ภาพยนตร์โฆษณามหาวิทยาลัยรังสิตชุดใหม่ ย้ำแนวคิด CSR ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ตอบสนองนโยบาย “สร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย” ยกโครงการทุนสึนามิ เรื่องราวจริงของการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ภายใต้สโลแกน มหาวิทยาลัยรังสิต “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการแบ่งปันโอกาส”
อ.สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงที่มาของแนวคิดหลักในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคม ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประกาศแนวทาง “ร่วมสร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย” โดยการนำหลักอธิปไตย 3 มาประยุกต์ใช้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 อัตตาธิปไตย ระดับที่ 2โลกาธิปไตย และระดับที่ 3 ธรรมาธิปไตย ดังนั้น ทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ จึงมองหาแนวทางในการสื่อสารกับสังคมว่าแนวทางใดที่มีความสอดคล้องมากที่สุด ซึ่งแนวทางการเป็นองค์กรเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) นั้นเหมาะสมที่สุด จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในปี 2551 กับโฆษณาชุดแรกที่มีชื่อว่าหมอม้ง และในปีต่อมากับงานโฆษณาชุดความสำเร็จร่วมกัน (Success Together)
จนกระทั่ง มาถึงปี 2553 ภาพยนตร์โฆษณานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการแบ่งปันโอกาสผ่านการมอบทุนสึนามิ อ้างอิงเรื่องจริงของกลุ่มนักศึกษาที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ครอบครัวเดือดร้อน บ้านแตกสาแหรกขาด และสูญเสียทรัพย์สิน ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ประกาศให้ความช่วยเหลือโดยการมอบทุนการศึกษาเป็นกรณีพิเศษใช้ชื่อทุนว่า “ทุนสึนามิ” ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ดังนั้นนักศึกษากลุ่มนี้ได้สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการจะสื่อสารผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้คือ แม้สึนามิจะพัดพาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากพวกเขา แต่สิ่งหนึ่งที่สึนามิไม่สามารถพรากไปจากพวกเขาได้ นั่นก็คือ โอกาสทางการศึกษา หลักการตรงนี้จึงกลายมาเป็น Key Message ว่า “มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่ให้โอกาสที่จะทำให้ได้เรียนรู้ แต่ยังทำให้เรียนรู้ที่จะให้โอกาสแก่คนอื่นต่อไป” ซึ่งหมายถึง เมื่อนักศึกษาได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัยแล้ว พวกเขาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการส่งต่อความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ได้เรียนมาถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นในสังคมต่อไป โดยใช้สโลแกน“สังคมแห่งการเรียนรู้และแบ่งปันโอกาส”
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริมว่า ภาพยนตร์โฆษณาชุดดังกล่าวมีนักแสดงซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตร่วมแสดงด้วย เพราะอยากให้นักศึกษามีส่วนร่วม มีประสบการณ์เพิ่มเติมในชีวิตมากขึ้น อีกทั้งเป็นโฆษณาของทางมหาวิทยาลัยเลยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจ
ได้เข้ามาทำการคัดเลือกได้ตัวนักแสดงหลักและนักแสดงเสริมที่ล้วนแต่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตรวมถึงศิษย์เก่าตัวจริงที่ได้รับทุนสึนามิมาร่วมแสดงด้วย ในส่วนของการร่วมงานกับบริษัท Hub Ho Hin บางกอก จำกัด ในการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ รู้สึกเป็นเกียรติมาก ซึ่งชื่อของ Hub Ho Hin นั้นในวงการภาพยนตร์โฆษณาเรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์โฆษณาที่มีชื่อเสียงและผลิตงานได้อย่างมีคุณภาพ การได้ทำงานร่วมกับบริษัทที่มีแนวคิด มีหลักการ และมีประสบการณ์ถือเป็นความโชคดีของมหาวิทยาลัยรังสิตที่จะทำให้การบอกกล่าวถึงความจริงใจที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีให้ต่อสังคม รวมถึงการอุทิศความช่วยเหลือที่มหาวิทยาลัยพยายามที่จะบอกกับสังคม ว่าเรามีส่วนร่วมกับสังคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้ถ่ายทอดเรื่องราวเป็นไปอย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
จาก Key Message สู่ภาพยนตร์โฆษณาชุด สึนามิ
นายวุฒิดนัย อินทรเกษตร ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา จากบริษัท Hub Ho Hin บางกอก จำกัด กล่าวถึงที่มาของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ว่า โจทย์ที่ได้รับมา คือ อยากให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เน้นแค่การศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเน้นเรื่องของความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม หรือ CSR อีกด้วย สิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมา คือ แบรนด์ของสถาบัน ก็ได้คิด Message ที่จะใช้ในการสื่อสารออกไปสู่สังคมว่า “มหาวิทยาลัยรังสิตไม่ได้ให้แค่โอกาสทางการศึกษา แต่ยังทำให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะให้โอกาสแก่คนอื่นๆ ต่อไปด้วย” ซึ่งเป็นการนำเสนอออกมาในประเด็นที่ว่า มหาวิทยาลัยรังสิตต้องการที่จะบอกอะไรกับสังคม ซึ่งทางทีม ครีเอทีฟก็มานั่งคิดกันว่าเราจะหยิบยกเรื่องราวหรือโครงการอะไรดี ที่จะนำมาใช้ในการเล่าเรื่องราวให้ตรงกับ Key Message ที่ได้วางไว้ ซึ่งก็ได้ไปอ่านเจอโครงการๆ หนึ่งของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งช่วงเวลานั้นสามารถ นำมาใช้ในการนำเสนอในช่วงนี้ได้พอดี เนื่องจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้น ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยรังสิตมีนักศึกษาที่ครอบครัวของพวกเขาประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิ และมหาวิทยาลัยก็ได้ให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาเหล่านี้ ซึ่งในตอนนี้นักศึกษากลุ่มนี้ก็ได้สำเร็จจบศึกษาไปแล้วในปีที่ผ่านมา ก็เลยกลายเป็นไอเดียที่เอามาเล่าใน Concept ที่ว่า มหาวิทยาลัยให้โอกาสแก่น้องๆ กลุ่มนี้ ทำให้น้องๆ กลุ่มนี้ได้เรียนรู้ที่จะให้โอกาสคนอื่นๆ ต่อไปด้วย โดยการนำเรื่องราวเหตุการณ์สึนามิมาเป็นโครงสร้างหลักที่เราต้องการอธิบาย
“เรื่องราวของภาพยนตร์เล่าถึงนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิและได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัย และในช่วงที่พวกเขาศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น พวกเขาก็ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือจากการศึกษา นั่นคือ การเรียนรู้ที่จะให้โอกาสกับผู้อื่นต่อไปด้วย กล่าวคือนักศึกษากลุ่มนี้นอกจากจะเป็นผู้รับ เขายังสามารถเป็นผู้ให้แก่คนรอบข้างหรือสังคมได้ต่อไป และหากจะกล่าวถึงจุดเด่นของภาพยนตร์โฆษณามหาวิทยาลัยรังสิต มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น คือ มหาวิทยาลัยรังสิตเลือกที่จะพูดถึงสังคมมากกว่า โดยเป็นการเล่าถึงโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น
ในส่วนของ Mood & Tone ของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้จะเป็นแนว Emotional ซึ่งพูดถึงความรู้สึกของมนุษย์ คุณค่าของการเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ใช้ชีวิตร่วมกัน สร้างสรรค์และแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดไปไกลกว่าแค่การศึกษา” ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา กล่าว
ด้าน นายวุฒิไตร พิริยะภักดีกุล ผู้กำกับภาพ กล่าวถึงมุมกล้องที่ใช้เล่าเรื่องว่า ในแต่ละเหตุการณ์จะใช้มุมกล้องเปรียบเทียบฉากแต่ละฉาก กล่าวคือ ในแต่ละฉากจะใช้วิธีการเชื่อม (Transition) แต่ละฉากเข้าด้วยกัน โดยใช้เทคนิคการถ่ายแบบ Foreground เข้ามาช่วยให้มีความสมบูรณ์ของการเชื่อมต่อในแต่ละฉากมากขึ้น สำหรับ Mood & Tone ของเรื่องนั้น จะเน้นให้เป็นธรรมชาติมากกว่า ซึ่งภาพที่ออกมากจะเป็นภาพที่ไม่มีการปรุงแต่ง และมีกลิ่นของ Emotional ทำให้ภาพมีชีวิตและอารมณ์เพิ่มขึ้น