จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรล่าสุดเดือนก.ย. 2552 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง (YoY) และภาวะการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การจ้างงานในภาคก่อสร้างก็พลิกกลับมาขยายตัวเป็นเลขสองหลักที่ร้อยละ 14.1 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ส่วนอัตราการว่างงานยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.2 ถึงแม้ตัวเลขผู้ว่างงานจะขยับขึ้นเล็กน้อย (MoM) ก็ตาม
สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะการมีงานทำของแรงงานไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2553 ยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ขณะเดียวกันอาจต้องเตรียมรับมือกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการเรียกร้องให้ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2553 ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เน้นใช้แรงงาน (Labor- intensive) อันย่อมจะกระทบกับผลกำไรของธุรกิจ และอาจเป็นปัจจัยที่กดดันการจ้างงานด้วย หากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึงอย่างเต็มที่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อแนวโน้มการจ้างงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปี 2553 ดังนี้
ภาวะการจ้างงานรวมปรับตัวดีขึ้น … แต่อัตราการว่างงานยังทรงตัว
ตัวเลขการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจากการฟื้นตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตร โดยผู้มีงานทำในเดือนก.ย. มีจำนวน 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (Year-on-Year, YoY) เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.0 (YoY) ในเดือนก.ย. ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในเดือนส.ค. ถึงแม้การจ้างงานในภาคเกษตรจะหดตัวสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งสวนทางกับการปรับตัวดีขึ้นของทั้งผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญในเดือนก.ย. แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในเดือนส.ค. ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรหดตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในเดือนส.ค. มาอยู่ที่หดตัวร้อยละ 5.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านฤดูกาล เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลการมีงานทำในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรในเดือนก.ย. มักจะลดลงจากเดือนก่อนหน้าของทุกปี แต่มักจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 2 เดือนสุดท้าย
การจ้างงานในหลายอุตสาหกรรมยังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและการก่อสร้าง โดยสำหรับภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการส่งออกของไทยนั้น ยังคงมีการจ้างงานที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในเดือนก.ย. เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า) โดยได้รับแรงหนุนจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศที่ทำให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันปีก่อน การจ้างงานในภาคการผลิตเร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 (YoY) ในเดือนส.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังคงเน้นไปที่การผลิตในบางกลุ่ม ได้แก่ การผลิตเครื่องแต่งกาย การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง เครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ อย่างไรก็ดี ยังมีการจ้างงานในบางสาขาของภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงในเดือนก.ย. 2552 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 อาทิ การผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรสำนักงาน การผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ขณะที่การจ้างงานในภาคก่อสร้างในเดือนก.ย. ก็พลิกกลับมาขยายตัวเป็นเลขสองหลักที่ร้อยละ 14.1 จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 (YoY) เทียบกับที่เคยหดตัวร้อยละ 0.5 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
ส่วนตัวเลขผู้ว่างงานแม้จะขยับขึ้นเล็กน้อย แต่อัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยผู้ว่างงานในเดือนก.ย. มีจำนวน 4.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนส.ค. ที่มีผู้ว่างงานจำนวน 4.5 แสนคน (ตัวเลขว่างงานพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.6 ในเดือนก.ย.จากที่เคยหดตัวร้อยละ 6.2 ในเดือนส.ค.) โดยได้ยุติการลดลง 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2552 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) จำนวนผู้ว่างงานก็เพิ่มขึ้น 3 หมื่นคน (พุ่งขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 6.0 จากที่เคยหดตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนส.ค.) ขณะที่ อัตราการว่างงานในเดือนก.ย. ถึงแม้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.2 หลังจากที่ขยับลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเม.ย. แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในเดือนก.ย. 2551 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่เริ่มลดลงตั้งแต่เดือนก.ค. แต่ยังคงเพิ่มขึ้นมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
แนวโน้มการจ้างงานในระยะข้างหน้าปรับตัวดีขึ้น … แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง
แนวโน้มการจ้างงานในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยแนวโน้มน่าจะได้รับปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจากการประเมินตัวเลขการจ้างงานล่าสุดที่ยังคงสะท้อนสัญญาณบวกชัดเจนในภาคการผลิต ประกอบกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มักจะปรับตัวดีขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาล ภายใต้มุมมองดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2552 ลงเล็กน้อยมาที่ 5.9 แสนคน โดยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (จากเดิมที่คาดว่าน่าจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยที่ 6.03 แสนคน และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.6) ซึ่งดีกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.7 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
สำหรับแนวโน้มในปี 2553 ปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการผลิตต่างๆ ยังคงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการส่งออก และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ภาคก่อสร้าง อาจได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า จำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2553 มีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.0-5.4 แสนคน ต่ำกว่าในปี 2552 ที่คาดว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 5.9 แสนคน และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ในกรอบร้อยละ 1.3-1.5 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2552
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าแม้ภาวะการมีงานทำของแรงงานไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2553 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเผชิญกับหลากหลายปัจจัยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ในซีกโลกตะวันตกกำลังถูกตั้งคำถามว่าการฟื้นตัวจะยั่งยืนหรือไม่ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการมีข้อจำกัดมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในซีกเอเซียอาจก้าวเข้าสู่ช่วงของการคุมเข้มนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนท่ามกลางความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ที่ถีบตัวสูงขึ้น ตัวแปรดังกล่าวอาจทำให้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานขึ้น จนอาจย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานได้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจมีผลรบกวนการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่าเป็นกลจักรสำคัญในการลดปัญหาการว่างงานในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเองอาจต้องเผชิญกับแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ค่อยๆ ขยับขึ้นจากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยังต้องเตรียมรับมือกับข้อเรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงในปี 2553 ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจ และอาจเป็นปัจจัยที่ย้อนกลับมากดดันการจ้างงานได้ หากภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึงอย่างเต็มที่
โดยสรุป จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรล่าสุดเดือนก.ย. 2552 ที่มีการรายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตัวเลขการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง (YoY) ขณะที่ภาวะการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิต และการก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ส่วนอัตราการว่างงานยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.2 แม้ตัวเลขผู้ว่างงานจะขยับขึ้นเล็กน้อย (MoM) ก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจ้างงานในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยแนวโน้มน่าจะได้รับปัจจัยหนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ประกอบกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มักจะปรับตัวดีขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาล ภายใต้มุมมองดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2552 ลงมาอยู่ที่ 5.9 แสนคน โดยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (จากเดิมที่คาดว่าน่าจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 6.03 แสนคน และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.6) ซึ่งดีกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.7 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในปี 2553 ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการส่งออก และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานในภาคการก่อสร้างอาจได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า จำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ยในปี 2553 มีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.0-5.4 แสนคน ต่ำกว่าในปี 2552 ที่คาดว่าจะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยประมาณ 5.9 แสนคน และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ในกรอบร้อยละ 1.3-1.5 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2552
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าแม้ภาวะการมีงานทำของแรงงานไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2553 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่เมื่อมองไปข้างหน้าภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังเผชิญกับหลากหลายปัจจัยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่อาจทำให้เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานขึ้น จนอาจย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานได้ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจกิจไทยก็ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจมีผลรบกวนการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่าเป็นกลจักรสำคัญในการลดปัญหาการว่างงานในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเองอาจต้องเผชิญกับแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ค่อยๆ ขยับขึ้นจากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยังต้องเตรียมรับมือกับข้อเรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงในปี 2553 ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจ และอาจเป็นปัจจัยที่ย้อนกลับมากดดันการจ้างงานได้ หากภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึงอย่างเต็มที่