ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 เทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2552 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป ดังนี้
ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในเดือน เม.ย. 53 สวนทางกับเงินฝากที่ลดลง โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 5.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27 หมื่นล้านบาท จาก 5.88 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม (จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคาร1 นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเป็นหลัก) ขณะที่ ยอดเงินฝากลดลง 3.26 หมื่นล้านบาท จาก 6.55 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม มาอยู่ที่จำนวน 6.52 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน (ตามการลดลงของเงินฝากในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขณะที่เงินฝากในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโอนเงินเข้าสู่บัญชีภาครัฐ ตามคำตัดสินใจของศาลต่อคดียึดทรัพย์ฯอดีตนายกรัฐมนตรี
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 สินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่มากกว่าเงินฝาก สะท้อนภาพการปรับตัวลดลงของสภาพคล่องในระบบ ตามความต้องการสินเชื่อที่ฟื้นตัวขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี ก่อนที่ขนาดการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจะเริ่มชะลอลงในเดือนเมษายน จากผลกระทบของเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง โดยเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้น 1.08 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2552 ในขณะที่ เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.40 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2552
ที่มา: ธ.พ.1.1 รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทย (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)2 เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.180 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 2.02 หมื่นล้านบาท จาก 2.159 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ ขณะที่เงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นลดลง กระนั้นก็ดี สินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น มีจำนวน 8.05 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 ขยับลงเล็กน้อยจำนวน 1.97 พันล้านบาท จาก 8.06 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม
การเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนของสภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางเพิ่มขึ้นจำนวน 4.50 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 5.57 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 และสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวน 1.21 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.09 แสนล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ลดลงจำนวน 3.69 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.41 ล้านล้านบาท
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 สภาพคล่องในความหมายกว้างของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 5.78 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2552 โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวน 1.53 หมื่นล้านบาท และ 4.91 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีสภาพคล่องลดลง 6.60 พันล้านบาท
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 สภาพคล่องที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 โดยเป็นผลหลักมาจากการทยอยฟื้นตัวขึ้นตามลำดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี ประกอบกับอีกส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของเงินฝากซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะจากการโอนเงินยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีไปยังบัญชีภาครัฐในเดือนเมษายน
สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นเดือนที่เหตุการณ์ทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากจะมีผลกระทบต่อการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ในหลายสาขาโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ยังคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของกิจกรรมการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะในด้านความต้องการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อและคุณภาพหนี้ของลูกค้าธนาคาร ในขณะเดียวกัน ความกังวลว่าวิกฤตการคลังของบางประเทศในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ยังเป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลในเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้าผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า โดยเฉพาะในด้านความเสี่ยงของคู่สัญญา (Counterparty risk) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้านเงินฝากนั้น แม้สถานการณ์การเมืองมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่การเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบในภาคส่วนเศรษฐกิจต่างๆ คงต้องใช้เวลา ผนวกกับยังมีปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ในยุโรป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีน้ำหนักดังกล่าว น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มยืนที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคงจะส่งผลตามมาให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มทรงตัว ดังนั้น การนำเสนอโครงการเงินฝากพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จึงน่าที่จะยังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ออม ด้วยเหตุนี้ คาดว่าสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จึงอาจมีแนวโน้มทรงตัวหรือมีระดับสูงใกล้เคียงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น