เปิดเสรีโลจิสติกส์อาเซียน…ผลดี-ผลเสีย และหลากหลายประเด็นที่ต้องติดตาม

สาขาโลจิสติกส์เป็นสาขาหนึ่งที่ต้องเปิดเสรีการค้าบริการภายใต้กรอบความตกลง AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) เพื่อเปิดตลาดการค้าบริการระหว่างกันภายในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นกรอบข้อตกลงการค้าบริการที่มีความคืบหน้ามากที่สุด โดยสาขาโลจิสติกส์มีเป้าหมายการเปิดเสรีในปี 2556 ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบจะอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจและถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม การเปิดให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาลงทุนจะค่อยๆ ทยอยเปิดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 49 ในปี 2551 จากนั้นเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในปี 2553 และร้อยละ 70 ในปี 2556

การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอาจหลีกเลี่ยงได้ยากหากมีการเปิดเสรีภาคโลจิสติกส์ ทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศอาเซียนและประเทศนอกอาเซียนที่อาจเข้ามาลงทุนจัดตั้งบริษัทเสมือนนิติบุคคลสัญชาติอาเซียน ในประเทศสมาชิกอาเซียนที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ค่อนข้างเสรี เช่น สิงคโปร์ ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการให้บริการที่ครบวงจร มีความชำนาญเฉพาะด้าน จึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่สาขาโลจิสติกส์ในประเทศไทย ซึ่งยังดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมเพียงกิจกรรมเดียวที่ไม่ครบวงจร และมีมูลค่าเพิ่มไม่มาก โดยขาดทั้งเงินทุนและความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญและมาตรฐาน รวมทั้งขาดจุดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือป้องกันการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นหากมีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบ การแข่งขันในตลาดยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนเปิดเสรีโดยทันที โดยปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ไม่ว่าในประเทศไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน คือประเด็นในด้านกฎระเบียบ ขั้นตอน และธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ อีกทั้งประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นกำแพงสำคัญที่ปิดกั้นการเข้าถึงตลาดของผู้ให้บริการต่างชาติ ทำให้การเข้าถึงตลาดท้องถิ่นได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น การเปิดเสรีอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในขั้นตอนที่ต้องเปิดเสรีมากกว่าที่กฎหมายภายในประเทศกำหนดไว้ อาจทำให้หลายประเทศต้องแก้ไขกฎหมายภายในก่อน ในกรณีไทย เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นต้น อีกทั้ง อาจมีการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ หรือขั้นตอนทางราชการเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติในระยะแรก

ตลาดในประเทศ…ผู้ประกอบการขนาดใหญ่น่าจะรองรับการแข่งขันจากการเปิดเสรีได้

หากการเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์มีการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ระดับการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์แต่ละประเภทดังนี้

ธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุก และการขนส่งทางถนน ในระยะแรกอาจยังมีผลกระทบไม่มากต่อผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วไป เนื่องจากการลงทุนเพื่อให้บริการอย่างครอบคลุมทั้งประเทศต้องใช้ต้นทุนสูง ต้องพึ่งพาปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลสูง และความเชี่ยวชาญในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในด้านกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ วัฒนธรรม ภาษา และความปลอดภัย ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างชาติขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย (โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49) ก็ยังไม่ดำเนินการลงทุนให้บริการขนส่งรถบรรทุกด้วยตนเองทั้งหมด แต่มีการว่าจ้างผู้ประกอบการไทยรับช่วงทำการขนส่งแทน (outsourcing)

การขนส่งทางทะเล และทางอากาศ ปัจจุบันค่อนข้างเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมทั้งผู้ประกอบการข้ามชาติ เป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่แล้ว การเปิดเสรีจึงอาจไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานะการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดนี้มากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล และทางอากาศ อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

การให้บริการผู้รับจัดการขนส่ง ตัวแทนนำเข้าส่งออกสินค้า บริการผ่านพิธีการศุลกากร ในสาขานี้ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจเพียงในบางขั้นตอนที่ยังไม่ครบวงจร จึงทำให้แข่งขันกับผู้ให้บริการต่างชาติรายใหญ่ซึ่งให้บริการครบวงจรได้ยาก แต่ผู้ประกอบการไทยมีจุดแข็งด้านการให้บริการที่ดี และมีประสบการณ์ที่ยาวนาน รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐ แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะรองรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์มูลค่าธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศอาจมีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท ในปี 2552 ซึ่งในจำนวนนี้ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบก ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเปิดให้ผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาแข่งขันมากขึ้นนั้น คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 380,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนส่งในประเทศรายใหญ่น่าจะยังสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันได้

สำหรับผู้ประกอบการขนส่งเอสเอ็มอี แม้ในระยะสั้นอาจยังไม่มีผลกระทบโดยทันที แต่ในระยะยาวหากผู้ให้บริการต่างชาติและผู้ให้บริการขนาดใหญ่มีการขยายขอบเขตบริการให้ครอบคลุมเครือข่ายและพื้นที่การให้บริการมากขึ้น อาจส่งผลกระทบมาถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กในลักษณะคล้ายกับธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันได้ อีกทั้งอุปสรรคในเข้าสู่ตลาดที่เคยมีอยู่อาจลดลงจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ ด้วยการเป็นพันธมิตร เป็นหุ้นส่วน ควบกิจการ หรือซื้อกิจการของผู้ประกอบการท้องถิ่น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดเล็กก็อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากผู้ว่าจ้างต่างชาติรายใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูง และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าบริการโลจิสติกส์ในอาเซียนจะเห็นผลชัดเจนขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเสรีมากขึ้นกว่าข้อจำกัดที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งการเปิดเสรีดังกล่าวอาจล่าช้าออกไปกว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาจติดขัดด้านกฎระเบียบและกฎหมายภายในประเทศ

