ธุรกิจบัตรเครดิตปีขาล : ขยายตัวขานรับเศรษฐกิจ…ผู้ประกอบการเดินหน้าขยายฐานบัตร

ภายหลังจากที่ธุรกิจบัตรเครดิตต้องเผชิญกับมรสุมรุมเร้าในปี 2552 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรับมือกับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีธุรกิจบัตรเครดิตก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเริ่มกลับมาทำตลาดกันอย่างเข้มข้น ทั้งการขยายฐานบัตรใหม่ และการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมากขึ้น ภายหลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจ และตัวเลขการว่างงานที่เริ่มออกมาดีขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา รวมทั้งผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่กลับมาดีขึ้น โดยในปี 2552 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีมูลค่าประมาณ 619,451 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากปี 2551 ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่ดีกว่าที่คาด

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น ทำให้ตลาดบัตรเครดิตในปีนี้น่าจะมีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิต และภาวะการแข่งขันในตลาดบัตรเครดิต ดังนี้

สินเชื่อบัตรเครดิตปี 2553 : แม้มีปัจจัยบวกเอื้อต่อการเติบโต … แต่ปัจจัยลบยังคงต้องระวัง

เริ่มต้นปี 2553 ผู้ประกอบการสินเชื่อธุรกิจบัตรเครดิตต่างเริ่มเดินหน้าทำแคมเปญการตลาดบัตรเครดิตกันอย่างคึกคักและเข้มข้นขึ้นตามลำดับ เมื่อปัจจัยแวดล้อมตลาดธุรกิจเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ประกอบกับรัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 3.0-4.0 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อรายได้และความมั่นคงในหน้าที่การงาน จึงคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งน่าจะมีผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของบัตรเครดิตในปีนี้แล้ว ธุรกิจบัตรเครดิตยังมีปัจจัยเฉพาะที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต อาทิเช่น การส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตแทนการใช้เงินสด (Payment Solution) โดยผู้ให้บริการบัตรเครดิตคงจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้า องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินสดมากขึ้น อาทิ การส่งเสริมระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานภาครัฐให้มากขึ้น รวมถึงการขยายเครือข่ายร้านค้ารับบัตรให้ทั่วถึง เป็นต้น นอกจากนี้การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบัตรเครดิต ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมาสมัครและใช้บัตรเครดิตของตนในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะกลยุทธ์การรับส่วนลดเพิ่มเติม หรือคืนเงินเข้าบัญชี และรับคะแนนสะสมสูงสุด เพื่อแลกของรางวัล ที่ดึงดูดใจให้ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้บัตรเครดิตมากกว่าการใช้เงินสด

อย่างไรก็ดีในปี 2553 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต้องระมัดระวัง อาทิเช่น ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้จากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน ปี 2552 ที่ผ่านมา ที่มีผลทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10ปี นอกจากนี้เสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังถูกกดดันจากปัญหาด้านการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศ ในขณะที่รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตรการต่างๆ มาควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจตนเอง และอัตราการว่างงานในสหรัฐฯและยุโรปยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมายังภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิตเช่นกัน

ภาวะตลาดบัตรเครดิตปี 2553 : ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรพุ่ง … ฐานบัตรใหม่แข่งรุนแรง
ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตนับได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรง ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงต้องแข่งกันทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเป็นที่น่าสนใจให้ลูกค้าหันมาสมัคร หรือใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของตนมากขึ้น (โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีบัตรเครดิตมากกว่า 1 บัตร) สำหรับสถานการณ์ตลาดบัตรเครดิตในปี 2553 ผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตคงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต่างเริ่มมองหาโอกาสและจังหวะเข้าทำตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตปี 2553 ดังนี้

การขยายตัวของบัตรใหม่ … แข่งรุนแรง

การแข่งขันขยายฐานบัตรเครดิตยังคงมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นผู้นำในตลาดบัตรเครดิต องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เป็นตัววัด คือ จำนวนบัตรเครดิต ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับนั้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตเริ่มกลับมารุกตลาดบัตรเครดิตมากขึ้นในปีนี้ โดยผู้ประกอบการบางรายที่ได้เคยปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเครดิตในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะนี้ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์และเงื่อนไขลง ซึ่งการผ่อนเกณฑ์คุณสมบัตินั้นจะช่วยลดข้อจำกัดในการขยายฐานลูกค้าบัตรใหม่

