ซิป้า เร่งเครื่อง ผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มุ่งสู่ระดับสากล ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 จับมือTACGA จัด 3 งานใหญ่ Asia Animation Award 2010, Toy & Comic Expo Asia 2010 และ Co-Production 2010 มุ่งสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ในภูมิภาค กระตุ้นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตามนโยบายรัฐบาลเน้นสร้างคน สร้างงาน
ดร.จีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวเนื่องในโอกาสเป็นประธานในงานแถลงข่าว โครงการผลักดันอุตสาหกรรมแห่งการสร้างสรรค์ไทย มุ่งสู่ระดับสากล ภายใต้โครงการดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 ว่า “จากการที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเรื่องการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตดิจิทัล คอนเทนท์ภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้านั้น ซิป้าเป็นหน่วยงานในการดำเนินงานผ่านโครงการ ดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 ซึ่งเป็นโครงการหลักส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ รวมทั้งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนหรือร่วมผลิต เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2553-2555 คือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางการผลิตที่เน้นการใช้ความคิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากร และสนับสนุนเงินทุน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดไปสู่เชิงพาณิชย์ซึ่งซิป้าได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 ทั้งนี้ ซิป้ามั่นใจว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพและมีข้อได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ ด้านความละเอียดอ่อน ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งต้นทุนการผลิต ซึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ในประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดรวมด้านแอนิเมชั่นและเกมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าเราจะได้เห็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนท์ ผ่านทางโครงการดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2553 นี้ การดำเนินกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการดิจิทัลมีเดียเอเชีย 2010 นี้จะช่วยสร้างคนส่งเสริมความรู้ พัฒนาผลงานผ่านการประกวดการแข่งขัน และการแสดงผลงานระดับนานาชาติ สิ่งเหล่านี้จะนำพาให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์สามามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้น”
นายลักษมณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโครงการ ดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 นี้ ครอบคลุมกิจกรรม 4 ด้าน คือ แอนิเมชัน เกมส์ ภาพยนตร์และดนตรี รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจประกอบไปด้วย 10 กิจกรรม โดยกิจกรรม Asia Animation Award 2010, Toy & Comic Expo Asia 2010 และ Co-Production 2010 ทั้ง 3 กิจกรรมนี้ จะจัดในเวลาใกล้เคียงกัน ราวเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2553 ซึ่ง TACGA มุ่งหวังให้กิจกรรมเหล่านี้ จะสามารถต่อยอดในการสร้างงานด้านแอนิเมชั่นให้สามารถออกไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างงานที่มีการร่วมผลิตระหว่างชาติ เป็นการเปิดตลาด Creative Economy ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง สร้างศักยภาพให้คอนเทนท์ของไทยเป็นที่ยอมรับ และสามารถออกสู่ตลาดโลกได้ ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า คู่แข่งของไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนท์ในตลาดโลก ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการ ดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 จะสามารถสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัล คอนเทนท์ได้”
3 กิจกรรมภายใต้ ดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 ที่ดำเนินการโดย TACGA มีรายละเอียดดังนี้
“งาน Toy & Comic Expo Asia 2010” มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ / นักพัฒนา ด้านคาแรคเตอร์ ลิขสิทธิ์ และแอนิเมชั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักพัฒนาอิสระ นักวิชาการ และนักศึกษาในอุตสาหกรรม ครอบคลุมในภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อสร้างการรับรู้ในอุตสาหกรรมแขนงใหม่ของโลกที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยมีการสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา และกรุงเทพ โดยมีการพัฒนาสร้างผลงานการประกวดระดับประเทศเกี่ยวกับ Character Design เพื่อคัดสรรผลงานยอดเยี่ยม นำมาร่วมประกวดกับประเทศเครือข่ายอุตสาหกรรมในเอเชียในส่วนกลางและจัดแสดงนิทรรศการในงาน Toy & Comic Expo Asia 2010 เพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนปลายน้ำ
“งาน Asia Animation Award 2010” โครงการนี้จัดทำขึ้น เพื่อให้เกิดการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิต และช่องทางการออกอากาศ รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการเผยแพร่ผลงานไปสู่ระดับเอเชียสำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศและเอเชีย เพื่อเป็นการเริ่มต้นพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเพื่อการส่งออกต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย คือ ผู้ผลิตแอนิเมชั่นซีรี่ส์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ คือ ตัวแทนจัดจำหน่ายและนักลงทุนในงานแอนิเมชั่น
“งาน Co-Production” กลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตแอนิเมชั่นในประเทศ และนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมอบทุนการดำเนินงานให้กับโครงการที่มีศักยภาพ และเป็นโครงการที่มีส่วนร่วมจากภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการผลิตแอนิเมชั่นคุณภาพที่สามารถขยายออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดการรับสมัครเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมได้ที่ www.sipa.or.th, www.tacga.net