เผยผลศึกษา Creative Economy สร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยล้านล้านบาท

ผลจากการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังและสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ชี้ 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 10 ของ GDP ประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอีกหากได้รับการสนับสนุนด้านห่วงโซ่มูลค่าและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มแข็งขึ้น

ฯพณฯ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในสัมมนา “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 ว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ของรัฐบาล และได้สนับสนุนให้สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังและสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ดำเนินโครงการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย

ทั้งนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พบว่า เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยกับต่างประเทศ จะพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของไทยสูงประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 5.1 เป็นรองเพียงประเทศในกลุ่ม OECD อินเดีย และจีน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยจึงมีศักยภาพในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดงานเปิดตัวโครงการ Creative Thailand อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ จากร้อยละ 12 ของ GDP เป็นร้อยละ 20 ของ GDP ภายในปี 2555

“ผมยังได้พยายามแสวงหาความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก เช่น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และอังค์ถัด ซึ่งจากการปรึกษาหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของทั้ง 2 องค์การในหลายโอกาส ล้วนแสดงความพร้อมและความกระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคกับไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเจนีวา ได้พบหารือกับนาย James Pooley รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ด้านสิทธิบัตร และ นาย Trevor Clarke ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ด้านลิขสิทธิ์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบ Creative Enterprises Division ของ WIPO ด้วย” นายอลงกรณ์กล่าว

โดยได้ใช้โอกาสดังกล่าวหารือเรื่องบทบาทและความร่วมมือกับด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจะร่วมกันจัดสัมมนาระดับภูมิภาคที่ไทยในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันโครงการ Creative ASEAN ที่ได้เสนอไว้ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อกลางปีที่แล้ว ทั้งนี้ ทางองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้แสดงความชื่นชมไทยอย่างมาก ที่มีความมุ่งมั่นในการนำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น และเชื่อมโยงทรัพย์สินทางปัญญากับภาคธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้ ในอนาคตอาจจะดึงให้ศูนย์การค้าระหว่างประเทศ หรือ International Trade Center (ITC) ซึ่งเป็นองค์กรลูกของอังค์ถัดที่เน้นภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“เราได้แสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพหรือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่าย และพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย เช่น การประสานความร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯ (MPAA) Sony Pictures และ Time Warner เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชั่นไทย การร่วมมือกับกลุ่ม LVMH ผู้นำด้านสินค้าแฟชั่นระดับสูงส่งเสริมผ้าไหมไทย เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา ผมมั่นใจว่าการดำเนินตามนโยบายจะบรรลุผลสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ซึ่งเป็นแกนหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมมือร่วมพลังกัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ขณะที่นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันคีนันแห่งเอเซียและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จุดประสงค์ของการศึกษาเรื่อง “มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม” ครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และความจำเป็นในการคุ้มครองทรัพย์สินสร้างสรรค์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งรายงานนี้ยังได้ประเมินความเสียหายจากการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวครอบคลุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ การพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนทำด้วยไม้ การผลิตยารักษาโรค อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และสถาบันวิจัย นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถจัดอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในการศึกษานี้ เนื่องจากความไม่พร้อมด้านข้อมูล และไม่สามารถเปรียบเทียบกับการศึกษาอื่นได้ เช่นของสิงคโปร์

จากการศึกษาพบว่า 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยประมาณหนึ่งล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 9.53 ของ GDP และการใช้จ่ายของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการส่งผลให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 1 บาทในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 2.14 และ 1.50 บาท ในระบบเศรษฐกิจรวม ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมหลักทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ ยังมีการนำผลผลิตจากอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์มาใช้เป็นปัจจัยการผลิตด้วย
รายงานยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบอื่นๆ ยังพบว่าผลกระทบของตัวคูณทวีนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทยยังมีการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ การเสริมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเร่งการพัฒนา และในที่สุด จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

การศึกษาชี้ว่า ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การศึกษาได้ทำการประเมินผลกระทบของการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใน 4 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่ามีมูลค่าถึง 14 พันล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมผลกระทบทางอ้อมอีก 9 พันล้านบาทในอุตสาหกรรมอื่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมผลิตยา 6.6 พันล้านบาท ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 3.7 พันล้านบาท ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ 1.8 พันล้านบาท และให้กับอุตสาหกรรมดนตรี 1.7 พันล้านบาท ขณะที่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าปลอมแปลงส่งผลกระทบทางลบแก่แบรนด์และการลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี และการผลิตยา ทั้งกับบริษัทในและต่างประเทศ

“การละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาลดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และลงทุน” ผลการศึกษาระบุพร้อมทั้งเตือนว่า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการสนับสนุนองค์กรอาชญากรรม และในเรื่องของยา การศึกษาอ้างถึงการสำรวจยาต้านเชื้อมาเลเรียในพื้นที่ ไทย-กัมพูชา พบยาปลอมถึง 38% ส่งผลให้การรักษาโรคล้มเหลวและอาจทำให้เกิดอาการดื้อยาได้ ซึ่งถือเป็นผลเสียที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยทั่วไป ดังนี้
• การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ควรดำเนินการควบคู่กันไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงความรู้ เนื่องจากทั้งความรู้และความคิดสร้างสรรค์ต่างก็เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวพันกันอยู่
• ควรมีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าในด้านความคิดสร้างสรรค์
• ปรับปรุงระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะขั้นตอนและกระบวนการจดสิทธิบัตรและการบังคับใช้สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์
• สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับบุคคลทั่วไปว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นรูปแบบหนึ่งของการขโมยและส่งผลทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
• ภาครัฐควรมีนโยบายดึงดูดผู้มีความสามารถด้านการสร้างสรรค์ให้มาทำงานในประเทศไทย และลดอุปสรรคให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น
• ลดความล่าช้าในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมใหม่ๆ มาใช้ เช่น WiMax และ 3G ซึ่งมีความสำคัญมากกับอุตสาหกรรม IT และบันเทิง

เกี่ยวกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สถาบันคีนันฯ ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 13 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