม เป็นต้น ตามความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัว โดยปีนี้คาดว่าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมจะขยายตัวจากปีที่แล้วมากกว่าร้อยละ 5 และมีมูลค่าตลาดในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2,300-2,400 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวน้อยกว่าปีที่แล้วที่มีอัตราขยายตัวถึงร้อยละ 9 โดยสามารถแบ่งสัดส่วนตามประเภทของผลิตภัณฑ์ได้โดยประมาณ ดังนี้

ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชนิดถาวรซึ่งเป็นการเปลี่ยนสีผมที่ติดคงทน ไม่สามารถล้างออกได้ โดยแบ่งออกเป็น ยาเคลือบผมชนิดไม่ทำลายโครงสร้างของเส้นผม มักเป็นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติหรือ เฮนน่า และยาย้อมชนิดที่ซึมเข้าสู่เส้นผม ซึ่งประเภทนี้เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน มีวางขายทั่วไปตามร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 84

ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมกึ่งถาวรเป็นการเคลือบสีผมบนชั้นนอกและกลางเส้นผม มีผลให้สีผมเปลี่ยนไป และติดทนอยู่ แต่สามารถล้างออกได้หลังจากผ่านการสระผม 5-6 ครั้ง มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5

ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชั่วคราวเป็นการเคลือบสีผมที่ชั้นนอกเท่านั้น สามารถล้างออกได้ด้วยแชมพูเพียงครั้งเดียว โดยมักมีเฉดสีสดใส นิยมใช้ในงานแฟนซี/รื่นเริง มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของตลาดเปลี่ยนสีผมรวมของไทย

ช่องทางตลาดของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม….ปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมผู้บริโภค
มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมของไทย คิดเป็นสัดส่วนที่วางจำหน่ายแก่ลูกค้าโดยตรงตามร้านค้า โมเดิร์นเทรดและซุปเปอร์มาร์เก็ต ประมาณร้อยละ 70 และเป็นสัดส่วนในร้านเสริมสวยอีกประมาณร้อยละ 30 ถึงแม้ว่าช่องทางตลาดของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมของไทยจะกระจายสู่ร้านเสริมสวยน้อยกว่าที่วางขายตามร้านค้า โมเดิร์นเทรดและซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่การวางโชว์สินค้าในร้านเสริมสวยนั้นนับว่ามีส่วนสำคัญในแง่การตลาด นอกจากเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการรวมถึงผู้ที่พบเห็น อยากทดลองใช้และไปหาซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆจากร้านค้าที่วางจำหน่ายต่อไป

กลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
 กลุ่มที่ใช้บริการตามร้านเสริมสวย ลูกค้ากลุ่มนี้มักเลือกใช้บริการกับร้านที่ให้บริการดี มีช่างทำผมที่มีฝีมือ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และราคาเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมบางรายได้มีการดำเนินการทางการตลาดในลักษณะพันธมิตรทางการค้ากับร้านเสริมสวย โดยทางร้านจะใช้สินค้าเฉพาะแบรนด์นั้นๆ จึงเสมือนเป็นทั้งลูกค้าและร้านวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัท อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมการให้บริการ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า เป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตัวผลิตภัณฑ์อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าร้านเสริมสวยจะมีลูกค้าลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่การใช้บริการตามร้านเสริมสวยก็ยังคงจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะบางครั้งการทำผม โดยเฉพาะในวัยรุ่น และวัยทำงาน ที่นิยมตัดผม/ซอยผม/ดัดผมควบคู่กับการเปลี่ยนสีผมไปพร้อมกันนั้น ยังจำเป็นต้องอาศัยช่างผมผู้ชำนาญการ และอุปกรณ์เฉพาะทาง ดังนั้น ร้านเสริมสวยจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการให้บริการที่ดีรวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมถึงดึงดูดลูกค้ารายใหม่ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

