สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวมบริษัทลูก) ณ 30 มิ.ย. 2552 เพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 10,795 ล้านบาทจากสิ้นปี 2551 คิดเป็นอัตราการเติบโต 2.89% จากสิ้นปี 2551 และเพิ่มขึ้น 9.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และยอดขายรถยนต์ แต่ก็ยังเป็นบวกเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่หดตัว 2.7% จากสิ้นปี 2551 (แต่เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการลีสซิ่งรายเล็กที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงินของธนาคารขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีที่หดตัวลงถึง 27.74% หรือลดลง 88,855 คัน เป็น 231,429 คัน ประกอบกับคุณสมบัติของผู้กู้ยืมด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงถึง 6.0% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้อัตราการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินมีสัดส่วนลดลงก็ตาม
แนวโน้มธุรกิจให้เช่าซื้อช่วงที่เหลือของปี 2552 : ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น จากแรงหนุนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยอดขายรถที่กลับมาขยายตัว
แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก ในขณะที่ความคาดหวังในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้อาจมีส่วนช่วยหนุนอำนาจซื้อของประชาชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดให้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลดีตามมาต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ หากรัฐบาลสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศได้มั่นคงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้น รวมถึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นได้
ด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ก็มีทิศทางการหดตัวในอัตราที่ลดลงเป็นลำดับในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยเป็นผลจากสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนราคาสูงอย่างรถยนต์ให้กลับฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับมีรถรุ่นใหม่ทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์รวมในประเทศในเดือน ส.ค. หดตัวลง 8.2% (YoY) เทียบกับเดือน ก.ค. และ มิ.ย. ที่หดตัวลง 3.6% และ 13.4% (YoY) ตามลำดับ โดยยอดรวมการจำหน่ายในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ หดตัวลง 23.1% (YoY) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นว่าจะหดตัวลงประมาณ 30%
ทั้งนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค บวกกับกระแสการแข่งขันในธุรกิจให้เช่าซื้อรถ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี จาก 230,000-246,000 คัน เป็นประมาณ 247,000-259,000 คัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกที่มียอดขายรวม 231,429 คัน และส่งผลให้ยอดขายรวมทั้งปี 2552 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 478,000-490,000 คัน คิดเป็นอัตราการหดตัวอยู่ในช่วง 20.0-22.0% จากปี 2551 เทียบกับอัตราการหดตัว 27.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี
ยอดขายรถที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจเช่าซื้ออาจเป็นไปในขอบเขตจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังค่อยเป็นค่อยไป และเป็นอัตราที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ ทำให้ยอดขายรถในประเทศน่าจะโตในอัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และส่งผลมาถึงสินเชื่อเช่าซื้อเช่นกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มตลาดสินเชื่อเช่าซื้อของปี 2552 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ช้าลงเป็นประมาณ 11-12% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 20% ในช่วง 4 ปีก่อน (2548-2551) โดยมีสาเหตุหลักจากจำนวนยอดขายรถยนต์ใหม่ต่อปีที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีตเฉลี่ย 20%
นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงเครดิตที่เริ่มคลี่คลายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มุ่งขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ประกอบกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่แห่งหนึ่งรุกธุรกิจอย่างหนัก โดยใช้กลยุทธ์ราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเป็นตัวนำในการขยายตลาด ทำให้บริษัทผู้นำตลาดต่างต้องตรึงถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อลง แม้จะสวนกระแสทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวที่เริ่มขยับขึ้น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนธุรกิจ แต่ด้วยการเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนของพอร์ทสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมดซึ่งมีลักษณะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ และยังมีส่วนผสมของสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงในปี 2548-2549 อยู่ ทำให้ผู้ประกอบการให้เช่าซื้อยังมีความสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้ออีกระยะหนึ่ง โดยไม่ต้องปรับขึ้นตามต้นทุนเงินฝากทันที หรือในสัดส่วนเดียวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
กระแสการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับรถใหม่ต่ำสุดอยู่ที่ 2.55% และคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้จนถึงสิ้นปี เทียบกับเฉลี่ย 3.08% ในปี 2551 ส่วนแนวโน้มในปี 2553 นั้น คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเพื่อเช่าซื้อรถน่าจะยังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ให้บริการ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นได้ไม่มากนัก หรือประมาณ 0.1-0.2% จากระดับประมาณ 2.55-2.65% ในปัจจุบัน ซึ่งประมาณการขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2553 ดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานสำคัญว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมในระบบธนาคารพาณิชย์ จะมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็อาจยังคงเป็นอัตราการขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้สภาพคล่องในระบบยังน่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อที่ค่อนข้างจำกัดดังกล่าว อาจทำให้ช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องไปถึงปี 2553 เป็นปีทองของผู้บริโภคที่ต้องการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถอีกครั้ง แต่ในแง่ของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อนั้น อาจกลับได้รับผลกระทบจากมาร์จิ้นของธุรกิจที่แคบลง โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนของเงินทุนมีโอกาสขยับขึ้นชัดเจนขึ้น ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จนอาจกดดันผู้ประกอบการรายกลางและเล็กบางส่วนให้ต้องถอนตัวจากตลาดนี้เพิ่มขึ้น
ภายใต้ภาวะที่มาร์จิ้นของผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อมีแนวโน้มแคบลงดังกล่าว จะเห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงหาทางออกด้วยการหันไปขยายโอกาสการทำธุรกิจรองมากขึ้น ผ่านการทำตลาดสินเชื่อที่ใช้รถยนต์เป็นหลักประกันมากขึ้น รวมถึงการเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น เช่น การทำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อสร้างรายได้ให้ธุรกิจชดเชยมาร์จิ้นของธุรกิจหลักที่บางลง ทั้งนี้การทำตลาดสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วที่ปลอดภาระนี้ มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ
– สินเชื่อที่ใช้รถยนต์เป็นประกัน (Sale and Hire Purchase Back) คือการนำรถยนต์ที่ปลอดภาระมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อเช่าซื้อโดยมีการโอนทะเบียนให้บริษัท ในกรณีนี้จะคล้ายการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถมือสองหรือรถใช้แล้ว (Used Car) แต่เปิดโอกาสให้เจ้าของรถสามารถใช้บริการสินเชื่อได้ โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถมือสองประมาณ 1%
– สินเชื่อจำนำทะเบียน มีลักษณะเป็นสินเชื่อบุคคลประเภทหนึ่งที่มีการใช้สมุดทะเบียนรถยนต์วางเป็นหลักประกัน หรือการโอนลอย ทั้งนี้ เนื่องจากกรรมสิทธิ์บนรถยนต์ยังคงเป็นของเจ้าของรถยนต์ ซึ่งแตกต่างจากกรณีแรกที่กรรมสิทธิ์จะถูกโอนมายังบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อ ทำให้บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อดังกล่าวต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงกว่า ดังนั้น สินเชื่อจำนำทะเบียนจึงมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อที่ใช้รถยนต์เป็นหลักประกัน และสูงกว่าสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถประมาณ 3-4 เท่าตัว (Effective Rate) โดยการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นอยู่กับนโยบายบริษัทและมักแตกต่างกันระหว่างลูกค้า ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของรถยนต์ที่นำมาค้ำประกัน เช่น ยี่ห้อรถ และจำนวนปีของการใช้งาน เป็นต้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมักคิดในลักษณะอัตราดอกเบี้ยคงที่ในแต่ละเดือน ส่วนเมื่อเทียบกับสินเชื่อบุคคลทั่วไป จะพบว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนจะให้เงินกู้ก้อนใหญ่กว่า ตามมูลค่าของรถยนต์ที่นำมาจำนำ (สินเชื่อบุคคลจะได้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน) อีกทั้งมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลทั่วไปสูงสุดที่ 28% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าธุรกิจหลักคือการให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่ยังคงความสำคัญอย่างมากต่อโอกาสการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถ เนื่องจากตลาดของธุรกิจรองดังกล่าวค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก 80% ของยอดขายรถยนต์จะใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ก่อนแล้ว โดยเฉลี่ยใช้เวลาผ่อนชำระประมาณ 5 ปี จึงจะปลอดภาระ ซึ่งเมื่อปลอดภาระแล้ว เจ้าของรถบางส่วนก็อาจขายรถต่อเพื่อซื้อรถใหม่ ทำให้สัดส่วนรถเก่าที่ไม่มีภาระผูกพันมีจำนวนไม่มากนัก ขณะที่จำนวนเงินที่ปล่อยกู้ต่อคันจะต่ำตามค่าเสื่อมของรถ จึงทำให้ฐานสินเชื่อประเภทนี้อาจมีจำกัด และอาจมีโอกาสขยายตัวไม่มากนัก
บทสรุป
ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2552 ธุรกิจให้เช่าซื้อรถน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถเพิ่มสูงขึ้น โดยที่คุณสมบัติหรือความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้เช่าซื้อปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อยอดขายรถใหม่ เนื่องจากประมาณ 80% ของยอดขายรถใหม่ ใช้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถ
ขณะที่หากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อาทิ การเมืองในประเทศ สามารถควบคุมได้ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนราคาแพงอย่างรถยนต์ ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3/2552 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่แห่งหนึ่งประกาศรุกตลาดสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถ ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาดพร้อมข้อเสนอพิเศษจูงใจดีลเลอร์ผู้ขายรถ ซึ่งทำให้กระแสการแข่งขันให้สินเชื่อเช่าซื้อกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง อันเป็นผลดีต่อบรรยากาศการซื้อขายรถ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อยอดขายรถยนต์ ก็คือราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปัจจัยทั้งสองน่าจะมีผลไม่มากนัก เนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นน่าจะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 10-15% ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อรถใหม่ มีโอกาสเลือกใช้พลังงานทางเลือกได้ ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว อาจส่งผลต่อต้นทุนการเงินของธุรกิจให้เช่าซื้อในระยะต่อไป แต่กระแสการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเพื่อเช่าซื้อรถ น่าจะปรับขึ้นได้ไม่มากนัก โดยมีแนวโน้มทรงตัวถึงสิ้นปี 2552 ก่อนจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 0.1-0.2% ในปีหน้า จากระดับประมาณ 2.55-2.65% ในปัจจุบัน ตามทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบ กระนั้นก็ดี ประมาณการขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2553 ดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานสำคัญว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบ จะมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็อาจยังคงเป็นอัตราการขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้สภาพคล่องในระบบยังน่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น