ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส แนะผู้ประกอบการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงสู่

กรุงเทพฯ, 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 – ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส แนะผู้ประกอบการทุกขนาดเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standard) หรือ IFRS ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน องค์กรจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบงาน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ เพื่อรับประโยชน์อย่างสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงให้งบการเงินของตนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินลงทุนได้ง่ายขึ้น

นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนสายงานการตรวจสอบบัญชี ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย ได้ให้วิสัยทัศน์เกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ไว้ว่า “ระบบเศรษฐกิจและการเงินในโลกโลกาภิวัฒน์ ที่มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากเกิดสิ่งใดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโลก ย่อมส่งผลไปถึงประเทศอื่นๆด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราด้วย การรายงานทางการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินที่จะเลือกลงทุนรวมทั้งการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้า ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินที่โปร่งใสและเข้าใจได้ ซึ่งในปัจจุบัน มีประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ที่หันมาใช้มาตรฐานการบัญชีการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS)”

“ในส่วนของประเทศไทยนั้น สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานการบัญชีร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชีไทยให้เป็นมาตรฐานการการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ระยะเริ่มต้นปี พ.ศ.2554 และระยะที่สอง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป ระยะที่สองนี้ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่การบัญชีเครื่องมือทางการเงิน ดังนั้นผู้ประกอบการควรตระหนักถึงการเปลี่ยน แปลงที่สำคัญที่จะเกิดขึ้น” นายประสัณห์กล่าว

สำหรับการปรับเปลี่ยนระบบการรายงานให้เป็นไปตาม IFRS เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางการบัญชีที่สำคัญและจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางการเงิน ภาษีที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งระบบงาน บุคลากรในองค์กร รวมทั้งผู้ลงทุน นักวิเคราะห์ และบุคคลภายนอก ที่ควรจะต้องทราบถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ ตัวอย่างเช่น การบัญชีผลประโยชน์พนักงาน จะส่งผลทำให้ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรเพิ่มขึ้น หรือ การบัญชีเกี่ยวกับอนุพันธ์ ซึ่งจะส่งผลให้ผลกำไรขาดทุนของบริษัทมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นรายการข้างต้นจะมีการบันทึกบัญชีก็ต่อเมื่อมีการจ่ายหรือรับเงิน นอกจากนั้น IFRSยังส่งผลกระทบต่อเรื่องบางเรื่องด้วย อาทิ Customer Royalty Program ได้แก่การให้คะแนนสะสมเพื่อนำมาแลกสินค้าและบริการ ทำให้การรับรู้รายได้ลดลง ณ จุดที่มีการขาย และอาจทำให้รูปแบบการส่งเสริมการขายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ฉะนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม เพื่อรับประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงระบบบัญชีใหม่ โดยประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องคำนึง ได้แก่ การวิเคราะห์เบื้องต้นถึงผลกระทบด้านบัญชี ภาษี รวมทั้งระบบงานตามข้อกำหนดใหม่ นอกจากนั้น บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรที่จะมีความรู้ ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่างๆเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการเพื่อเปลี่ยนระบบบัญชีใหม่ จะประสบความสำเร็จได้หากมีการจัดทำแผนงานที่ดีและมีระยะเวลาที่เหมาะสมซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดต้นทุนดำเนินการได้ ทั้งนี้การสื่อสารภายในองค์กรทุกๆระดับก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป

นอกจากนั้นการสื่อสารกับผู้ลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบทางการเงินที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ก็เป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งยังก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรด้วย ผู้ประกอบการควรตระหนักและให้ความใส่ใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านบัญชีที่จะต้องเพิ่มระดับความรู้ความสามารถ เพื่อสามารถจัดทำรายงานทางการเงินให้เป็นที่น่าเชื่อถือและถูกต้อง คาดว่าระยะเวลาในการเตรียมการ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี พ.ศ. 2556 รวมมากกว่า 36 เดือน ซึ่งน่าจะเพียงพอ

นางสาวแน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ หุ้นส่วนสายงานการตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าทีมผู้ให้บริการด้านมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีสำหรับธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (IFRS for SMEs) ว่า ““มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่นี้อาจจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงบริษัทย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีหลักการสำคัญว่าขนาดของกิจการไม่ได้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจว่ากิจการนั้นสามารถใช้มาตรฐานรายงานทางการบัญชีฉบับนี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่ากิจการนั้นๆต้องไม่ใช่กิจการที่ต้องรับผิดชอบสาธารณะ “

ทั้งนี้ เนื้อหาของมาตรฐานฉบับนี้ยังสั้นและมีความซับซ้อนน้อยกว่า FULL IFRS โดยมีเนื้อหาเพียง 230 หน้า เทียบกับ 2,500 หน้าของ FULL IFRS กิจการขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับประโยชน์จากมาตรฐานฉบับนี้ เนื่องจากมีหลักการบนพื้นฐานของ IFRS และงบการเงินที่จัดทำขึ้นจะได้รับการยอมรับทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การที่จะนำมาตรฐานฉบับนี้มาใช้ปฏิบัติได้นั้นต้องมีกฎหมายของแต่ละประเทศรองรับก่อน สำหรับประเทศไทย ในขณะนี้ทางสภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรฐานทางบัญชีสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หาก IFRS for SMEs มีผลบังคับใช้ในอนาคตจะทำให้มาตรฐานการบัญชีบางฉบับที่ได้รับการยกเว้นบังคับใช้กับธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทมหาชนจำกัดมีการเปลี่ยนแปลง ที่เคยยกเว้นอาจจะไม่ยกเว้น เช่น งบกระแสเงินสด ซึ่ง IFRS for SMEs ยังคงกำหนดให้ต้องจัดทำ

“สำหรับกิจการขนาดเล็กในประเทศไทย อาจจะยังไม่มีความพร้อมในการนำ IFRS for SMEs มาใช้ เนื่องจากยังคงต้องจัดทำการบัญชีผลประโยชน์พนักงานและการภาษีเงินได้เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลา หรือ อาจต้องพิจารณากำหนดมาตรฐานการบัญชีเฉพาะสำหรับกิจการขนาดเล็กดังกล่าว” นางสาวแน่งน้อย กล่าวทิ้งท้าย

# # # # #

สอบถามข้อมูลทางด้านประชาสัมพันธ์กรุณาติดต่อแผนกการสื่อสารการตลาด

วรัญญา อนันต์
โทร.0-2344-1000 ต่อ 4709
อีเมลล์. waranya.anant@th.pwc.com

พิมพ์วิสาข์ เทียนศรี
โทร.0-2344-1000 ต่อ 4696
อีเมลล์ pimwisa.thiensri@th.pwc.com