โอกาสเปิดกว้างสำหรับผู้ให้บริการในไทย สู่ตลาดบริการโลจิสติกส์ที่ใหญ่ขึ้น

หากมองในด้านบวก การเปิดเสรีโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดประตูไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านของอาเซียนที่มีพรมแดนติดต่อกัน โดยเฉพาะจีน ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.4 ต่อปี (ระหว่างปี 2550-2551) โดยมีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตัวได้อีกจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทย จากความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด การส่งออกของไทยไปยังอาเซียน 9 ประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 60.4 อีกทั้ง ความสำคัญของตลาดส่งออกอาเซียนมีมากขึ้น โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.3 ของการส่งออกรวมของไทยในปี 2552 เป็นร้อยละ 23.6 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553

นอกจากนี้ การเปิดเสรีและการรวมกลุ่มไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ได้รับความสนใจในฐานะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มของความต้องการสินค้าและบริการที่จะเติบโตได้อีกมาก อีกทั้ง มีวัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก จึงทำให้มีความน่าสนใจในการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้บริการในสาขาโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นตามมา

เมื่อมองถึงโอกาสขยายตลาดธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ให้บริการไทยมีโอกาสพัฒนาช่องทางตลาดผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน โดยเฉพาะภายในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับ ความคืบหน้าของการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างกันภายในภูมิภาค โดยเฉพาะเส้นทางทางบก ผ่านโครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาค (Economic Corridors) และการผ่อนคลายกฎระเบียบภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียนมาเป็นลำดับ รวมทั้ง การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งขนานใหญ่ของจีน ทั้งนี้ จากข้อมูลมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของประเทศที่มีชายแดนเชื่อมต่อกัน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ มีการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 31.2

ผู้ประกอบการที่น่าจะได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากคือ ธุรกิจเกี่ยวกับขนสินค้าทางถนนประเภทสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งวัตถุอันตราย เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการค้าผ่านชายแดนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าที่เน่าเสียได้ง่ายทางถนนอาจจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะใช้ระยะเวลาขนส่งน้อยกว่าทางเรือ รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่ต้องใช้ห้องแช่เย็นหรือควบคุมสภาพแวดล้อม และการขนส่งวัตถุดิบอันตราย ผู้ประกอบการไทยน่าจะมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่มีอยู่

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2553 การค้าชายแดนและผ่านแดนระหว่างไทย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ อาจมูลค่าประมาณ 750,000-790,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16.0-22.0 จาก 646,813 ล้านบาท ในปี 2552

โดยสรุป การเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ภายใต้กรอบความตกลง AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2556 โดยกำหนดจะเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นเพิ่มเป็นร้อยละ 51 ในปี 2553 และร้อยละ 70 ในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ในระยะสั้นหากมีการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ การแข่งขันอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างทันทีทันใด เนื่องจากยังมีประเด็นด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งความรู้ความชำนาญในพื้นที่ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการเข้ามาของชาวต่างชาติ และออกไปลงทุนนอกประเทศของคนไทย โดยเฉพาะในขั้นตอนที่จะต้องเปิดเสรีมากกว่ากฎหมายภายในของแต่ละประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่กรอบเวลาการเปิดเสรีที่กำหนดไว้อาจจะล่าช้าออกไป

แต่ในระยะยาว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ทั้งจากธุรกิจของชาวต่างชาติหรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อาจมีการขยายเครือข่ายและการลงทุนให้บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศในลักษณะคล้ายกับธุรกิจค้าปลีก และอำนาจการต่อรองที่มีมากกว่า รวมทั้ง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า มูลค่าธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบกซึ่งเป็นตลาดของผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนใหญ่ มีโอกาสที่จะเผชิญการแข่งขันจากผู้ให้บริการต่างชาติมากขึ้น โดยประเมินว่า ตลาดขนส่งสินค้าทางบกในประเทศ น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 380,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 48 ของตลาดบริการโลจิสติกส์โดยรวม ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์อาเซียนอาจเป็นโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงตลาดการให้บริการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งในอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านของอาเซียนที่มีพรมแดนติดกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ซึ่งเป็นตลาดการค้าและบริการที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพในการเติบโตสูง รวมทั้งการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ตลอดจนความร่วมมือเพื่อการขนส่งระหว่างกันในภูมิภาคจะเอื้ออำนวยให้ผู้ให้บริการขนส่งทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าชายแดน รวมถึงการขนส่งสินค้าผ่านไปยังจีน เช่น รถบรรทุก การขนส่งด้วยห้องเย็น การขนส่งสินค้าอันตราย น่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีดังกล่าว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2553 มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนระหว่างไทย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ อาจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16.0-22.0 มีมูลค่าประมาณ 750,000-790,000 ล้านบาท จากในปี 2552 ซึ่งมีมูลค่า 646,813 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในระยะยาวการเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาครัฐจึงควรมีมาตรการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเร่งปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งของตน เพื่อรองรับการแข่งขัน และโอกาสที่จะเกิดขึ้นด้วย