แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปีที่ระดับร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และสามารถฟื้นตัวกลับมามีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับช่วงก่อนหน้าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกในปี 2551 ได้ในที่สุด แต่ก้าวย่างนับจากไตรมาสที่ 2/2553 เป็นต้นไป เศรษฐกิจและภาคธุรกิจของไทยคงต้องเผชิญความยากลำบากในการฟันฝ่ามรสุมร้ายจากวิกฤตการเมืองในประเทศที่รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังยุติการชุมนุมที่ย่านราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่เผาผลาญศูนย์กลางธุรกิจและการค้าหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ
ที่สำคัญ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าไม่ใช่มีเพียงปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงมีอยู่ในเวลานี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2553 ดังต่อไปนี้
ผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 ทรุดตัวอย่างหนักเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยความสูญเสียในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก รวมทั้งแนวโน้มที่เศรษฐกิจโดยรวมอาจชะลอตัวลง จะส่งผลให้มูลค่าจีดีพีที่ปรับฤดูกาลหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีในไตรมาสที่ 2/2553 อาจยังคงขยายตัวในแดนบวกในอัตราประมาณร้อยละ 2.5-3.5 (YoY) โดยคาดว่าเศรษฐกิจมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกที่ยังมีทิศทางเติบโตสูงในปัจจุบัน ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ที่จีดีพีหดตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่ 2/2552) อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวดังกล่าวนับว่าเป็นระดับที่ชะลอลงอย่างมากจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 (YoY) ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกที่ออกมาดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทุกรายนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยตลอดทั้งปี ให้ยังคงเป็นบวกได้ แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือจะต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นก็ตาม
จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 มาจนถึงวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 น่าจะสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 แล้ว คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 138,000 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท จากรายได้ของภาคธุรกิจและมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งมูลค่าอาคารสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่ถูกเผาทำลายในช่วงหลังจากการยุติการชุมนุม ขณะที่ความเสียหายอีกไม่ต่ำกว่า 58,000 ล้านบาท เป็นผลพวงต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะสูญเสียโอกาสทางรายได้ในอนาคตไปตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เช่น ผู้ประกอบการที่อาคารหรือร้านค้าถูกเผาทำลาย ซึ่งไม่สามารถประกอบกิจการในพื้นที่เดิมต่อไปได้ หรือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่ภาพเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงที่เผยแพร่ออกไปสู่ประชาคมโลกจะทำให้การฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อที่มีต่อประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง
หากมองในแง่ดีที่สุด (Best Case) ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์การเผชิญหน้าทางการเมืองเกิดขึ้นอีก เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสขยายตัวสูงที่สุดได้ที่ประมาณร้อยละ 5.0 (หลังจากที่ได้หักผลกระทบ 138,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 ของจีดีพีไปแล้ว) ซึ่งกรณีดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์การเมืองนับจากนี้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาครัฐและเอกชนมีเวลาพอที่จะเร่งกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงไฮซีซันในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะเป็นผลให้ความเสียหายหยุดอยู่เพียงแค่ที่ได้ประเมินไว้ข้างต้นนี้ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองที่ระมัดระวัง จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.6-4.5 เช่นเดิม แม้ว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกมีระดับที่สูงค่อนข้างมาก โดยในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่า จีดีพีอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับปี 2552 ทั้งนี้ กรอบประมาณการดังกล่าวได้คำนึงถึงผลกระทบต่อเนื่องที่อาจจะตามมาจากเหตุการณ์วันที่ 19-20 พฤษภาคม และรองรับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคตไว้แล้วในระดับหนึ่ง โดยสมมติฐานของประมาณการครอบคลุมกรณีที่สถานการณ์การเมืองยังคงมีบรรยากาศของการเผชิญหน้าต่อไป ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 233,000-365,000 ล้านบาท ผ่านรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชุมนุม ตลอดจนการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี กรอบประมาณการนี้ไม่รวมผลหากมีการชุมนุมทางการเมืองหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลุกลามบานปลายไปยังพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ ในวงกว้าง หรือมีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก-นำเข้าของประเทศ เป็นระยะเวลายาวนานอย่างมีนัยสำคัญ
โดยสรุป แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 จนถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมหลังการยุติการชุมนุมในวันที่ 19-20 พฤษภาคมนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 หดตัวลงรุนแรงถึงกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ขณะที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 2/2553 ที่เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แม้ว่ายังเป็นบวกได้ เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่จีดีพีในช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวในระดับสูง แต่ก็คาดว่าอาจจะชะลอลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2.5-3.5 เท่านั้น
ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 นั้น เนื่องจากภาพเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านๆ มา จึงทำให้การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติอาจต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน ขณะเดียวกัน ทิศทางระยะข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่อีกมาก
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาได้สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 แล้ว คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 138,000 ล้านบาท ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยอาจจะยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี ซึ่งเมื่อรวมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นไปแล้ว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัญหาทางการเมืองอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ประมาณ 233,000-365,000 ล้านบาท โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 นี้ไว้ที่ร้อยละ 2.6-4.5 ซึ่งในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่า จีดีพีอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.9
ประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายของภาครัฐ คงต้องให้ความสำคัญกับการเร่งเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากผลกระทบของเหตุการณ์ชุมนุมโดยเร็ว ขณะที่ในระยะสั้นอาจยังจำเป็นต้องคงแนวนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายไว้ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการเมืองอันหนักหน่วงนี้ นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งแผนฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่นักท่องเที่ยวและนักลงทุน ตลอดจนการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แต่มาตรการฟื้นฟูเยียวยาต่างๆ จะไม่สามารถบรรลุผลได้หากบรรยากาศทางการเมืองยังคงอยู่ท่ามกลางการเผชิญหน้า ดังนั้น นโยบายที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเดินหน้าแผนปรองดอง โดยสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง