“อินโดรามา เวนเจอร์ส” ยื่น filing เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) และร่างหนังสือชี้ชวน สำหรับเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญของบมจ. อินโดรามา โพลีเมอร์ส (“IRP”) ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IRP ตามแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

IVL ได้เตรียมทำการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) โดยคาดว่าจะนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาสแรกของปี 2553 โดยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น IVL จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นระหว่าง IVL และ IRP เมื่อ IVL ได้รับอนุญาตและการผ่อนผันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว IVL จะเสนอซื้อหุ้น IRP ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IRP โดยแลกกับหุ้นสามัญที่ออกใหม่ของ IVL หลังจากนั้น จึงจะดำเนินการเพิกถอนหุ้น IRP จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกันกับวันที่เริ่มซื้อขายหุ้นของ IVL ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (รวมส่วนที่ออกเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น IRP ที่ตอบรับการทำคำเสนอซื้อ และส่วนที่เป็นหุ้น IPO) ดังนั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IRP ที่ตอบรับคำเสนอซื้อจะสามารถทำการซื้อขายหุ้น IVL ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนในการทำคำเสนอซื้อได้พร้อมกับผู้ที่จองซื้อหุ้น IPO ของ IVL ในวันที่เริ่มซื้อขายหุ้นของ IVL ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตามแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นฯ ดังกล่าว IVL จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IRP ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหุ้น ในอัตราหุ้นสามัญของ IVL 1.232 หุ้น (มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท) ต่อ 1 หุ้นสามัญของ IRP (มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท) โดยไม่มีการชำระค่าตอบแทนหุ้นในรูปของตัวเงิน ดังนั้น จำนวนหุ้นทั้งหมดของ IRP ที่ IVL จะเสนอซื้อเท่ากับ 424.48 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30.71 ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของ IRP ซึ่งที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ IRP ได้พิจารณาอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นฯ ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552

ทั้งนี้ IVL เชื่อว่า โครงสร้างการถือหุ้นใหม่จะทำให้กลุ่มบริษัทของ IVL มีความโปร่งใสและชัดเจนขึ้น และขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่าง IVL และ IRP ภายหลัง IVL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ IVL เชื่อว่า ภายหลังจากการตอบรับข้อเสนอของ IVL ผู้ถือหุ้นรายย่อยปัจจุบันของ IRP จะได้รับประโยชน์มากขึ้น จากการที่ IVL ดำเนินธุรกิจในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรโดยการลงทุนผ่านบริษัทย่อย ที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง มีการบริหารต้นทุนและการผลิตตลอดสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถรักษาระดับกระแสเงินสดให้มีความสม่ำเสมอในแต่ละปีอีกด้วย