ทิศทางหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 :

ท่ามกลางสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ผลตอบแทนที่แท้จริงอยู่ในระดับที่ติดลบ และ ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในหุ้นกู้ถือเป็นช่องทางในการลงทุนที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปี 2553 นี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเผชิญกับผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่การออกหุ้นกู้ในปีนี้แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในช่วง ครึ่งแรกของปี หุ้นกู้เอกชนสามารถขายได้กว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน และประเด็นแวดล้อมต่างๆ โดยสรุปดังนี้

??ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้มีทิศทางปรับตัวลดลง อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ทรงตัวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ก่อนที่จะลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล (Spread) โดยการปรับตัวลดลงของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ความไม่สงบทางการเมือง และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุน และการบริโภคของไทย ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% เพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพและประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าวยังได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ท่ามกลางความวิตกต่อปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงรับข่าวเชิงลบเกี่ยวกับฐานะการคลังที่ย่ำแย่จนนำมาสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของหลายๆ ประเทศในแถบยุโรป และกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง (Safe Haven) อย่างเช่น ตราสารหนี้มากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีแรกส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ท่ามกลางความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ปริมาณการออกหุ้นกู้ลดลง

? การเสนอขายหุ้นกู้ในปีนี้….หุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือ ระดับ A ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา ปริมาณการออกหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือ ระดับ A มีปริมาณการออกเกือบ 70% ของปริมาณการเสนอขายทั้งหมด โดยยังคงได้รับความนิยมสูงสุดนับจากปี 2552 โดยส่วนมากหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือ ระดับ A ดังกล่าวจะเป็นหุ้นกู้จากบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง กระนั้นก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อยู่ที่ประมาณ 1.57 แสนล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.32% เนื่องจากบริษัทส่วนมากได้มีการออกหุ้นกู้ในปี 2552 แล้วจำนวนมาก และการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน อีกทั้งความไม่สงบทางการเมืองก็มีอิทธิพลให้บางบริษัทมีการชะลอเลื่อนกำหนดการออกหุ้นกู้ออกไป ทั้งนี้วิธีการเสนอขายหุ้นกู้ในปีนี้กว่า 55% ของมูลค่าการเสนอขายทั้งหมดจะเน้นไปที่การเสนอขายให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) ให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน1 และ บริษัทเอกชนอื่นๆ เปรียบเทียบกับปีก่อนที่กว่า 95% ของมูลค่าการเสนอขายรวมจะเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน (Public Offering : PO)

? ความต้องการในการลงทุนในหุ้นกู้ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกเหนือจากนักลงทุนสถาบันประเภทธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ที่ลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้นแล้ว นักลงทุนรายย่อยก็ยังคงมีความต้องการลงทุนหุ้นกู้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากหุ้นกู้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทางเลือกในการออมอื่นๆ โดยเฉพาะเงินฝาก อีกทั้งในปีนี้ยังคงมีปริมาณเงินจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ครบกำหนดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้นักลงทุนหรือผู้มีเงินออมที่ได้รับสภาพคล่องกลับคืนมาหันมากระจายเงินลงทุนบางส่วนในหุ้นกู้เอกชน ดังจะเห็นได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงนี้มีการตอบรับอย่างดี อีกทั้งยังมีการจัดสรรหุ้นกู้ส่วนเกิน (Green Shoe) ด้วย

แนวโน้มการออกหุ้นกู้ในครึ่งปีหลัง…คาดว่าจะมีอุปทานใหม่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก
เมื่อมองออกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดหุ้นกู้เอกชนน่าจะยังคงสภาวะที่ค่อนข้างดีใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นปีที่มีการออกหุ้นกู้สูงสุดเป็นเป็นประวัติการณ์นั้น อาจให้ภาพที่ดูด้อยกว่าก็ตาม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณการเสนอขายในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และทำให้ภาพรวมทั้งปีน่าจะมีปริมาณหุ้นกู้ออกใหม่ทั้งสิ้นใกล้เคียงระดับประมาณ 2.0 – 2.5 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่สมาคมตลาดตราสารหนี้แห่งประเทศไทยเคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งปัจจัยหนุนที่สำคัญได้แก่

? อัตราดอกเบี้ยที่ระดับตํ่าและการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในระดับที่ควบคุมได้ โดยแม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อเป็นการดำเนินนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ (Normalization) แต่ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานที่น่าจะปรับตัวอยู่ไม่เกินกรอบบนของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Upper bound of the Inflation Targeting) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 3.00% (แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) อาจได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่การควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ก็อาจจะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาสินค้าได้ในระดับหนึ่ง) ก็ยังน่าจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยขนาดการปรับขึ้นที่ไม่น่าจะสูงเกิน 0.75% ในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้น ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อปริมาณการออกหุ้นกู้จึงคาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด

? การระดมทุนของบริษัทเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2553 ที่ยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง รัฐบาลสามารถผ่านงบประมาณรายจ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2554 ได้อย่างเรียบร้อย และผลกระทบจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้ของยูโรโซนไม่กระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากนัก คาดว่าจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ เดินหน้าขยายกิจการและ/หรือกำลังการผลิต โดยคาดว่าบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งหรือมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี จะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าการกู้เงินจากสถาบันทางการเงิน และการเสนอขายหลักทรัพย์ในสภาวะที่ตลาดยังขาดทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปริมาณหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทด้วย

??แรงหนุนจากการออกหุ้นกู้เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง โดยคาดว่านักลงทุนสถาบัน กองทุน และนักลงทุนรายย่อย (Corporate) ยังมีแนวโน้มที่จะลงทุนในหุ้นกู้ในระดับสูง เนื่องจากหุ้นกู้ยังคงให้ระดับผลตอบแทนที่จูงใจในการบริหารสภาพคล่อง อีกทั้งอยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกการออมอื่นๆ อาทิ พันธบัตรรัฐบาลและเงินฝาก นอกจากนี้ทางผู้ออกหุ้นกู้ยังสามารถหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเดิม (Refinance) หรือค่อนข้างต่ำกว่าแหล่งเงินทุนประเภทอื่นๆโดยเปรียบเทียบ อาทิ การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินที่จับคู่ระหว่างนักลงทุน และผู้ออกหุ้นกู้ จากการร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จนนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์กองทุนหุ้นกู้เสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยโดยมีองค์ประกอบของกองทุนหุ้นกู้เอกชนอย่างน้อย 1-2 ตัว1

สำหรับ บลจ. นั้น ข้อดีของการออกกองทุนหุ้นกู้ คือ บลจ.จะได้รับประโยชน์จากการเสนอขายกองทุนใหม่ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ท่ามกลางสภาวะที่กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้เตรียมที่จะครบกำหนดในระยะที่เหลือของปีนี้ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจกระตุ้นให้กองทุนต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทดแทน ท่ามกลางความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงของนักลงทุนรายย่อยที่ยังมีอยู่มาก

ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณอุปทานหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก แต่ความต้องการลงทุนที่ยังน่าจะอยู่ในระดับสูง ดังที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้น จึงทำให้คาดว่าส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้กับพันธบัตรรัฐบาล (Spread) น่าจะมีแนวโน้มทรงตัว หรือหากกว้างขึ้นก็คงไม่น่าจะมากนัก กระนั้นก็ดีส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลอาจจะเพิ่มขึ้นหากมีการเสนอขายหุ้นกู้ในปริมาณมากในจังหวะที่ใกล้เคียงกัน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การออกหุ้นกู้ในปี 2553 ยังคงมีแนวโน้มที่ดีอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยที่แม้อาจเริ่มปรับขึ้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ผนวกกับการระดมทุนของบริษัทเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะส่งผลให้ปริมาณอุปสงค์และอุปทานของหุ้นกู้ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ โดยคาดว่าปริมาณการเสนอขายหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลอาจจะมีแนวโน้มทรงตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามแรงหนุนจากความต้องการลงทุนที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อย