ส่งออกปี 53 อาจขยายตัว 9.0-12.0% … นำโดยสินค้าโภคภัณฑ์ อาหาร และ Hi-Tech

การส่งออกของไทยในเดือนสุดท้ายของปี 2552 ขยายตัวด้วยอัตราที่สูงเกินคาดที่ร้อยละ 26.1 เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่จากที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้มีการหดตัวสูงตลอดช่วง 10 เดือนแรกของปี จึงส่งผลให้การส่งออกโดยรวมตลอดทั้งปี 2552 ที่ผ่านมา ลดลงถึงร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้กระนั้น หากเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย การส่งออกของไทยยังนับว่ามีสถานะที่ดีกว่าหลายประเทศ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลโดยรวมที่มีต่อเศรษฐกิจนั้น ไทยค่อนข้างได้รับผลกระทบจากความถดถอยของการส่งออกรุนแรงมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเซีย สำหรับแนวโน้มในปี 2553 การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดหวังแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกของไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากหลายด้าน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2552 มีทิศทางดีขึ้นทั้งในด้านมูลค่าและอัตราการขยายตัวของการส่งออก โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 13,840 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ 14,629 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 17.2 ในเดือนพฤศจิกายน และเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 17 เดือน ซึ่งการขยายตัวสูงดังกล่าวนั้น แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งเป็นห้วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งล่าสุด แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาล พบว่าเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 14.4 จากเดือนพฤศจิกายน (Seasonally Adjusted, Month-on-Month) สะท้อนทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ปรับลดลงร้อยละ 1.2 ในเดือนพฤศจิกายน (MoM, SA) ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ตามลักษณะทางฤดูกาลของการส่งออกในเดือนธันวาคมเป็นปลายฤดูกาลส่งออก ซึ่งมูลค่ามักจะลดลงจากเดือนพฤศจิกายน แต่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น น่าจะมีสาเหตุจากการสั่งซื้อสินค้ากลุ่มที่มีการคาดหมายว่าราคาจะปรับขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ

สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2552 มีมูลค่า 152,502 หดตัวลงร้อยละ 14.2 จากที่มีมูลค่า 177,775 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551 ซึ่งนับเป็นตัวเลขติดลบที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในอดีต การส่งออกเคยติดลบครั้งรุนแรงที่สุดในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในปี 2518 (ค.ศ. 1975) การส่งออกหดตัวลงประมาณร้อยละ 10 แต่ในช่วงนั้นเศรษฐกิจโลกแม้ว่าประสบกับภาวะซบเซา แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบ โดยมีการขยายตัวร้อยละ 1.9 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.2 ส่วนในปี 2552 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเผชิญความถดถอยที่รุนแรงมากกว่า โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 1.1 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแล้ว การส่งออกที่หดตัวลงของไทยยังนับว่ามีสถานะที่ดีกว่าอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ที่อาจหดตัวกว่าร้อยละ 20 ขณะที่จีน อินเดีย และอินโดนีเซียก็หดตัวมากกว่าร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการทรุดตัวของภาคการส่งออก อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกนั้น ประเทศไทยค่อนข้างที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค รองจากฮ่องกง มาเลเซีย และไต้หวัน เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจมีการพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง โดยการส่งออกที่ลดลงมีผลให้มูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2552 สูญหายไปถึงร้อยละ 7.3 (Gross Exports)

ในด้านการนำเข้าในเดือนธันวาคมก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน มีมูลค่า 14,424 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 13 เดือน โดยสาเหตุก็เป็นเช่นเดียวกับการส่งออก คือ มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มที่ราคามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มเชื้อเพลิงและวัตถุดิบ โดยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ส่วนภาพรวมการนำเข้าในปี 2552 มีมูลค่า 133,796 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 25.3 จากปี 2551 ที่มีมูลค่า 179,223 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การนำเข้าที่ทรุดตัวลงรุนแรงกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในปี 2552 เกินดุลเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18,706 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะพลิกกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 10.5 โดยมีช่วงกรอบประมาณการอยู่ระหว่างร้อยละ 9.0-12.0 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบที่การส่งออกหดตัวลงไปมากในปี 2552 สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของการส่งออก ที่สำคัญได้แก่

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4-5 ก็ตาม (การคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคมของ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2553)

การส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มค่อนข้างสดใส ทั้งปริมาณความต้องการสินค้าจากไทยที่มีเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในหลายประเทศประสบความเสียหาย รวมทั้งราคาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้มากจากปัญหาอุปทานลดลง

การลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีหลายกรอบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่เจรจาที่มีการลดภาษีศุลกากรให้แก่ไทยเพิ่มขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา เช่น อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยในปี 2553 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เช่น ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ที่ยังคงเปราะบาง โดยอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ และยูโรโซนล่าสุดยังคงมีระดับสูงที่ร้อยละ 10 ซึ่งอาจคาดหวังการเติบโตของตลาดผู้บริโภคในประเทศกลุ่มนี้ได้ไม่มากนัก ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แม้มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่ยังมีความเสี่ยงให้ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ นอกจากนี้ การใช้มาตรการทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้าก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือ เช่น สหภาพยุโรป ที่มีการออกกฎระเบียบเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสินค้าอาหารและอาหารสัตว์บางประเภทที่นำเข้าจากไทย อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะจัดสรรโควตาส่งออกไก่ของไทยแบ่งไปให้ประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจากผลของการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกค่อนข้างมีความกังวล นอกจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศแล้ว ปัจจัยภายในที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ประเด็นในด้านศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งในบางอุตสาหกรรมไทยค่อนข้างเสียเปรียบเมื่อต้องแข่งขันด้านราคา ขณะที่ความกังวลต่อปัจจัยการเมืองภายในประเทศของไทยก็อาจเป็นสิ่งที่มีผลต่อความมั่นใจของผู้นำเข้าในต่างประเทศต่อการส่งมอบสินค้าของผู้ผลิตไทย ซึ่งอาจทำให้มีการกระจายคำสั่งซื้อไปสู่ประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2553 ว่าจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณร้อยละ 9.0-12.0 จากที่หดตัวลงร้อยละ 14.2 ในปี 2552 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 166,000-171,000 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 152,502 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 แต่คาดว่าจะยังไม่สามารถกลับไปถึงระดับที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดในช่วงปี 2551 ที่มีมูลค่า 177,775 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การส่งออกที่ลดลงอย่างมากมีผลให้มูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2552 สูญหายไปถึงร้อยละ 7.3

หากจำแนกตามกลุ่มสินค้า คาดว่า สินค้าที่น่าจะส่งออกได้ในเกณฑ์ดีน่าจะอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าอาหาร และสินค้ากลุ่ม Hi-Tech โดยสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างสูง (มากกว่าร้อยละ 10) อาทิ ข้าว ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป โลหะพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และสินค้าที่มีการหดตัวลงอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ส่วนสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวดีในระดับปานกลาง (ระหว่างร้อยละ 5-10) ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์กุ้ง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าที่อาจมีโอกาสขยายตัวแต่ยังต้องระมัดระวัง ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เนื่องจากสภาพตลาดมีการแข่งขันสูง และไทยค่อนข้างเสียเปรียบด้านต้นทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างเวียดนามและจีน ส่วนสินค้าบางกลุ่มการส่งออกอาจยังเผชิญปัญหา โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน เช่น เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น