ปัจจุบันในพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง แม้ว่าพื้นที่ในเขตชลประทานยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งมากนัก แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานในบางแห่งเริ่มจะขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร สำหรับพื้นที่ตอนบนของภาคกลางและภาคตะวันออกเริ่มเกิดสถานการณ์ภัยแล้งเช่นกัน และมีแนวโน้มที่ความแห้งแล้งจะขยายพื้นที่ลงมาตอนล่างของภาคเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาคใต้เกิดปัญหาภัยแล้งในบางพื้นที่ แต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรงมากนัก
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยรายงานสถานการณ์ภัยแล้งปี 2553 ว่ามีจังหวัดที่ประสบภัยแล้งจำนวน 29 จังหวัด 224 อำเภอ 1,526 ตำบล 11,000 หมู่บ้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.0 ของหมู่บ้านในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง (28,649 หมู่บ้าน) หรือร้อยละ 14.0 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 แล้วหมู่บ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.0 คาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรกรรมจะเสียหายรวม 1.12 แสนไร่ โดยพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทั้งที่เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง แยกเป็นภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง และสตูล
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2553 ปัญหาภัยแล้งจะขยายวงกว้างครอบคลุมไม่น้อยกว่า 55 จังหวัด หรืออาจจะครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และปัญหาภัยแล้งจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากในปีนี้มีเหตุการณ์ที่หนุนความรุนแรงของปัญหาภัยแล้ง คือ น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงเร็วกว่า และมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากในปีนี้ประเทศจีนประสบปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง ทำให้ต้องมีการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนที่สร้างอยู่ทางต้นแม่น้ำโขง ซึ่งในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ระดับน้ำลดลงมากประมาณร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าในปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงแห้งมากที่สุดในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ ปัญหาผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้สภาพอากาศร้อนมากกว่าปกติ และเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งซ้ำซากจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณฝนรวมในฤดูร้อนปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลกระทบที่จะติดตามมาจากปัญหาภัยแล้งในปี 2553 ดังนี้
ผลกระทบต่อภาคการเกษตร…คาดเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท
ปัจจุบันรัฐบาลประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซ้ำซากเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยจัดเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรโดยเฉพาะพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 23 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และนครปฐม งดเว้นการทำนาปรังครั้งที่ 2 และให้เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซ่อมแซมร่องน้ำ คูคลองเพื่อลดการรั่วซึมของน้ำ และรวมกลุ่มจัดตั้งผู้ใช้น้ำเพื่อจัดสรรน้ำในพื้นที่เป็นไปอย่างทั่วถึง
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2553 มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรกรรมอันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งจะไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท โดยอิงการคำนวณความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง และปรากฎการณ์เอลนินโญ่ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540-2541 และปี 2547-2548 ซึ่งเป็นการแยกคำนวณเป็นรายพืชจากข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่เสียหายคูณด้วยผลผลิตเฉลี่ยของแต่ละพืช และคูณด้วยราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ของแต่ละพืช ซึ่งจากการที่ราคาเฉลี่ยสินค้าเกษตรในปี 2553 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า โดยส่วนใหญ่พืชที่เสียหายคือ ข้าวนาปรังที่อยู่นอกเขตชลประทาน แม้ว่ารัฐบาลจะรณรงค์ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง แต่คาดว่าจะไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากเป็นมาตรการในเชิงขอความร่วมมือ และรัฐบาลยังคงมีมาตรการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้คาดว่าชาวนายังคงจะปลูกข้าวนาปรัง โดยบางส่วนคงหันไปพึ่งพิงน้ำบาดาลในการปลูกข้าว ซึ่งจากรายงานการสำรวจการปลูกพืชฤดูแล้งในปีนี้ของกระทรวงเกษตรฯพบว่า เกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มทำนาปรังอย่างต่อเนื่อง และเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 17 ซึ่งจากการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกพืชหน้าแล้งทั่วประเทศไว้จำนวน 12.28 ล้านไร่ โดยแยกเป็นข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.78 ล้านไร่ แต่จากการสำรวจพบว่าการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งในปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 15.16 ล้านไร่ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 23.5 ทั้งนี้เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรเสี่ยงที่จะขยายพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้ง
ประเด็นที่จะต้องระวังคือ ปัญหาการพิพาทกันในเรื่องการแย่งน้ำ ทั้งระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่ รวมทั้งปัญหาในเรื่องที่ชาวนาบางส่วนต้องซื้อน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้ข้าวที่ปลูกไปแล้วเสียหาย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น คือ ปศุสัตว์ และประมง กล่าวคือ โดยปกติในช่วงฤดูแล้งปริมาณความเสียหายต่อธุรกิจปศุสัตว์ประมาณร้อยละ 10.0 อันเป็นผลมาจากปศุสัตว์เจริญเติบโตช้า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และบางส่วนก็ตายจากปัญหาอากาศร้อน ส่วนธุรกิจประมงที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งมากที่สุด คือ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังตามแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง และอากาศร้อนส่งผลทำให้ปลาเติบโตช้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืชผัก ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ และปลาน้ำจืด นับเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค
สำหรับกรณีพืชไร่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการพิจารณาถึงผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งนั้นต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมด้านอื่นๆประกอบด้วย โดยเฉพาะพืชไร่ที่พึ่งพิงตลาดส่งออก ต้องพิจารณาถึงความเสียหายของประเทศคู่แข่ง และความต้องการของประเทศคู่ค้าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด รวมถึงโอกาสที่จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาชดเชยผลผลิตที่เสียหายจากปัญหาภัยแล้ง และปริมาณสต็อกของรัฐบาล กรณีตัวอย่างคือ ข้าว ความเสียหายของข้าวนาปรังของไทยอาจไม่มีผลกระทบที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาข้าวในตลาดโลก ถ้าประเทศคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะเวียดนามไม่เสียหายมากนัก และประเทศผู้ซื้อข้าวไม่ได้เร่งซื้อข้าวเพื่อเก็บเข้าสต็อก รวมทั้งปริมาณสต็อกข้าวของรัฐบาลที่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งสามารถระบายสต็อกชดเชยปริมาณข้าวที่ลดลงได้ ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาข้าวไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองมีแนวโน้มลดลง ซึ่งราคาน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ปัจจัยที่จะกดราคาไม่ให้พุ่งมากนัก คือ การส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะตลาดข้อตกลง และข้อผูกพันของเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ไทยลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ทำให้ไทยยังมีแหล่งสำรองของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์สูง อันเป็นผลมาจากผลผลิตลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง ซึ่งความเสียหายจากภัยแล้งจะซ้ำเติมให้ปริมาณผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงไปอีก แต่ไทยก็ยังสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากพม่าและกัมพูชาเข้ามาชดเชยได้ ซึ่งในปี 2552 การนำเข้าจากทั้งสองแหล่งนี้มีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์สูง แม้ว่าปริมาณการนำเข้ายังมีปริมาณที่ไม่มากนัก ยาง ความเสียหายจากภัยแล้งน่าจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการผลิตยางลดลงไปบ้าง โดยเฉพาะปริมาณการผลิตในภาคใต้ แต่ก็คาดว่าไม่น่าจะส่งผลให้ราคายางพุ่งขึ้นไปมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากคาดว่าปริมาณการผลิตยางในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการยางจากจีนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยผู้นำเข้าเริ่มชะลอเพื่อรอช่วงกลางปีที่ผลผลิตยางจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตอาจลดลงบ้างจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะผลผลิตทางภาคใต้ แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลให้ราคาพุ่งมากนัก เนื่องจากคาดว่าผลผลิตจากภาคตะวันออกสามารถชดเชยได้บางส่วน รวมทั้งผลจากเขตการค้าเสรีอาฟตา ทำให้ไทยสามารถพิจารณานำเข้าน้ำมันปาล์มจากทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้ามาชดเชยได้ ในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2553 ถ้าพิจารณาในภาพรวมแล้วจะไม่กระทบมากนัก โดยประเมินว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณร้อยละ 0.06 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่ถ้าพิจารณาผลกระทบของปัญหาภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ หรือผลผลิตแต่ละชนิดแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกัน เนื่องจากมีภาวะตลาดและสถานการณ์ด้านราคาที่อาจแตกต่างกันไป ส่งผลให้ความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรแต่ละรายไม่เท่ากัน ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว…ปัญหาหมอกควันจากไฟป่า
ปัญหาหมอกควันอันเกิดจากไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง เป็นเรื่องที่ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือตอนบนมีความกังวลสูงสุดในช่วงฤดูแล้ง เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี และปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปีที่มีปัญหาภัยแล้งรุนแรง อย่างเช่นในปี 2550 โดยธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างยกเลิกห้องพัก แพ็กเกจทัวร์ ที่จะเดินทางมา เพราะไม่มั่นใจเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้นจากหมอกควัน
จากสภาพอากาศจะแห้งแล้งกว่าปีที่ผ่านมาคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 ปัญหาหมอกควันจะถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างมากของการท่องเที่ยว ปัจจุบันภาครัฐดำเนินการรณรงค์ป้องกันปัญหาหมอกควัน แต่ยังเป็นช่วงต้นฤดูการเผาตอซังหลังฤดูการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกพืชในฤดูต่อไปจึงยังไม่สามารถระบุอย่างแน่ชัดได้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงหรือไม่ แต่จากผลการดำเนินงานในปี 2551-2552 การออกมาตรการรณรงค์ที่จริงจังไม่ให้เผาตอซัง โดยให้ใช้วิธีไถกลบวัชพืชแทนการเผาก็ทำให้ปัญหามลภาวะด้านหมอกควันในปีที่ผ่านๆ มาลดลงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมอกควันจากไฟป่าและการเผาขยะของชุมชนในประเทศ และหมอกควันจากไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านยังนับว่าเป็นปัญหาที่ควบคุมได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าถ้าปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมในเขตภาคเหนือตอนบนยังสร้างปัญหาไปอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ และกระจายขยายวงกว้างไปจังหวัดต่างๆมากขึ้นเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2550 จะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนบนอย่างมาก โดยประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย โดยคาดว่าปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2553 ในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ลดลงประมาณกว่าร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 จะเท่ากับ 1.0 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้ทั้งสามจังหวัดนี้มีโอกาสจะสูญเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไปสู่ธุรกิจบริการต่างๆประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 20.0 นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของทั้ง 3 จังหวัด นอกเหนือจากบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วเท่าที่ควร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภาวะภัยแล้งในปี 2553 นี้จะส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายของภาคเกษตรกรรมไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท แม้ว่าเมื่อพิจารณาในภาพรวม แล้วนับว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าพิจารณาผลกระทบในแต่ละพื้นที่ และเกษตรกรแต่ละราย รวมทั้งสินค้าเกษตรแต่ละชนิดแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะพบว่าผลกระทบอาจจะมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้านการตลาดและราคาของสินค้าเกษตรแต่ละชนิด ในขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่มีแนวโน้มรุนแรงในปีนี้ อันเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้ง โดยประเมินว่ามีโอกาสที่จะสูญเสียเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 20.0 จากที่เคยมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา