ช็อคโกแลต ปี ’53 : เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์…ช่วยหนุนตลาดโตต่อเนื่อง

ช็อคโกแลต หนึ่งในสัญลักษณ์ของเทศกาลวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับสองรองจากดอกกุหลาบ การมอบช็อคโกแลตในวันวาเลนไทน์เป็นการแสดงถึงความรักและความห่วงใย เพื่อส่งต่อความรู้สึกดีๆให้อีกฝ่ายได้รับรู้ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่รักเท่านั้น แต่ยังสามารถมอบให้ได้ทั้งเพื่อนและผู้เป็นที่รัก ด้วยความหวานหอม ปนรสขมนิดๆ ที่หลายคนชื่นชอบ อีกทั้งจากหลายๆงานวิจัยยังพบว่า ช็อคโกแลตนั้นมีสารฟลาโวนอยด์(Flavonoid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่มากในเมล็ดโกโก้ ช่วยชะลอการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนทริปโตเฟน(Tryptophan) ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขหรือเซโรโทนิน(Serotonin) ช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ดังนั้น “การให้ช็อคโกแลต จึงเปรียบเสมือนการส่งมอบความสุขให้แก่กัน”

ส่วนผสมในช็อคโกแลต โดยทั่วไปจะประกอบด้วยผงโกโก้ และเนยโกโก้(cocoa butter) ที่ได้จากกระบวนการสกัดเมล็ดโกโก้ แล้วเพิ่มส่วนผสมน้ำตาล และนม รวมถึงส่วนผสมอื่นตามสูตร/ชนิด/รสชาติของช็อคโกแลต อาทิ สารปรุงแต่งกลิ่น ผลไม้แห้ง และธัญพืชต่างๆ เป็นต้น ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยให้ช็อคโกแลตมีความหอมหวานมันนุ่มลิ้น และมีรสชาติแปลกใหม่

คาดปี’53 ตลาดช็อคโกแลตของไทย…อาจโตได้เกือบร้อยละ 20
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดช็อคโกแลตในประเทศปี 2553 จะมีมูลค่าประมาณ 3,500-3,800 ล้านบาท เติบโตจากปี 2552 เกือบร้อยละ 20 โดยมูลค่าตลาดช็อคโกแลตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ของมูลค่าตลาดขนมหวานสำเร็จรูป(Confectionery)ในประเทศ ซึ่งตลาดช็อคโกแลตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี จากการปรับตัวของผู้ผลิตที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ อาทิ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตามกลุ่มผู้บริโภคในตลาด โดยในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น จะเน้นช็อคโกแลตที่มีรูปลักษณ์น่ารับประทาน รสชาติหลากหลาย มีแบบสอดไส้ผลไม้/ธัญพืช/เจลลาติน บรรจุภัณฑ์ที่สีสันสวยงามดึงดูดใจ และราคาไม่แพง ส่วนผู้บริโภคในกลุ่มนักศึกษา วัยทำงาน และผู้ใหญ่ ก็จะเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งสูตรที่มีโกโก้ผสมอยู่ในสัดส่วนสูง มีน้ำตาลและนมในปริมาณน้อยลง หรือช็อคโกแลตดำ(Dark chocolate) การปรับชิ้นในขนาดพอดีคำ เพื่อความสะดวกต่อการรับประทาน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดน่าเชื่อถือ พร้อมระบุฉลากโภชนาการที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคตื่นตัวในเรื่องโภชนาการ และเน้นบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น

การทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ในการเข้าถึงตัวผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มนักศึกษา วัยทำงาน และผู้ใหญ่ ที่นิยม ช็อคโกแลตที่มีต้นทุนในการผลิตและใช้ส่วนผสมที่มีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ผู้ผลิตจึงต้องเน้นทำการตลาดเชิงรุก เพื่อชี้แจงให้ผู้บริโภครับทราบถึงคุณประโยชน์ในตัวผลิตภัณฑ์นั้นด้วย โดยอาจหยิบยกประเด็นงานวิจัยที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ในคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์แลกกับการจ่ายเงินซื้อในราคาสูง

การออกผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับช่วงงานเทศกาลต่างๆ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของผู้ผลิต เพราะถือเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี โดยออกแบบชิ้นช็อคโกแลตที่เป็นสัญลักษณ์ของงานเทศกาลนั้นๆ เช่น ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ก็อาจจะทำชิ้นช็อคโกแลตเป็นรูปหัวใจ ดอกกุหลาบ ทำเป็นรูปชายหญิงคู่กัน รวมทั้งใส่ส่วนผสมที่สร้างสีสันแก่ช็อคโกแลต ในโทนสีแดง/สีชมพู หรืออาจทำชิ้นช็อคโกแลตให้เป็นรูปตัวอักษร เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถออกแบบคำพูดหรือประโยคต่างๆ เพื่อสื่อความในใจแก่ผู้รับ โดยจะบรรจุภายในกล่องที่สวยงาม เหมาะแก่การมอบเป็นของขวัญแด่คนที่รักส่วนในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ก็จะมีการผลิตชิ้นช็อคโกแลตหรือลายบรรจุภัณฑ์ เป็นรูปซานตาครอส ต้นคริสต์มาส ดาว และรูปร่างที่สื่อความหมายเป็นมงคล เป็นต้น รวมถึงการจัดโปรโมชั่นด้านราคาและของแถมในช่วงเทศกาลสำคัญด้วย

กระจายช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างทั่วถึง นับว่าเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่เน้นการเพิ่มความสะดวกในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น อาทิ การจัดวางผลิตภัณฑ์ตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกรายใหญ่ ร้านค้ารายย่อยตามสถานที่ชุมชน/ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ อาจมีการจัดวางผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นและสวยงามเข้ากับเทศกาลนั้นๆ ซึ่งจากที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล วาเลนไทน์ปี 2553” ในระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 485 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างนิยมหาซื้อช็อคโกแลตจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายสินค้านำเข้า และอื่นๆ ตามลำดับ

การค้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตและโกโก้ของไทย…ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
โกโก้ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตช็อคโกแลต ปลูกมากในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก เช่น ไอวอรีโคสต์ กาน่า ไนจีเรีย และแคมเมอรูน ส่วนในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และมาเลเซีย สำหรับไทยมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไป เนื่องจากผลผลิตที่ได้ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและขนมของประเทศ และด้วยคุณภาพของผลผลิตโกโก้จากต่างประเทศเป็นที่ต้องการของผู้ผลิต ไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าโกโก้และผลิตภัณฑ์(HS 1801-1805) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ในปี 2552 ไทยนำเข้าโกโก้และผลิตภัณฑ์ในปริมาณ 29,159.9 ตัน (ลดลงร้อยละ 2.4 จากปี 2551) คิดเป็นมูลค่า 2,433.4 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปี 2551) โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ อินโดนีเซีย กาน่า มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี และแคมเมอรูน คิดเป็นปริมาณและมูลค่าในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 90 ของการนำเข้าโกโก้และผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2553 ปริมาณการนำเข้าโกโก้และผลิตภัณฑ์น่าจะขยายตัวตามความต้องการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอาหารและขนม ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตและโกโก้ ด้วยการพัฒนาคุณภาพการผลิต และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จึงส่งผลให้การค้าผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งด้านปริมาณและมูลค่าการส่งออกและนำเข้า แม้ว่าในปี 2552 อัตราการขยายตัวของการส่งออกและนำเข้าได้ชะลอตัวลง ตามกำลังซื้อของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ

ในด้านการส่งออก ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตและโกโก้ของไทย ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ในระดับปานกลางถึงระดับล่าง ตลาดส่งออกหลักๆของไทยจึงเป็นประเทศแถบเพื่อนบ้านและเอเชีย มีระดับราคาส่งออกเฉลี่ยที่ประมาณ 120.6 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนการนำเข้า มีการนำเข้าในหลายระดับผลิตภัณฑ์ ทั้งจากประเทศในแถบเพื่อนบ้านและจากแถบยุโรป มีระดับราคานำเข้าเฉลี่ยที่ประมาณ 199.5 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีรายละเอียดการค้า ดังนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า นอกเหนือจากการพัฒนาในด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้วนั้น ยังมีหลายประเด็นที่ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญเช่นกัน ได้แก่

การเตรียมรับมือกับภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้น จากข้อตกลงเปิดเสรีการค้ากับหลายประเทศ โดยผู้ผลิตควรรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และภาพลักษณ์ของตราสินค้า รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบัน ก็จะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศไว้ได้ และยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออก รวมถึงมองหาลู่ทางการขยายโรงงานผลิตไปในประเทศที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและต้นทุนต่ำกว่าไทย เช่น ความพร้อมด้านวัตถุดิบโกโก้ ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเหมาะแก่การใช้เป็นฐานตั้งโรงงานการผลิต เพื่อขยายการส่งออกสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยอาศัยประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ เช่น นมผง ที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศในแถบยุโรป อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ผลไม้อบแห้งและธัญพืช ที่ได้ประโยชน์ในการนำเข้าจากจีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยเฉพาะที่ทำกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดีย รวมถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน(ACFTA) เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตของไทยก็ควรศึกษารายละเอียดของข้อตกลงการค้าฯที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงต่างๆในการนำเข้าวัตถุดิบ และปรับตัวเตรียมรับมือกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น

ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรที่ผันผวนจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน ผู้ผลิตจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อวางแนวทางบริหารจัดการวัตถุดิบให้ครอบคลุม ทั้งในด้านราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะในระยะยาวราคาในประเทศอาจขยับขึ้นตามระดับราคาในตลาดโลกได้ หากระดับราคามีความแตกต่างกันมาก รวมถึงราคาโกโก้ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาพอากาศแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมรับประทานช็อคโกแลตที่มีส่วนผสมของโกโก้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น จึงทำให้มีความต้องการวัตถุดิบโกโก้มากขึ้นตามไปด้วย

การรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์ ฉลากโภชนาการ และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกได้ให้ความสำคัญมากขึ้น และการรักษามาตรฐานการผลิต ก็ย่อมเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันของผู้ผลิตไทย

สรุป
กระแสใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน นับว่ามีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้แนวโน้มตลาดของผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาตลาดในประเทศมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เนื่องจากผู้ผลิตต่างเร่งคิดค้นผลิตภัณฑ์หลากหลายสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้น ผู้ผลิตจึงมักออกผลิตภัณฑ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน โดยคัดเลือกส่วนผสม ออกแบบรูปร่างของชิ้นขนม และรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษามาตรฐานการผลิตและภาพลักษณ์ของตราสินค้า

นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ และวาเลนไทน์ นับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ผลิตจะได้เร่งทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย โดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์ที่ช็อคโกแลตได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาลเช่นเดียวกับดอกกุหลาบ ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรออกแบบผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลต และบรรจุภัณฑ์ให้แลดูสวยงาม สามารถสื่อความหมายได้ถึงความรัก และความห่วงใย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อไปเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษดังกล่าว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ปี 2553” ในระหว่างวันที่ 18-31 มกราคม 2553 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 485 คน โดยเน้นกลุ่มเยาวชน กลุ่มนิสิตนักศึกษา และกลุ่มผู้ที่เพิ่งจะเริ่มเข้าทำงาน ซึ่งจะมีอายุอยู่ระหว่าง 11-25 ปี ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเทศกาล คาดว่าในปี 2553 นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 1,020 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากผลสำรวจระบุว่า กลุ่มตัวอย่างจะเลือกซื้อช็อคโกแลตเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.0 ของค่าใช้จ่ายในการเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล(ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากการซื้อดอกไม้) และกลุ่มตัวอย่างได้ตั้งงบประมาณในการซื้อช็อคโกแลตเฉลี่ย 292 บาทต่อคน คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดถึง 310 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินในการซื้อช็อคโกแลตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2552 ช็อคโกแลตที่นิยมเลือกซื้อ คือ ช็อคโกแลตดำ(ร้อยละ51.1) ช็อคโกแลตนม(ร้อยละ 35.6) ช็อคโกแลตขาว(ร้อยละ 11.5) และอื่นๆ โดยนิยมเลือกซื้อช็อคโกแลตในลักษณะบรรจุกล่อง แบบแท่ง แบบก้อน/ชิ้น และอื่นๆ ตามลำดับ