 กลุ่มที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมกลับมาทำเองที่บ้าน เนื่องจากผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคในบางส่วนจึงนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมกลับมาทำเองที่บ้าน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น อาจมีบางกลุ่มซึ่งจากเดิมนิยมใช้บริการที่ร้านเสริมสวยเปลี่ยนเป็นหันมาซื้อผลิตภัณฑ์กลับไปทำเองที่บ้าน และคาดว่าผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตจะหันมาเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ทำสีผมเองที่บ้านเป็นอีกหนึ่งช่องทางตลาดที่สำคัญ เพื่อปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม….ขยายฐานสู่กลุ่มลูกค้าผมทำสีมากขึ้น
เนื่องจากผมที่ผ่านการทำสีนั้น สารเคมีในน้ำยาจะทำลายสภาพผมชั้นนอกให้หยาบกระด้าง ทำให้ผมแห้งเสียได้หากขาดการบำรุงที่ดีพอ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงและดูแลสุขภาพเส้นผมจึงหันมาขยายฐานสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ทำสีผมมากขึ้นด้วย เนื่องจากตลาดในกลุ่มนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเน้นคุณสมบัติช่วยถนอมสีผมให้ติดคงทนเหมือนตอนทำเสร็จใหม่ๆ ช่วยให้สีเด่นชัดและเงางามขึ้น ฟื้นฟูและบำรุงสภาพผม อีกทั้ง ยังช่วยปกป้องแสงแดดที่มีส่วนทำให้สีผมซีดจางลง ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคได้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญในการเลือกใช้แชมพูและผลิตภัณฑ์สำหรับผมทำสีโดยเฉพาะ ผู้ผลิตจึงหันมาทำตลาดในส่วนนี้เพื่อเป็นการชดเชยตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมทั่วไปที่เริ่มอิ่มตัว ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ อีกทั้งการปรับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าผมทำสี เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ความเป็น พรีเมียม โดยได้มีการออกผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมสู่ตลาดหลากหลายประเภท อาทิ เซรั่มบำรุงผมทำสี ครีมหมักผมเพื่อฟื้นฟูสภาพผมที่แห้งเสียและขาดการบำรุง และมาส์กบำรุงผม จึงมีแนวโน้มที่การแข่งขันในตลาดนี้จะรุนแรงมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในภาวะกำลังซื้อชะลอตัว และการออกผลิตภัณฑ์ตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ทำสีผมนี้น่าจะช่วยให้ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดและดูแลเส้นผมของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ชดเชยตลาดในกลุ่มเส้นผมทั่วไปเพราะแนวโน้มคนไทยเกินกว่าครึ่งนิยมทำสีผม ทั้งเพื่อปกปิดผมขาวและตามแฟชั่น คาดว่าในปี 2552 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดและดูแลเส้นผมจะมีมูลค่าตลาดรวมในประเทศมากกว่า 12,400 ล้านบาท ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 5 จากปีก่อน ซึ่งมีอัตราขยายตัวใกล้เคียงกับในปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5 โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 11,800 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นตลาดแชมพูร้อยละ 69.5 ครีมนวดและทรีตเมนต์ร้อยละ 30.5

มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชะลอตัว….แต่คาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงปลายปี
เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมเป็นสารเคมีที่มีอันตราย ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมจึงถูกจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ โดยส่วนประกอบหลัก คือ สารเคมีในกลุ่มอนุพันธ์ของฟีนิลินไดอะมีน(Phenylenediamine) ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดสีผมที่แตกต่าง จึงพิจารณาการนำเข้าสารเคมีดังกล่าว เพื่อดูแนวโน้มการนำเข้าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในเบื้องต้น เนื่องจากไม่ได้มีการจัดสถิติผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไว้เฉพาะ ซึ่งในช่วง 8 เดือน ปี 2552 มูลค่าการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวหดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แหล่งนำเข้าสำคัญของไทย คือ จีน เบลเยียม เกาหลีใต้ อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจึงมีส่วนให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ชะลอตัวลงตาม ยกเว้น การนำเข้าจากอินเดียที่ยังคงขยายตัวร้อยละ 17.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนถึงความต้องการผู้บริโภคที่ยังคงสนใจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ นั่นคือการทำเฮนน่า แต่หากมองย้อนไปเมื่อปี 2551 มูลค่าการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51.2 จากปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าสูงสุดจากประเทศเยอรมนี ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย เบลเยียม และญี่ปุ่น ซึ่งขยายตัวร้อยละ 456.2, 150.4, 137.5, 110.1, 62.4, 34.5 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของไทย คือ จีนนั้นมีอัตราการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 8.5

จากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว ดูจะสวนทางกับการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากผู้ผลิตมีการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบจากในประเทศแทนการนำเข้า ประกอบกับผู้ผลิตได้ลดปริมาณส่วนผสมที่เป็นสารเคมีลง หรืออาจใช้สารเคมีตัวอื่น หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 เป็นต้นไปเศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัว น่าจะมีผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น เพราะในปัจจุบันถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว ผู้บริโภคที่นิยมและชื่นชอบแฟชั่นก็ยังคงใช้ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมอยู่เช่นเดิม หากแต่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่เข้าใช้บริการจากร้านเสริมสวย เป็นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตามสีที่ชอบและไว้วางใจมาทำการเปลี่ยนสีผมเองที่บ้าน จึงมีแนวโน้มว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในช่วงปลายปีน่าจะขยายตัวดีกว่าช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับปลายปีเป็นช่วงเทศกาล ซึ่งปกติแล้วผู้บริโภคก็จะนิยมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ การแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนสีผมด้วยเช่นกัน หรือเพื่อให้เข้ากับแฟชั่นเครื่องแต่งกายตามฤดูกาล

