ด้วยพันธกิจของมี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญาแล้ว บริษัทฯยังมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อคืนประโยชน์แก่สังคมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยล่าสุด บริษัทฯได้สานต่อโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กภายใต้โครงการ “เอนฟา เอพลัส ล้านมหัศจรรย์พลังการเรียนรู้ทั่วไทย” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กแบบองค์รวมโดยยึดเด็กเป็นตัวตั้ง มีการฝึกอบรมครู และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์
มิสเตอร์ฮอร์เฮ พิเนโด ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการ “เอนฟา เอพลัส ล้านมหัศจรรย์พลังการเรียนรู้ทั่วไทย” นี้ว่า “ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา กลุ่มผลิตภัณฑ์เอนฟา เอพลัส จึงจัดให้มีโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ “เอนฟา เอพลัส ล้านมหัศจรรย์พลังการเรียนรู้ทั่วไทย” นี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการฟื้นฟู และพัฒนาศูนย์เด็กเล็กใน อ.คุระบุรี จ.พังงาในปี 2548 ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยสึนามิ และในปีนี้โครงการฯได้รับความร่วมมือจากสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแลหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่คุณครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นอกจากนี้ ยังมีพนักงานของมี้ด จอห์นสันร่วมแรงร่วมใจพัฒนาสภาพแวดล้อม และมุมเรียนรู้ในศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้เกิดอย่างสูงสุด โดยโครงการนี้จะครอบคลุมถึง 4 พื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยหวังว่าศูนย์เด็กเล็กที่บริษัทฯเข้าไปพัฒนา จะเป็นศูนย์ตัวอย่างให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียงได้ศึกษา และส่งต่อองค์ความรู้กันต่อไปเพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ และพัฒนาได้ด้วยตัวเองอย่างพอเพียง และยั่งยืน”
ดร.พัฒนา ชัชพงศ์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะที่ปรึกษาทางวิชาการของโครงการ ได้กล่าวถึงรายละเอียดว่า “เราจะให้ความช่วยเหลือด้านกายภาพ ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของศูนย์ ให้อุปกรณ์สื่อการสอนที่เหมาะสม พัฒนามุมเรียนรู้ต่างๆ ตามความเหมาะสมของทรัพยากรในท้องถิ่นเช่น การใช้วัสดุในพื้นที่มาประดิษฐเป็นสื่อการเรียนการสอนให้เด็กๆ ได้แก่ เปลือกหอย ลูกไม้ สำลี ก้อนหิน ก็สามารถประกอบเป็นสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ให้เด็กๆ เรียนรู้ถึงปริมาตร และน้ำหนักของวัตถุได้ การที่เราสอนคุณครูพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กให้สามารถประดิษฐ์สื่อการสอนได้เอง หากสื่อการสอนชำรุด ครูพี่เลี้ยงในศูนย์ก็จะสามารถประดิษฐ์ขึ้นเองได้ใหม่ โดยไม่ต้องซื้อใหม่ หรือรอคนมาบริจาค”
“ทั้งนี้สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด คือการฝึกอบรมครู หรือผู้ดูแลเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของเด็กอย่างยั่งยืน นอกจากจะมุ่งเน้นความรู้ด้านพัฒนาการด้านต่างๆ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กแล้ว โครงการนี้ยังเน้นเรื่องการเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้แก่เด็ก เช่น ทักษะการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดของเด็ก โดยใช้การเล่านิทานที่มีการตั้งคำถามถึงจำนวนและลักษณะของตัวละคร ทักษะการสืบค้นคำตอบผ่านกิจกรรมต่างๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ” ดร.พัฒนา ชัชพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
อีกเสียงสะท้อนจากคุณครูยินดี ธรรมศรี ซึ่งเป็นคุณครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโค้งศรราม จ.พังงา ซึ่งเป็นศูนย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2548 และได้เข้าร่วมโครงการกับทางมี้ด จอห์นสัน ว่า “ผู้ปกครองมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะนำบุตรหลานมาเรียนรู้ที่ศูนย์ เพราะครูสามารถถ่ายทอดความรู้ และเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมได้เป็นอย่างดี การฝึกอบรมที่ทางโครงการจัดให้ เป็นเรื่องที่คุณครูต้องการ และนำไปใช้ได้จริง เช่นการจัดมุมเรียนรู้ เพลง และนิทานต่างๆ สภาพศูนย์ก็ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะแก่การเรียนรู้ของเด็ก ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวครูเองได้รับเลือกจากทางอำเภอ ให้เป็นครูดีเด่นประจำปี 2552 นอกจากนี้ ยังภูมิใจด้วยว่า ศูนย์เด็กเล็กที่นครสวรรค์ซึ่งอยู่ต่างภูมิภาคกัน ก็ยังมาศึกษาที่ศูนย์ เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับปรุงศูนย์ของเขาอีกด้วยค่ะ”
โดยในปี 2553 นี้ โครงการ “เอนฟา เอพลัส ล้านมหัศจรรย์พลังการเรียนรู้ทั่วไทย” จะขยายพื้นที่การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภาคทั่วไทย ได้แก่ ภาคเหนือ – อ. แม่อาย จ. เชียงใหม่ / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – อ. ด่านซ้าย จ.เลย/ ภาคกลาง – อ. พัฒนานิคม จ. ลพบุรี/ ภาคใต้ – อ.ตะกั่วป่า จ. พังงา และบริษัทมี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด จะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป