ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค…สะท้อนผลกระทบทางการเมืองที่จำกัด

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2553 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนถึง ผลกระทบที่เบาบางลงของปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่สร้างแรงกดดันที่มากขึ้นต่อภาคการท่องเที่ยว และการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้นตามลำดับหลังการประกาศยุติการชุมนุมในย่านราชประสงค์ น่าที่จะทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองลดระดับลง และเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยน่าที่จะมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงเดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี อาจส่งผลให้สถานการณ์ของภาคการส่งออกสะท้อนภาพที่กลับกัน หลังจากที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสรุปประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม 2553 และประเมินภาพแนวโน้มในระยะถัดไปไว้ดังนี้ :-

การใช้จ่ายภายในประเทศได้รับผลกระทบที่จำกัดจากปัญหาการเมือง

สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนพ.ค.2553 ส่งผลทำให้เครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายภายในประเทศไม่มีลักษณะที่ไถลลงแบบในช่วงเดือนเม.ย. โดยการบริโภคภาคเอกชนหดตัวในอัตราที่ลดลง ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามทิศทางขององค์ประกอบด้านการก่อสร้าง ส่วนในด้านความเชื่อมั่นนั้น ปัญหาการเมืองในประเทศที่คลี่คลายลงบางส่วน ช่วยหนุนให้ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจฟื้นตัวขึ้นในเดือนพ.ค.

การบริโภคภาคเอกชนเดือนพ.ค.2553 หดตัวอีกร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) แต่เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.9 ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ ตลอดจนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หดตัวลงในเดือนพ.ค.ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในช่วงครึ่งแรกของเดือน อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.4 ในเดือนพ.ค. ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในเดือนเม.ย.

การลงทุนภาคเอกชนเดือนพ.ค. 2553 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในเดือนเม.ย. ซึ่งนับเป็นการขยายตัวที่ต่อเนื่อง 12 เดือนติดต่อกันของการลงทุนภาคเอกชน นำโดย ปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์ในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งสะท้อนถึงอานิสงส์ที่สืบเนื่องมาจากการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และคำสั่งซื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 20.7 ในเดือนพ.ค. ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2547 และเร่งขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.3 ในเดือนเม.ย.
ความเชื่อมั่นภาคเอกชนเพิ่มขึ้นหลังจากที่การชุมนุมทางการเมืองยุติลงในช่วงกลางเดือนพ.ค.2553 โดยในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (จัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 75.5 จากระดับ 75.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันและคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) ขยับขึ้นมาที่ 49.9 และ 55.5 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 46.0 และ 55.3 ในเดือนเม.ย. ตามลำดับ อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด

ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงจากเดือนก่อน…จากจำนวนวันทำการน้อยลงและปัญหาการเมือง

เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. ชะลอตัวลง หลังจากปัญหาการเมืองในประเทศที่มีความรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของเดือนพ.ค. 2553 ได้ส่งผลให้จำนวนวันทำการในระหว่างเดือนลดน้อยลง รวมทั้งทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งวัตถุดิบและการเดินทางของแรงงาน (จากการประกาศ Curfew ของทางการ) ขณะที่ หลายอุตสาหกรรมมีการเร่งผลิตไปมากแล้วในช่วงหลายเดือนก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.2553 หดตัวลงร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง หลังจากที่หดตัวร้อยละ 2.9 ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แม้การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 17.2 ในเดือนพ.ค. แต่ก็เป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 21.8 ในเดือนเม.ย. โดยการชะลอตัวเกิดขึ้นชัดเจนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการผลิตที่เน้นเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เนื่องจากสินค้าในบางหมวด อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดรถยนต์ มีการเร่งผลิตไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. 2553 ที่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (ปรับฤดูกาล) ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.3 จากร้อยละ 67.0 ในเดือนเม.ย.

ผลผลิตและราคาพืชผลเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค.2553 ทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยผลผลิตพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 2.7 (YoY) นำโดย ผลผลิตข้าวนาปรัง และปาล์มน้ำมัน ขณะที่ ราคาพืชผลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.5 (YoY) ตามแรงหนุนของอุปสงค์ตลาดโลกที่ยังคงแข็งแกร่ง และภาวะภัยแล้งและเพลี้ยระบาดที่ทำให้อุปทานพืชผลบางชนิดลดลง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาพืชผลในเดือนพ.ค. ได้ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.0 ในเดือนพ.ค. เร่งขึ้นชัดเจนจากร้อยละ 9.3 ในเดือนเม.ย.

การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากเดือนก่อนหน้า (MoM) โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.5 ในเดือนพ.ค.2553 พลิกขึ้นจากที่หดตัวลงร้อยละ 2.6 ในเดือนเม.ย. ขณะที่ การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในเดือนพ.ค. ดีขึ้นจากที่ดิ่งลงถึงร้อยละ 7.4 ในเดือนเม.ย. ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนพ.ค.2553 นั้น ลดลงมาที่ 8.04 แสนคน (หดตัวร้อยละ 11.8 จากปีก่อน) จากระดับ 1.11 ล้านคนในเดือนเม.ย. โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองในประเทศ
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การส่งออกมีทิศทางแข็งแกร่งกว่าที่คาด แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงในเศรษฐกิจต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 42.5 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 34.7 ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ การส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าใช้ที่เน้นใช้แรงงาน เนื่องจากมีการส่งออกทองคำสูงถึง 1.38 พันล้านดอลลาร์ฯ ในระหว่างเดือน

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากกว่ามูลค่าการนำเข้าได้ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาบันทึกยอดเกินดุลที่ระดับ 2.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. หลังจากที่ขาดดุล 190.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี จากการที่ผลกระทบจากการเมืองที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวมีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ รายจ่ายผลประโยชน์จากการลงทุนก็เพิ่มมากขึ้นในเดือนพ.ค. จึงส่งผลให้ดุลบริการฯ บันทึกยอดขาดดุลสูงถึง 1.26 พันล้านดอลลาร์ฯ และเมื่อรวมดุลการค้าที่พลิกกลับมาเกินดุลในระดับที่สูงกว่ายอดขาดดุลในส่วนของดุลบริการฯ จึงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดสามารถพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุลเช่นกันที่ 1.04 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. หลังจากที่บันทึกยอดขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่ 422.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเม.ย.

โดยสรุป เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.2553 สะท้อนภาพผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่มีต่อการใช้จ่ายในประเทศในระดับที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเครื่องชี้ในเดือนเม.ย. ขณะที่ การขยายตัวของภาคการส่งออกก็มีสัญญาณแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การชุมนุมทางการเมืองที่สิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนพ.ค. และมาตรการเยียวยาผลกระทบทางการเมืองของรัฐบาลที่ถูกเร่งผลักดันออกมาในทันทีนั้น ได้ช่วยหนุนและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน (ทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ) กลับคืนมาบางส่วน ซึ่งคงต้องยอมรับว่า พัฒนาการที่ดีขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.ดังกล่าว เป็นสัญญาณเชิงบวกที่ดีกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงหน้า และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2553 อาจมีอัตราการหดตัวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 3.3-3.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการเบื้องต้นที่คาดว่าจะหดตัวลงถึงร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 5.5-6.0 ในช่วงไตรมาส 2/2553 ชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 ในไตรมาสแรกของปี

การขยายตัวสูงของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2553 และความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกของไทย ได้ช่วยชดเชยผลกระทบทางด้านลบของปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศลงบางส่วน ขณะที่ ความเสี่ยงทางการเมืองที่ได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศยุติการชุมนุมน่าที่จะส่งผลให้การผลักดันการใช้จ่ายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ (ทั้งในส่วนงบประมาณและงบไทยเข้มแข็ง) สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ขึ้นเป็นร้อยละ 4.0-6.0 จากเดิมที่ร้อยละ 2.6-4.5 เพื่อสะท้อนภาพในเชิงบวกดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 คงต้องจับตาปัจจัยทางการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในกลุ่ม G-3 และจีน ที่อาจกดดันให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี