เศรษฐกิจไต้หวันฟื้นตัวดีขึ้นปี 2553 : อานิสงส์ต่อการส่งออกของไทย

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2551 ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไต้หวัน ทำให้การส่งออกของไต้หวันที่เป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหดตัวจนส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม โดยในปี 2552 ไต้หวันมีอัตราการถดถอยทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.8 (YoY) แต่ถือว่าเศรษฐกิจไต้หวันฟื้นตัวอย่างรวดเร็วโดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 สามารถกลับมาขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 8.4 ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวันที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้นในปีนี้จะช่วยให้การส่งออกของไทยไปไต้หวันปรับตัวดีขึ้นหลังจากต้องประสบภาวะหดตัวร้อยละ 20.5 ในปี 2552 ทั้งนี้ไต้หวันเป็นประเทศที่มีพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ไต้หวันได้รับการจัดเข้าอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (New Industrialized Economies: NIEs) ในช่วงทศวรรษ 1980s หลังจากนั้นแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกเกิดขึ้น แต่ไต้หวันก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตและรักษาความเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจของเอเชียไว้ได้

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 เป็นต้นมา นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปลายปี 2551 แล้ว เศรษฐกิจไต้หวันเคยมีการหดตัวเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรก คือในปี 2541 เศรษฐกิจไต้หวันหดตัวร้อยละ 7.9 (YoY) จากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่จากมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการกับเงินทุนเคลื่อนย้าย ผนวกกับมาตรการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทำให้ไต้หวันสามารถกลับมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกได้ในปี 2542 ถึงร้อยละ 8.7 ครั้งที่สอง คือในปี 2544 เศรษฐกิจไต้หวันหดตัวร้อยละ 10 (YoY) โดยมีสาเหตุมาจากการที่มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ (คู่ค้าอันดับ 1 ในขณะนั้น) ลดลงจากเหตุการณ์ 911 ผนวกกับวิกฤตฟองสบู่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (Dot-com Bubble) และปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน หลังจากนั้น ไต้หวันกลับมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2545 ถึงต้นปี 2551 โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 4.6

หลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มในช่วงปลายปี 2551 ในปี 2552 เศรษฐกิจของไต้หวันเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่สาม และฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่สี่ โดยในไตรมาสที่สาม อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 3 (YoY) ลดลงจากไตรมาสที่สองซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13 (YoY) ส่วนไตรมาสที่สี่ ไต้หวันพลิกกลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 8.4 (YoY) จึงเป็นที่น่าจับตามองถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ที่คาดว่ายังคงปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าจากการฟื้นตัวอย่างมากของตัวเลขการส่งออก ซึ่งเห็นได้ชัดจากในสองเดือนแรก ประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวและอัตราการว่างงานที่ลดลงนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมา นอกจากนั้นการที่ทางการไต้หวันยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป เนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นจนเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ จะทำให้ไต้หวันสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งนับว่าเป็นการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่ตัวเลข GDP เริ่มหดตัวลงในไตรมาสที่สามของปี 2551 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญๆ ได้แก่ปัจจัยดังต่อไปนี้

การส่งออก ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อตัวเลข GDP ของไต้หวันเป็นอย่างมากคือมูลค่าการส่งออก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกของไต้หวันคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50.8 ของ GDP แม้เมื่อหักการนำเข้าซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกันแล้วจะเหลือมูลค่าการเกินดุลการค้าเพียงประมาณร้อยละ 3.7 ของ GDP ก็ตาม แต่การเพิ่มขึ้นของการส่งออกของไต้หวันสามารถส่งผ่านรายได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่นการจ้างงาน ต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจได้มากเนื่องจากสัดส่วนมูลค่าที่มากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจทั้งระบบ นอกจากนั้นข้อดีอีกประการหนึ่งของไต้หวันคือเป็นประเทศที่สามารถรักษาการเกินดุลการค้าไว้ได้อย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขรวมทั้งปี 2552 การส่งออกของไต้หวันหดตัวลงร้อยละ 20.5 (YoY) แต่การส่งออกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) จนเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน การส่งออกสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้เป็นเดือนแรกเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า (YoY) นอกจากนั้นมูลค่าการส่งออกมีอัตราเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในเดือนมกราคม 2553 ถึงร้อยละ 77.4 (YoY) สาเหตุหลักเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนมกราคม 2551 ที่เป็นช่วงมีวันหยุดงานจำนวนหลายวัน ทำให้การผลิตส่งออกชะลอลง แต่ในปีนี้เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์

การบริโภคภาคเอกชน ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่สามของปี 2552 เริ่มฟื้นตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.2 (YoY) และในไตรมาสที่สี่ มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.7 (YoY) หลังจากที่เริ่มหดตัวลง (YoY) ในไตรมาสที่สามของปี 2551 และหดตัวอย่างต่อเนื่องจนมาต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ร้อยละ 3 (YoY) แนวโน้มที่ดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนได้รับการตอกย้ำด้วยการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นต่อการบริโภคใน 6 เดือนข้างหน้า (Consumer Confidence Index – next 6 months) ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 มาอยู่ที่ระดับ 73.16 จุด สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี
การลงทุน ตัวเลขการลงทุนในสินค้าทุนถาวร (Gross Fixed Capital Formation) กลับมามีการขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ที่อัตราร้อยละ 9.24 (YoY) หลังจากที่เริ่มหดตัว (YoY) ในไตรมาสที่สองของปี 2551 และหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัวมากที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2552 ที่ร้อยละ 28.7 (YoY)

การส่งออกไทยไปไต้หวันมีแนวโน้มฟื้นตัว
ในด้านความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันและไทย ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ผ่านช่องทางการค้า เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการลงทุนระหว่างกันไม่มากนัก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในไต้หวันเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.05 ของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในไต้หวัน และนักลงทุนจากไต้หวันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมูลค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.74 ของการลงทุนจากไต้หวันไปยังประเทศต่างๆ ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไต้หวันมักจะเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า แต่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ทำให้มูลค่าการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกระหว่างกันเริ่มหดตัวลงในปี 2551 ต่อเนื่องถึง 2552 ร้อยละ 1.6 และ 20.7 ตามลำดับ

ในปี 2552 ไทยมีมูลค่าการค้ากับไต้หวันประมาณ 7,078 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมดของไทย ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าไทยประมาณ 1,060 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการค้าทั้งหมดแบ่งเป็น

 การส่งออกไปยังไต้หวันประมาณ 2,251 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เป็นอันดับที่ 17 ของประเทศที่ไทยส่งออกทั้งหมด

 การนำเข้าจากไต้หวันประมาณ 4,827 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด เป็นอันดับที่ 8 ของประเทศที่ไทยนำเข้าทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยและไต้หวันในเดือนมกราคม 2553 มีอัตราการขยายตัว สูงอย่างก้าวกระโดด (YoY) เช่นเดียวกับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไต้หวัน ทั้งนี้มูลค่าการค้ารวมขยายตัวร้อยละ 67.9 (YoY) การส่งออกไปยังไต้หวันขยายตัวร้อยละ 96.0 (YoY) และการนำเข้าจากไต้หวันขยายตัวร้อยละ 58.4 (YoY) แม้ว่าการส่งออกที่พุ่งสูงนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนมกราคม 2552 ที่เป็นช่วงตรุษจีน แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มการค้าระหว่างไทยและไต้หวันที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไต้หวันและเศรษฐกิจไทย

สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังไต้หวันประกอบด้วยแผงวงจรไฟฟ้า (สัดส่วนร้อยละ 12) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 11) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 5) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ร้อยละ 4) และเม็ดพลาสติก (ร้อยละ 4) นอกจากนั้นยังมีเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า และยางพารา ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกของทุกกลุ่มลดลง แต่ในเดือนมกราคม 2553 มูลค่าส่งออกของสินค้าเหล่านี้พุ่งสูงขึ้น (YoY) อย่างมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไต้หวันเอง ทำให้มีกำลังซื้อและความต้องการบริโภคสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไต้หวัน ได้แก่ จีน (สัดส่วนร้อยละ 26.27) ฮ่องกง (ร้อยละ 13.83) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 11.71) รวมไปถึง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ทำให้การส่งออกของไต้หวันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไต้หวันสั่งซื้อสินค้าจากไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในส่วนของสินค้านำเข้าหลักจากไต้หวัน ประกอบด้วยแผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 26) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 11) เครี่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (ร้อยละ 9) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 8) และเครื่องจักรและส่วนประกอบ (ร้อยละ 5) นอกจากนั้นยังมีสัตว์น้ำสด แช่เย็น แปรรูปและกึ่งแปรรูป ผ้าผืน สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และด้ายและเส้นใย มูลค่าการนำเข้าในเดือนมกราคม 2553 สูงขึ้น (YoY) แทบทุกกลุ่ม

ประเด็นท้าทายต่อการส่งออกของไทยไปไต้หวันที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน (Economic Corporation Framework Agreement: ECFA) ซึ่งได้มีการเจรจารอบแรกไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ที่ประชุมได้เห็นชอบในความตกลงเบื้องต้นครอบคลุมการเปิดตลาดในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการลดภาษีสินค้าและการเปิดเสรีภาคบริการ ทั้งนี้ทางการไต้หวันเร่งผลักดันให้มีการลงนามในการเจรจารอบที่สองที่กำลังจะมีขึ้นภายในเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งหากมีการลงนามเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันหลายร้อยรายการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าจากไต้หวันไปยังจีนเป็นอย่างมาก ในปี 2552 จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไต้หวันและอันดับ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ สินค้ากลุ่มหลักที่ไต้หวันส่งออกไปยังจีนได้แก่กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ พลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ในขณะที่สินค้าดังกล่าวก็อยู่ใน 20 อันดับแรกของสินค้าออกจากไทยไปยังจีนเช่นกัน นอกจากนั้นบางสินค้าในกลุ่มของ 20 อันดับดังกล่าว เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด ถูกจัดอยู่ในสินค้าอ่อนไหวของจีนภายใต้ความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับจีน ทำให้ไทยยังไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ความตกลงฯ นี้ จึงมีแนวโน้มว่าผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับไต้หวันมากขึ้นหากความตกลง ECFA ระหว่างจีนกับไต้หวันให้สิทธิประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนกับไต้หวันมากกว่า ในทางกลับกัน สินค้าไทยก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงขึ้นกับสินค้าจีนในตลาดไต้หวันเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันและประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากไต้หวันจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังไต้หวันในปีนี้ แม้ว่าการส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเพิ่มการแข่งขันสำหรับผู้ส่งออกไปยังจีนที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันกับไต้หวันภายใต้ความตกลง ECFA ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกับไต้หวัน ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังไต้หวันเพื่อผลิตส่งออกไปจีน ในด้านการส่งออกสินค้าของไต้หวันไปไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน

บทสรุป แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทย โดยหลังจากที่ไต้หวันได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดทำให้ GDP ของไต้หวันเริ่มหดตัว (YoY) ในไตรมาสที่สามของปี 2551 จากเดิมที่ขยายตัวติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ไต้หวันก็สามารถกลับมามีการเติบโตของ GDP เป็นบวก (YoY) ได้ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับอานิสงส์คือ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา รวมไปถึงเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องพักกระแสไฟฟ้า ผลจากกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน (Economic Corporation Framework Agreement: ECFA) ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในเดือนมีนาคม 2553 นี้จะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังไต้หวันในกลุ่ม แผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม พลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ที่ใช้เพื่อผลิตส่งออกไปจีน แต่อย่างไรก็ดีข้อตกลงดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกของไต้หวันในตลาดจีนในกลุ่มสินค้าดังกล่าวเช่นเดียวกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของจีนในตลาดไต้หวันด้วย

ในด้านการนำเข้าสินค้าของไทยจากไต้หวัน สินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวคือ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครี่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมไปถึงสัตว์น้ำสด แช่เย็น แปรรูปและกึ่งแปรรูป ด้ายและเส้นใย ผลิตภัณฑ์โลหะ ผ้าผืน และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดีแนวโน้มการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับไต้หวันขึ้นอยู่กับความมั่นคงของการฟื้นตัวของกำลังซื้อของสองประเทศ การฟื้นตัวของคู่ค้า รวมไปถึงผลจากมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งสองประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งจะอยู่ในระยะฟื้นตัว ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมจึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศอย่างมั่นคงในปีนี้