อินเดียถือเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทยในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจอินเดียได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 น้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย จึงสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงเช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีน ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้าของไทยไปอินเดียจึงน่าจะสามารถฟื้นกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากหดตัวร้อยละ 3.6 (YoY) ในปี 2552 นอกจากนี้การลดภาษีสินค้าของอินเดียภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอินเดีย 2 ฉบับคือ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย ทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนต่ำลง ขณะที่ประเทศคู่แข่งซึ่งไม่มี FTA กับอินเดียมีต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลอินเดียประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันทุกชนิดจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ10 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2553 ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งเจาะตลาดสินค้าในอินเดีย เพื่อชดเชยผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในปีก่อนที่ทำให้การส่งออกของไทยต้องประสบภาวะหดตัว และช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยจากประเทศคู่แข่งที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากสมาชิกอาเซียนที่ได้ประโยชน์จาก AIFTA เช่นเดียวกับสินค้าไทย
ในปี 2553 ผู้ส่งออกไทยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่บังคับใช้แล้ว คือ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) เริ่มลดภาษีตั้งแต่ 1 ก.ย. 2547 จนสินค้านำร่องจำนวน 82 รายการมีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 ในเดือน ก.ย. 2549 โดยสินค้าไทยที่มีภาษีร้อยละ 0 แล้วภายใต้ TIFTA ประกอบด้วยสินค้าเกษตร 7 รายการ อาหารทะเลกระป๋อง 4 รายการและสินค้าอุตสาหกรรม 71 รายการ เช่น องุ่น แอปเปิล ลำไย มังคุดและข้าวสาลี ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ สินแร่ เครื่องรับโทรทัศน์ หลอดภาพ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อีกฉบับหนึ่งคือ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 1ม.ค. 2553 ส่งผลให้สินค้าไทยราว 4,000 รายการหรือร้อยละ 80 ของสินค้าทั้งหมด ทะยอยลดภาษีจนเหลือ 0 ภายในปี 2556-2559
FTA ไทย-อินเดีย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับอินเดียขยายตัว และไทยเปลี่ยนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะอินเดียมีระดับอัตราภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูง ระบบภาษีที่ซ้ำซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ทำให้สินค้าไทยและสินค้าอาเซียนที่เข้าสู่ตลาดอินเดียมีต้นทุนทางภาษีสูงขึ้น การยกเลิกภาษีสินค้าในกรอบ TIFTA ในปี 2549 จึงทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกจากไทยไปอินเดียที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยะ 47.1 (YoY) ในปี 2550 เทียบกับปีก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 (YoY) และเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการนำเข้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 27.7 (YoY) ในปี 2550
การลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA ที่ครอบคลุมจำนวนสินค้ามากกว่า TIFTA รวมถึงความยืดหยุ่นของแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมของ AIFTA ที่อนุญาตให้สินค้าไทยหลายรายการที่มีสัดส่วนวัตถุดิบในอาเซียนสูงกว่าร้อยละ 40 (แต่สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศไทยต่ำกว่าร้อยละ 40 ) สามารถขอรับสิทธิฯ การลดภาษีจาก AIFTA ได้ จึงน่าจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิ FTA ได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เห็นได้จาก มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปอินเดียในกรอบ FTA ทั้ง 2 ฉบับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20.8 ของมูลค่าการการส่งออกรวมจากไทยไปอินเดีย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกภายใต้ TIFTA ฉบับเดียวเพียงร้อยละ 8.6
สินค้าไทยที่ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) เปิดตลาดให้กับไทยเพิ่มขึ้นจาก FTA ไทย-อินเดีย ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูปคือ น้ำผลไม้และผลไม้แปรรูป ผักและพืชประเภทถั่ว ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ ด้ายและเส้นใยสังเคราะห์ เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อินเดียยังไม่เคยเปิดตลาดให้กับไทยในกรอบ TIFTA มาก่อน ยกเว้นสินค้าบางกลุ่มเช่น เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ที่อินเดียได้ยกเลิกภาษีให้กับไทยเพียงรายการเดียวในกรอบทวิภาคีคือ ส่วนประกอบที่นั่ง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงน่าจะมีโอกาสส่งออกสินค้าไทยในกรอบ AIFTA มากกว่า TIFTA ส่วนสินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบจาก AIFTA คือ รถจักรยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม กระจกและยารักษาโรค เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่อินเดียนำไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูงซึ่งจะไม่นำมาลดภาษีระหว่างกัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยให้การคุ้มครองเกษตรกรในประเทศเช่นเดียวกัน หรือเป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันต่ำกว่าอินเดียหรืออาเซียนอื่น เช่น ไหม น้ำมันปาล์ม ชา กาแฟ พริกไทย ปลา กุ้ง ไก่ นม หัวหอม ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง เป็นต้น ยกเว้นสินค้าบางรายการที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันสูง แต่อินเดียต้องการปกป้องอาทิ น้ำยางพารา ยางแผ่นรมควัน ยางรถยนต์บางชนิด มอเตอร์ไฟฟ้า ผักและผลไม้ ทั้งนี้อินเดียได้ชดเชยการสูญเสียผลประโยชน์ให้กับไทยมากขึ้นจากการปกป้องตลาดของอินเดีย โดยเพิ่มจำนวนสินค้าอ่อนไหวของไทยที่จะคงอัตราภาษีร้อยละ 5 เป็น 91 รายการ มากกว่าข้อตกลงของอาเซียน-อินเดียที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีได้ไม่เกิน 50 รายการ สินค้ากลุ่มนี้ได้แก่ กุ้ง แป้งข้าวสาลี หนังฟอก แผ่นเหล็กรีดร้อน แผ่นเหล็กรีดเย็น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเขียน
อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยอาจจะเผชิญกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกต่างแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับสินค้า แม้ว่าสินค้าไทยจะได้แต้มต่อจากการลดภาษีของอินเดียภายใต้ความตกลงฯ FTA ถึง 2 ฉบับ แต่การลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าไทยหลายรายการอาจจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเทศอาเซียนที่อาจเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดอินเดีย คือ
สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดอินเดีย เพราะสิงคโปร์เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนของอินเดียโดยในปี 2551-2552 อินเดียมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์เฉลี่ยร้อยละ 28.1 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากอาเซียน ขณะที่อินเดียนำเข้าจากไทยเพียงร้อยละ 10.8 เท่านั้น นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็น 1 ใน 2 ชาติอาเซียนนอกจากไทย ที่มี FTA ทวิภาคีกับอินเดียและมีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลให้สินค้าสิงคโปร์ได้รับสิทธิฯ จาก FTA เช่นเดียวกันกับสินค้าไทย
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 (สัดส่วนร้อยละ 28.0) และมาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 (ร้อยละ 24.4) อาจจะยังเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนักสำหรับสินค้าไทย เพราะสินค้าส่งออกของประเทศทั้งสองส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มสกัด ที่ไทยมีความสามารถการแข่งขันไม่สูงนักและสินค้าทั้งสองไม่ได้รับการลดภาษีจากอินเดีย เพราะอยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูง แต่ขณะนี้มาเลเซียและอินโดนีเซียกำลังเจรจา FTA ทวิภาคีกับอินเดียคือ FTA มาเลเซีย-อินเดีย และ FTA อินโดนีเซีย-อินเดีย ซึ่งสินค้าของอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA ทวิภาคี อาจเป็นคู่แข่งของสินค้าส่งออกไทยในระยะต่อไป
กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ถือเป็นกลุ่มอาเซียนใหม่ที่มีมูลค่าการค้ากับอินเดียไม่มากนัก แต่มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก โดยในปี 2552 การค้าระหว่างอินเดียและกัมพูชามีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 263.15 (YoY) รองลงมาคือ ลาว (ร้อยละ 587.5) และเวียดนาม (ร้อยละ 132.5) ขณะที่การค้าไทยกับอินเดียเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 21.4 (YoY) หากประเทศเหล่านี้ได้รับการลดภาษีจากอินเดียในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
บทสรุป อินเดียถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจอินเดียอย่างต่อเนื่องในปีนี้น่าจะช่วยให้การส่งออกจากไทยไปอินเดียสามารถขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ และที่สำคัญผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเจาะตลาดอินเดียสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว คือ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) และFTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) โดยการลดภาษีภายใต้ TIFTA ช่วยให้ไทยเปลี่ยนฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอด ขณะที่การลดภาษีในกรอบ AIFTA ที่ครอบคลุมจำนวนสินค้ามากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อินเดียยังไม่ได้เปิดตลาดให้กับไทยใน TIFTA รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมที่ยืดหยุ่นของของ AIFTA ทำให้สินค้าไทยหลายรายการมีโอกาสเข้าสู่ตลาดอินเดียมากขึ้นอาทิผลไม้แปรรูป ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส พลาสติก อัญมณี อิเล็กทรอนิกส์ อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์ อะไหล่ยนต์ เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่อินเดียบรรจุไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยไม่ลดภาษีหรือเป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันต่ำอยู่แล้วเช่น ไหม น้ำมันปาล์ม ชา กาแฟ พริกไทย เป็นต้น ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวสูงของอินเดียบางรายการที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงอย่าง น้ำยาง ยางแผ่นรมควัน ยางรถยนต์บางชนิด มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งอินเดียได้ชดเชยการเสียผลประโยชน์ให้กับไทยโดยเพิ่มจำนวนสินค้าอ่อนไหวของไทยเป็น 91 รายการจากอาเซียนอื่นที่มีได้ไม่เกิน 50 รายการ
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA อาจทำให้สินค้าไทยต้องแข่งขันกับสินค้าของอาเซียนอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของของอินเดียในอาเซียนและมี FTA กับอินเดียทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบอาเซียนเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขณะนี้อาจจะเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนักสำหรับสินค้าไทย เพราะสินค้าส่งออกหลักอย่างน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มสกัด ไทยมีศักยภาพต่ำอยู่แล้วและอยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูงของอินเดีย แต่หาก มาเลเซียและอินโดนีเซียเปิด FTA ทวิภาคีกับอินเดียอาจทำให้สินค้าไทยแข่งขันมากขึ้น แม้ว่ากัมพูชา ลาวและเวียดนาม จะมีมูลค่าการค้ากับอินเดียไม่มากนัก แต่มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง หากอินเดียลดภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น