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2553 นี้ ในภาวะที่หลายฝ่ายมองว่า ตลาดบัตรเครดิตของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว หรืออาจจะกล่าวได้ว่าการที่จะเห็นฐานบัตรใหม่เติบโตอย่างหวือหวาเหมือนเช่นในช่วงที่ผ่านมา คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยนั้นมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตของบัตรเครดิต เช่น โครงสร้างด้านตลาดแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งไม่จัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของสินเชื่อบัตรเครดิต และรายได้ของคนในประเทศส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 81.1 ของผู้มีงานทำทั่วประเทศ มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท (ผู้ที่สามารถสมัครสินเชื่อบัตรเครดิตได้ต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท) รวมถึงกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการทำบัตรเครดิต และพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าที่ส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้จ่ายเงินสด เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดบัตรเครดิตจะเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวก็ตาม แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงเดินหน้าขยายฐานบัตรเครดิตของตนอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าที่มีบัตรเครดิตอยู่แล้ว โดยการใช้กลยุทธ์แข่งขันแย่งชิงลูกค้า ผ่านการนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า และผู้ประกอบการบางรายได้ออกบัตรเครดิตที่หลากหลายร่วมกับพันธมิตร ซึ่งสิทธิประโยชน์แตกต่างกันในแต่ละตัวบัตร ทำให้ลูกค้าบางรายถือบัตรเครดิตจากผู้ประกอบการเดียวกันมากกว่า 1 บัตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัตรส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าที่มีบัตรเครดิตอยู่แล้ว นอกจากนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ใช้กลยุทธ์ในการผูกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตไปพร้อมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารและของบริษัทในเครือ เช่น การเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตร่วมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนบัตรเครดิตทั้งระบบในปี 2553 จะมีประมาณ 14,155,000-14,295,000 บัตร ขยายตัวร้อยละ 5.0-6.0 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2552

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2553 : จัดทัพแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อ … ผนึกกำลังร่วมพันธมิตรรับมหกรรมบอลโลก

เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อรายได้และความมั่นคงทางการงานในระยะข้างหน้า ทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งในและนอกประเทศขยายตัวได้ดีในปีนี้ สำหรับแนวโน้มการทำตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2553 นี้ นอกจากผู้ประกอบการจะเร่งทำแคมเปญการตลาดร่วมกับพันธมิตร เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรแล้ว ผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญในการเพิ่มช่องการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต เช่น การชำระค่าสาธารณูปโภคโดยตัดผ่านบัตรเครดิตรายเดือน การกระตุ้นให้ใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าออนไลน์แทนวิธีการโอนเงินเข้าบัญชี รวมถึงการนำบัตรเครดิตไปผูกกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของทางธนาคาร หรือบริษัทในเครือมากขึ้น เช่น ชำระค่าเบี้ยประกันโดยผูกกับบัญชีบัตรเครดิต การซื้อกองทุน LTF หรือ RMF เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้สูงขึ้น

สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2553 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 693,750-711,850 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.0-15.0 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) โดยการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้ นอกจากจะมาจากกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการบัตรเครดิตจะเร่งทำตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้าต่างๆ จัดกิจกรรมกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก (โดยจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน ถึง 11 กรกฎาคม 2553) รวมถึงราคาสินค้าบางประเภทมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0 ในปี 2553 นี้

ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต…เพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้จ่าย

ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในปี 2553 คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 207,490-209,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2552 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตสอดคล้องกับการเติบโตตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อจะมีผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง ที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขาดความต่อเนื่องได้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสามารถการผ่อนชำระสินเชื่อในผู้บริโภคบางกลุ่ม

การเบิกเงินสดล่วงหน้าน่าจะกลับมาเติบโตได้… แต่อาจไม่หวือหวาเนื่องจากผู้ถือบัตรนิยมใช้บัตรชำระค่าสินค้าหรือบริการมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต ณ ปี 2553 จะอยู่ที่ประมาณ 202,500-204,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ4.9 ในปี 2552 ทิศทางการเบิกเงินสดที่อาจเติบโตไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ถือบัตรมุ่งใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าหรือบริการมากกว่าการใช้เพื่อการเบิกถอนเงินสด ประกอบกับการเติบโตของร้านค้ารับบัตรเครดิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสะดวกสบายสำหรับผู้ถือบัตรมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสด หรือสินเชื่อหมุนเวียน ที่สามารถถอนเงินสดได้จากเครื่อง ATM ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้

บทสรุปและข้อคิดเห็น

ธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2553 ผู้ประกอบการบัตรเครดิตคงต้องเผชิญกับความท้าท้ายอย่างหนักในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจในปีนี้ให้มีการเติบโต แต่เศรษฐกิจที่ดีนั่นหมายถึงการแข่งขันทางธุรกิจจะเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการต่างเริ่มกลับมารุกตลาดมากขึ้น โดยโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการบัตรเครดิตในปีนี้ คือ การรักษาฐานลูกค้าเดิม และการกระตุ้นผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่แล้วให้คงใช้จ่ายผ่านบัตรนั้นต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ในการที่จะรักษาฐานลูกค้า เนื่องจากผู้ประกอบการรายอื่นก็คงจะมีการทำแคมเปญออกมาเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ของตนเช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เมื่อตลาดบัตรเครดิตในปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องสร้างจุดขายในผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นที่สนใจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ลงในบัตรเครดิต อาทิ การแจกของสมนาคุณ การคืนเงินกลับเข้าสู่บัญชี เมื่อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตตามที่กำหนด และจากการที่การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องใช้กลยุทธ์ฟรีค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต เพื่อจูงใจให้ถือบัตรเครดิตของตน ส่งผลถึงต้นทุนการทำตลาดเพิ่มสูงขึ้นตาม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้กลยุทธ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เหมือนสินเชื่อประเภทอื่น แต่เมื่อเปรียบเทียบการทำการตลาดบัตรเครดิตในประเทศที่มีการแข่งขันทางธุรกิจบัตรเครดิตที่รุนแรง และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละปีที่สูง อย่างประเทศสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษนั้น ผู้ประกอบการก็อาจจะนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและการแข่งในประเทศไทยได้ อาทิ

การเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตต่ำ (Low Interest Rate Credit Cards) เป็นการเสนออัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ต่ำกว่าบัตรอื่นๆ แต่สิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตที่ได้รับจะน้อยกว่าบัตรเครดิตประเภทอื่น เช่น คะแนนสะสมต่อมูลค่าเงินจะน้อยกว่าบัตรที่เน้นการสะสมคะแนนเพื่อของรางวัล ไม่มีโปรโมชันเงินคืนเข้าบัญชี เป็นต้น ซึ่งจะเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการชำระที่ดี และเลือกที่จะผ่อนชำระสินเชื่อรายเดือนมากกว่าที่จะชำระเต็มจำนวน ซึ่งการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ก็จะช่วยให้ยอดคงค้างของสินเชื่อบัตรเครดิตในแต่ละเดือนไม่สูงมากเกินไป อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตประเภทนี้อาจไม่เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีการชำระสินเชื่อบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน เนื่องจากสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตไม่จูงใจ

การเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตที่มีการสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล (Reward Credit Cards) หรือ ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตที่ให้เงินคืนเข้าบัญชี (Cash Back Credit Cards) แต่อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต จะสูงกว่าบัตรเครดิตที่เสนออัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ต่ำ เนื่องจากต้นทุนการตลาดในการทำแคมเปญที่สูงกว่า เช่น คะแนนสะสมต่อมูลค่าเงินจะสูงกว่า เช่น 5 เท่า และการเสนอเงินคืนเข้าบัญชีสำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการตามวงเงินที่กำหนด เช่น ร้อยละ 5 ถึง ร้อยละ 20 เมื่อซื้อสินค้าบนร้านค้าออนไลน์ ที่ร่วมกับผู้ประกอบการบัตรเครดิต เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้คงจะมีอัตราการเติบโตที่ดี ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การขยายฐานบัตรใหม่คงจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แต่คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา