ธนาคารกรุงเทพ ฉลองสู่ทศวรรษที่ 2 ‘เกษตรก้าวหน้า’ ยกย่อง 10 บุคคลที่มีคุณประโยชน์ทางภาคเกษตรของไทย

ธนาคารกรุงเทพ ฉลองการก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 โครงการเกษตรก้าวหน้า ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ความรู้ทางวิชาการ การจัดการด้านงานบริหาร และการสร้างเครือข่ายแก่ภาคการเกษตร ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ปัจจุบันมีลูกค้าเกษตรก้าวหน้าจำนวนกว่า 5,000 ราย และสนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท ในโอกาสอันดีนี้ได้ประกาศยกย่อง 10 บุคคล ผู้ทำคุณประโยชน์แก่การเกษตรของไทย เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกิดการพัฒนาและยกมาตรฐานสู่การเป็นเกษตรก้าวหน้าต่อไป

นายปิยะ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นเกษตรก้าวหน้าของประเทศ ทั้งด้านการเงิน ความรู้ทางวิชาการ การจัดการด้านงานบริหาร และการสร้างเครือข่ายแก่ภาคการเกษตร ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าเกษตรก้าวหน้าจำนวนกว่า 5,000 ราย และให้การสนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท

‘ภายใต้นโยบายและการนำของท่านประธานกรรมการบริหาร คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ที่เล็งเห็นและมีความเชื่อว่าการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการเกษตรก้าวหน้าขึ้นในปีพ.ศ.2544 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคการเกษตรของไทยมีการยกมาตรฐานผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้เต็มที่’

นายปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการเกษตรก้าวหน้า ธนาคารได้จัดให้มีการประกาศยกย่องบุคลากรทางภาคการเกษตรจำนวน 10 ท่าน ที่มีผลงานดีเด่น และดำเนินกิจกรรมที่มีคุณประโยชน์แก่กระบวนการเกษตรก้าวหน้าของประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างให้เกิดการพัฒนาและยกมาตรฐานสู่การเป็นเกษตรก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย คัดเลือกผู้สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภทรางวัล ดังนี้ ประเภทที่ 1 ด้านพัฒนาทางวิชาการ ได้แก่ นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ ในนามทีมหมอหมู คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ รศ.ดร. สุมิตรา ภู่วโรดม คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้ง 2 ท่านเป็นผู้สร้างกระบวนการความรู้ให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจร ทั้งกับตัวเกษตรกรที่นำความรู้ทางวิชาการไปใช้ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และนำเอาประสบการณ์ที่ได้จากฟาร์มไปถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา

ประเภทที่ 2 ด้านเกษตรกรอาวุโส ได้แก่ ดร. จรัล ไชยองค์การ จรัลฟาร์ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และนายดำ ฉิ่งสุวรรณโรจน์ สวนนายดำ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ทั้ง 2 ท่านเป็นเกษตรกรที่ได้นำประสบการณ์ความสำเร็จจากการทำเกษตรที่สะสมมายาวนานในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และสังคมในวงกว้าง ประเภทที่ 3 ด้านเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้แก่ นายนรินทร์ศักดิ์ พัวตระกูล ฟาร์มบ่อปลาณรงค์ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และนางสาวเตือนใจ บุพศิริ ผู้สร้างเครือข่ายเกษตรกรและทำตลาดแตงโม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ทั้ง 2 ท่านเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 45 ปี ที่มีผลงานดีเด่นในด้านการใช้ความรู้ทางการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่าย อีกทั้งยังสามารถเชื่องโยงการผลิตและการตลาดคุณภาพ อันเป็นผลทำให้รายได้ของตนเองและเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ประเภทที่ 4 ด้านการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานกรรมการบริษัทกำแพงแสน คอมเมอร์เชียล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และนายประยูร หงส์รัตน์ สุรีรัตน์ฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ทั้ง 2 ท่านเป็นผู้ที่ริเริ่มพัฒนามาตรฐานด้านคุณภาพที่เป็นของไทยเทียบเคียงกับมาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับ ทำให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกได้สะดวกขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายลดลง และประเภทที่ 5 ด้านการเชื่อมโยงการผลิตการตลาด ได้แก่ นายมานพ แก้ววงษ์นุกุล สวนมะม่วงแก้ววงษ์นุกุล อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และนางนรรถพร สุโพธิ์ ประธานกลุ่มแม่บ้านมะคาเดเมียนัท อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ทั้ง 2 ท่านเป็นเกษตรกรที่มีความสามารถบุกเบิกตลาดที่เน้นคุณภาพและสร้างเครือข่ายการผลิตจนเป็นที่ยอมรับและทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีรายได้สูงขึ้นเช่นกัน

‘ทั้ง 10 ท่าน ล้วนเป็นผู้อุทิศเวลาให้กับอาชีพเกษตรกรรม เป็นผู้ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีการเกษตรและมีความสามารถในการจัดการธุรกิจภายใต้กลไกการตลาดปกติ อีกทั้งประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และเป็นแบบอย่างให้กับวงการเกษตรของไทย’ นายปิยะกล่าว