กรุงเทพฯ – วันที่ 24 กันยายน 2552 – กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดป่าชุมชน ประจำปี 2552 ถ้วยรางวัลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน มีป่าชุมชนจำนวน 190 แห่งทั่วประเทศได้รับรางวัล ดังนี้
• รางวัลชนะเลิศป่าชุมชนระดับประเทศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี – ป่าชุมชนบ้านทาป่าเปา ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
• รางวัลดีเยี่ยมป่าชุมชนด้านป่าชุมชนแหล่งอาหารสมบูรณ์ – ป่าชุมชนดอนเจ้าปู่ ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
• รางวัลดีเด่นป่าชุมชนระดับภาค
o ภาคเหนือ – ป่าชุมชนบ้านวังตามน ตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย
o ภาคกลางและตะวันออก – ป่าชุมชนบ้านยางโทน ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
o ภาคตะออกเฉียงเหนือ – ป่าชุมชนวังคก-เขาซ่าเลือด ตำบลวะตะแบก และตำบลห้วยยายจิ๋ว อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
o ภาคใต้ – ป่าชุมชนบ้านสระแก้ว ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
• รางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด จำนวน 64 รางวัล
• รางวัลชมเชย จำนวน 120 รางวัล
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นนโยบายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นขบวนการมีส่วนร่วมในการทำงาน การสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วน รวมทั้งได้มีการปลูกป่า ทั้งป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ให้มีการดำเนินงานแบบครบวงจรและยั่งยืน
นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า “ในการดำเนินโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ 2 นี้ โครงการยังสานต่อตามเจตนารมณ์เดิม โดยได้จัดกิจกรรมประกวดป่าชุมชนตัวอย่างเพื่อคัดเลือกป่าชุมชน ที่มีความโดดเด่นที่จะสามารถเป็นป่าชุมชนตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้เปิดตัวโครงการและประกาศรับสมัครป่าชุมชนจาก ทั่วประเทศเข้าร่วมประกวดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีป่าชุมชนที่ผ่านคุณสมบัติและสมัครเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 674 แห่งจากทั่วประเทศ โดยป่าชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ และระดับภาคนั้น ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคณะกรรมการตัดสินจากกรมป่าไม้และราชบุรีโฮลดิ้งร่วมในการพิจารณาแล้วว่า เป็นป่าชุมชนที่มีความโดดเด่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมครอบคลุมมิติต่างๆ ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการป่าในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับกรมป่าไม้อย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลดีเยี่ยมด้านแหล่งอาหารสมบูรณ์ ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษในปีนี้ เป็นป่าชุมชนที่มีการใช้ประโยชน์ด้านอาหารและสมุนไพรจากป่าชุมชนอย่างหลากหลายและยั่งยืน”
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บริษัทขอแสดงความยินดีกับป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลทั้ง 190 แห่ง และหวังว่ารางวัลที่ได้รับนี้จะเป็นขวัญและกำลังใจให้ชุมชนต่าง ๆ ร่วมกันดูแลรักษาป่าชุมชนให้คงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืน บริษัทในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมทุกชุมชนที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ต่อไป”
สำหรับป่าชุมชนบ้านทาป่าเปา ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีพื้นที่ป่า 13,000 ไร่ อุดมด้วยไม้หลากหลายชนิด จากป่าโบราณที่เต็มไปด้วยไม้ขนาดใหญ่หายากต่างๆ ได้แก่ ประดู่ สัก เสี้ยว ป่าเต็งรัง พลวง เหียง ตีนนก ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านทาป่าเปาได้รับการฟื้นฟูในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม้หายากต่างๆ สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสมุนไพรกว่า 500 ชนิด ที่พบได้ง่ายในป่าชุมชน ซึ่งกลายเป็นแหล่งความรู้ให้กับเยาวชนและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่เข้ามาศึกษาวิจัยด้านสมุนไพร ผลของป่าไม้ที่สมบูรณ์ยังทำให้เกิดแหล่งน้ำเพียงพอที่จะทำประปาภูเขา ส่งน้ำ หล่อเลี้ยงชุมชน ป่าชุมชนแห่งนี้มีกระบวนการจัดการป่าโดยใช้หลักการ “บวร” บ้าน-วัด-โรงเรียน ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนกับป่านำพาสู่ความสมดุลแบบยั่งยืน มีสถาบันการออม มีประกันสุขภาพ สวัสดิการ ปลอดอบายมุข สิ่งเสพติด ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระราชดำริ”
“ป่าชุมชนที่กินได้ทุกตารางนิ้ว” คือนิยามของป่าชุมชนดอนเจ้าปู่ ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จากการสำรวจพื้นที่ป่า มีชนิดพันธุ์ไม้และของป่า กว่า 360 ชนิด ซึ่งร้อยละ 80 เป็นพันธุ์ไม้ผล พืชอาหาร และสมุนไพร ที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ด้านการเป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรคของคนในชุมชน 125 หลังคาเรือน อาหารจากป่าช่วยลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยวันละ 10 บาท ต่อหลังคาเรือน หากคิดเป็นปีจะพบว่าทรัพยากรในป่าชุมชนดอนเจ้าปู่ช่วยลดรายจ่ายให้ชุมชนได้ถึงปีละ 360,000 บาท