ซิป้า เผยความคืบหน้ากิจกรรม Asia Animation Award 2010 โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดแอนิเมชั่น ซีรีส์ และแอนิเมชั่นสั้น รวมแล้วกว่า 90 ผลงาน ผ่านการคัดเลือก 20 ผลงาน ซึ่งได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการ โดยมอบเงินทุนไปผลิตชิ้นงานให้มีความสมบูรณ์สูงสุด เพื่อเตรียมคัดเลือกรอบสุดท้ายราวต้น ส.ค. นี้
นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เปิดเผยถึงความคืบหน้ากิจกรรม Asia Animation Award 2010 ภายใต้โครงการ ดิจิทัล มีเดีย เอเชีย 2010 ที่ดำเนินงานร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ว่า “หลังจากได้ประกาศรับสมัครประกวดผลงานทางด้านแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ เป็นที่น่ายินดีว่ามีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 90 ผลงาน แบ่งเป็น ผลงานแอนิเมชั่นซีรีส์ จำนวน 30 ผลงาน และผลงานแอนิเมชั่นสั้น จำนวน 61 ผลงาน โดยทางคณะกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 โมเดิร์นไนน์ และทีวีไทย ได้ทำการคัดเลือกผลงาน ให้เหลือประเภทละ 10 ผลงาน (ดูรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกได้ที่ http://www.animationaward2010.com) และเพื่อให้เกิดการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิต ทางผู้จัดงานจึงได้ทำการเซ็นสัญญาร่วมโครงการกับผู้เข้ารอบทั้งหมด เพื่อมอบทุนให้ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกนำไปผลิตผลงานมาแข่งขันในรอบสุดท้ายชิงรางวัลสุยอดแอนิเมชั่นแห่งเอเชีย ในเดือนสิงหาคม 2553”
นายลักษมณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าวเพิ่มเติมว่า “Asia Animation Award 2010 นี้ ถือเป็นโครงการแรกที่ TACGA ออกแบบกลไกของการประกวดให้ตอบโจทก์กับอุตสาหกรรมและผู้ผลิตผลงานเข้าประกวด โดยประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลักคือมีการให้ทุนการผลิตเบื้องต้นหลังผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และมีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกจากสถานีโทรทัศน์ในการนำไปผลิตจริงเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต จากประสบการณ์ของ TACGA ที่จัดกิจกรรมหรือโครงการประกวดต่างๆ พบว่า ในหลักการที่เคยปฏิบัติเมื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบแรกแล้ว จะต้องทำการผลิตผลงานจนแล้วเสร็จก่อน และส่งผลงานนั้นเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสิน เพื่อจัดลำดับของรางวัลและทำการมอบรางวัลกันต่อไป โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมักต้องออกทุนส่วนตัวในการผลิต และมีค่าใช้จ่ายในการผลิตสูง จนกระทั่งผู้เข้าร่วมประกวดในปีก่อนๆ จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารหรือแหล่งเงินอื่นมาผลิต หรือไม่ก็ถอนตัวจากการแข่งขัน ตรงจุดนี้ TACGAจึงเสนอคณะทำงาน Asia Animation Award 2010 ให้มีการจัดสรรเงินทุน ซึ่งนำมาเงินรางวัลในขั้นสุดท้าย ให้กับผู้ผ่านเข้ารอบแรกเพื่อทุนในการนำไปผลิตผลงาน โดยแอนิเมชั่นซีรีส์ ได้รับเงินจำนวนหนึ่งต่อ 1 ผลงาน ที่ 80,000 บาท และประเภทผลงานแอนิเมชั่นสั้น ได้รับเงินจำนวนหนึ่งต่อ 1 ผลงาน ที่ 20,000 บาท หลังจากส่งผลงานที่ผลิตเสร็จแล้ว เข้ามาประกวดรอบสุดท้าย คณะกรรมการจะทำการตัดสินและให้รางวัลตามลำดับ และรับรางวัลเพิ่มเติมส่วนที่เหลือจากที่ได้ในรอบแรก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รางวัลที่ 1 ประเภทผลงานแอนิเมชั่นซีรีส์ยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท แต่ในรอบแรกได้รับเงินทุนไปแล้วเพื่อใช้ในการผลิต 80,000 บาท เขาก็จะได้เงินรางวัลในส่วนที่เหลืออีก 120,000 บาท เป็นต้น ตรงจุดนี้ ถือเป็นการนำเงินรางวัลที่เขาจะได้รับจริงในการประกวด ไปเป็นทุนไปใช้ในการผลิตเบื้องต้นก่อนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้เข้าแข่งขันได้”
Asia Animation Award 2010 นี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิต และช่องทางการออกอากาศ รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการเผยแพร่ผลงานไปสู่ระดับเอเชียสำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศและเอเชีย เพื่อเป็นการเริ่มต้นพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเพื่อการส่งออกต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย คือ ผู้ผลิตแอนิเมชั่นซีรี่ส์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ คือ ตัวแทนจัดจำหน่ายและนักลงทุนในงานแอนิเมชั่น และถือเป็นกิจกรรมแรกในประเทศไทย ที่คำนึงถึงการต่อยอดการประกวดให้สามารถเข้าถึงการผลิตชิ้นงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้กำหนดให้มีการเตรียมทุนให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ให้มีเงินทุนไปผลิตผลงาน เพื่อมานำเสนอในรอบสุดท้ายโดยกำหนดส่งผลงานเข้าประกวดรอบอีกครั้งภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 และประกาศผลรางวัลราวต้นเดือนสิงหาคม โดยมีรางวัล 20 รางวัล แบ่งเป็น
แอนิเมชั่นซีรีส์ ความยาว 11นาที (จำนวน 1 ตอน) รวม10 รางวัล
รางวัลที่ 1 ยอดเยี่ยม 200,000 บาท
รางวัลที่ 2-6 รางวัลละ 150,000 บาท
รางวัลที่ 7-10 รางวัลละ 120,000 บาท
แอนิเมชั่นสั้น ความยาว 1 นาที ( 2 ตอน) รวม 10 รางวัล
รางวัลที่ 1 Filler ยอดเยี่ยม 100,000 บาท
รางวัลที่ 2-6 รางวัลละ 50,000 บาท
รางวัลที่ 7-10 รางวัลละ 35,000 บาท