ส่วนด้านการส่งออก ในช่วง 8 เดือน ปี 2552 หดตัวลงเช่นกันที่ประมาณร้อยละ 3.2 ตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ตามลำดับ และปี 2551 มีมูลค่าส่งออกขยายตัวประมาณร้อยละ 33.7 โดยเน้นไปที่ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ

สรุป
ในอดีตการใช้ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมนั้นเพื่อต้องการปกปิดผมขาวเป็นหลัก เสริมสร้างความมั่นใจ และเพื่อบุคลิกภาพที่ดี แต่ปัจจุบันแนวโน้มการเปลี่ยนสีผมส่วนมากจะเป็นไปตามแฟชั่นนิยม ส่วนตัวผลิตภัณฑ์ก็ได้มีการพัฒนาให้มีเฉดสีที่หลากหลาย รวมถึงพัฒนาสูตรและส่วนผสมที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่เริ่มตื่นตัวมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสที่ร่างกายจะเกิดอาการแพ้น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบทั้งหมด ประกอบกับกระแสนิยมแฟชั่นดารา นักร้อง ญี่ปุ่น เกาหลี ได้มีผลอย่างมากต่อแนวโน้มการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นเสื้อผ้า การแต่งหน้า และทำผม ควบคู่กัน ซึ่งในปัจจุบันแฟชั่นทรงผมและสีผมเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมออกสู่ตลาดหลากหลายยี่ห้อ และหลากหลายโทนสีให้เลือก ส่งผลให้ตลาดนี้มีแนวโน้มแข่งขันสูงขึ้น เห็นได้จากตลาดผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมของไทยยังสามารถขยายตัวได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยปีนี้คาดว่าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมจะมีมูลค่าตลาดในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2,300-2,400 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยมีสัดส่วนเป็นผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมชนิดถาวรมากกว่าร้อยละ 80 ของตลาดรวม นอกจากนี้ความนิยมในการเปลี่ยนสีผมยังส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมขยายตัวสู่กลุ่มลูกค้าที่ทำสีผมมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แชมพู ครีมนวด ทรีตเมนต์ และเซรั่ม เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมในปีนี้ชะลอตัวกว่าปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นประกอบกับเข้าสู่ช่วงเทศกาล ซึ่งหลายคนจะให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การแต่งกาย เปลี่ยนทรงผมและสีผมใหม่ นอกจากนี้การนำเข้าของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย และญี่ปุ่น อาจเนื่องจากความนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากภูมิภาคเอเชียของคนไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสความนิยมแฟชั่นเกาหลีและญี่ปุ่น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์จากประเทศดังกล่าวมักมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา

จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันผู้บริโภคมักไตร่ตรองในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญในการการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมกับสภาพเส้นผมของคนไทย/เอเชีย ประกอบกับให้โทนสีที่ตรงใจผู้บริโภคสอดคล้องกับกระแสแฟชั่น ราคาไม่สูงจนเกินไป ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเส้นผมและหนังศีรษะ โดยเลือกใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ส่วนการทำการตลาดถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผลิตภัณฑ์นี้ มีการวางแผนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์/โฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างกระแสแฟชั่นให้ตลาดตื่นตัวตลอดเวลา เนื่องจากตลาดในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ ผู้ผลิตสามารถเข้าสู่ตลาดนี้ได้ง่าย เพราะเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคา และยังไม่ยึดติดกับยี่ห้อของผลิตภัณฑ์เท่าใดนัก แต่ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่แปลกตาเพื่อดึงดูดความสนใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รวมถึงการคงไว้ซึ่งระดับคุณภาพของสินค้า เนื่องด้วยปัจจุบันกระแสความนิยมด้านการเสริมความงาม มักเป็นที่แพร่หลายได้ง่ายแบบปากต่อปากของผู้บริโภค และต้องยอมรับว่าได้พัฒนาเข้าสู่การถ่ายทอดประสบการณ์ทางสื่ออินเทอร์เน็ต ที่สามารถสื่อสารกันได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และราคาไม่แพงมักกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังควรให้ความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับตัวแทนจำหน่าย และร้านเสริมสวย เนื่องจากเป็นช่องทางกระจายสินค้า และเปรียบเสมือนลูกค้าหลัก โดยเฉพาะร้านเสริมสวยที่มีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูน่าเชื่อถือ และยังเป็นการโฆษณาสินค้าในบริเวณที่ตั้งร้านอีกด้วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นแหล่งชุมชน อีกทั้ง ยังเป็นการนำเสนอสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากผู้ใช้บริการมักเป็นผู้ที่ใส่ใจในบุคลิกภาพของตน และชื่นชอบแฟชั่นทรงผมอยู่แล้ว ส่วนช่องทางขยายตลาดส่งออกก็ถือเป็นช่องทางที่ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อเป็นการขยายตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันในประเทศเริ่มรุนแรงขึ้น